ม.ราชภัฏสวนสุนันทา มุ่งพัฒนาท้องถิ่น ลุยแม่กลอง เปิด “ตลาดในสวน” เพิ่มศักยภาพชุมชน

ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เดินหน้าเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และบริการวิชาการชั้นนำ มุ่งพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากมหา’ลัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน หวังยกระดับรายได้ครัวเรือน จับมือ 7 หน่วยงานจัดกิจกรรม “ตลาดในสวน” ณ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม สร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน

นายอรรถพันธุ์ สงวนเสริมศรี ปลัดจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การร่วมมือกันของหน่วยงาน 8 ฝ่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ธนาคารออมสิน ภาค 4 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที และเทศบาลตำบลบางยี่รงค์ จังหวัดสมุทรสงคราม ในการจัดกิจกรรม“ตลาดในสวน” ที่ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นนี้ ได้มีการนำองค์ความรู้จากการวิจัย นวัตกรรม การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมของท้องถิ่นในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ยกระดับการแปรรูปสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น จึงนับเป็นความร่วมมือที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน เมื่อระดับท้องถิ่นเข้มแข็งก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับจังหวัดด้วยเช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การพัฒนาท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คือการบริการทางวิชากาสู่ชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเติมเต็มผลิตภัณฑ์หรือภูมิปัญญาเดิมที่ชุมชนมีอยู่ อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเพื่อจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ได้แก่ ชุมชน ประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ โดยได้มาดำเนินการที่ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ซึ่งเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและสินค้าเกษตรที่หลากหลายเดิมของชุมชน ได้แก่ ผ้ามัดย้อมจากใบลิ้นจี่พันธุ์ค่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และมหาวิทยาลัยฯ ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และงานวิจัยเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับชุมชนและเกษตรกร เช่น ยาหม่องพริกบางช้าง สบู่เหลวล้างมือพริกบางช้าง กระดาษจากก้านกุหลาบและจากกล้วยในท้องถิ่น กล้วยลอยแก้ว เป็นต้น

“อีกทั้งช่วยส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน โดยการจัดกิจกรรม “ตลาดในสวน” ขึ้นเป็นปีแรก ณ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนนอก ภายในงานนอกจากมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดประกวดปลูกพริกบางช้าง กิจกรรม Workshop ทำพิมเสนน้ำ เพ้นท์สีธรรมชาติบนกระเป๋าผ้า และนิทรรศการให้ความรู้เรื่องพริกบางช้างและแหนแดง เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไปได้เข้าชม ช่วยกระตุ้นการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้คนในชุมชนทุกวัยและก่อเกิดรายได้ไปพร้อมกัน ประชาชนในท้องถิ่นจะเกิดการตระหนักรู้ในคุณค่าของท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยและพร้อมจะช่วยกันต่อยอดพัฒนาอาชีพของตนต่อไปในอนาคต สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนตามจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยฯ”ผศ.ดร.วัฒน์ กล่าว

นางบุปผา ไวยเจริญ ประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก อ.บางคนที เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้นำองค์ความรู้มาช่วยแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้สะอาด ถูกหลักอนามัย เช่น กล้วย ที่มีเกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันมาก ทำให้บางครั้งผลผลิตล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา ซึ่งการแปรรูปเป็นกล้วยลอยแก้ว ช่วยให้ผลผลิตที่ออกมาไม่สูญเปล่าและช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี หรือ พริกบางช้าง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด เกษตรกรและสมาชิกก็ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แปรรูปเพิ่มมูลค่าพริกบางช้างเป็น ยาหม่อง และ สบู่เหลวล้างมือ อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมให้ปลูกอย่างถูกวิธีเพื่อผลผลิตดีมีคุณภาพจากเกษตร จ.สมุทรสงคราม

Advertisement

“ในจังหวัดสมุทรสงครามเรามีของดีประจำถิ่นหลากหลาย นอกจากกล้วยและพริกบางช้าง ยังมีลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ส้มโอขาวใหญ่ เกลือสมุทร ปลาทูแม่กลอง เป็นต้น การได้รับความรู้ การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และการช่วยเหลือส่งเสริมจากหน่วยงานการส่งเสริมการเกษตร สวทช. และธนาคารออมสิน มาช่วยเติมเต็มการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน ทำให้สมาชิกเกษตรกรทุกเพศ ทุกวัย เกิดความมั่นใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พร้อมจะพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญคือเกิดความรักหวงแหนภูมิปัญญาบ้านเกิดตนเอง ตรงนี้จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง”