นักวิทย์ยกทีมนำเสนอความรู้การใช้แสงซินโครตรอนวิจัยการแพทย์แก่ ม.มหิดล

คณะนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ยกทีมนำเสนอความรู้การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนกับงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ชูตัวอย่างงานวิจัยการแพทย์จากการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทั่วไป

นครปฐม – ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ทั้งหมด 6 คน ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเป็นวิทยากรในโครงการ Webinar เรื่อง “แสงซินโครตรอนกับงานวิจัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข” เมื่อวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมอาคารสิริวัฒนภักดี สมาคมศิษย์เก่ามหามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึง การใช้ประโยชน์ของแสงซินโครตรอน กับงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับ และมีผู้รับฟังบรรยายทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์กว่า 60 คน

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า “ผมได้ตามเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และได้เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของแสงซินโครตรอน จึงอยากให้บุคลากรของมหิดลได้รู้จักเทคโนโลยีนี้และมีโอกาสใช้แสงซินโครตรอนเพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข”

ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ กล่าวว่า “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้นถือเป็นเครื่องผลิตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดเดียวในโลก ที่ให้แสงความยาวคลื่นต่อเนื่อง ตั้งแต่รังสีอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น รังสียูวี และรังสีเอกซ์ ถึงแม้ว่าในห้องปฏิบัติการทั่วไป จะมีเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์จากแสงเหล่านี้ แต่เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจะผลิตแสงที่มีความเข้มมากกว่า และใช้ทำอะไรได้มากกว่าแสงจากเครื่องมือในห้องปฏิบัติการทั่วไป”
ตัวอย่างการใช้แสงซินโครตรอนในงานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การใช้แสงซินโครตรอน วิเคราะห์โครงสร้างยาที่มีความซับซ้อน หรือการตรวจหาสารหรือธาตุที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย และไม่สามารถใช้เครื่องในห้องปฏิบัติการทั่วไปได้ การวิเคราะห์หาสารพิษในอวัยวะต่างๆ ที่อาจเกิดจากการฝังโลหะในร่างกาย การวิเคราะห์แคลเซียมในกระดูกและฟัน เพื่อการพัฒนากระดูกและฟันเทียม การใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนศึกษาสารห่อหุ้ม mRNA เพื่อพัฒนาวัคซีน การใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอน ดูระยะการแพร่ของมะเร็ง การวิเคราะห์สมองในส่วนที่เกิดการตีบตัน การพัฒนาอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิกเพื่อการผลิตยาและวัคซีน การผลิตเข็มขนาดเล็กระดับไมโครเมตร เพื่อการให้ยาทางผิวหนังโดยไม่รู้สึกเจ็บ หรือการศึกษากระดูกด้วยเทคนิคโทโมกราฟี ที่ให้รายละเอียดของภาพตัดขวางโดยไม่ต้องตัดเฉือนตัวอย่างและสามารถขึ้นรูปเป็นสามมิติได้ เป็นต้น