เผยแพร่ |
---|
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำทีมโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม 2 ผศ.ศจี ศิริไกร กรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม 2 พร้อมด้วยคณะ ตรวจเยี่ยมและลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนคุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่น ด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและบริการ จากการประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สป.อว.
โดยมีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ให้การต้อนรับ นำโดย ผศ. อุดร นามเสน รองอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง ผศ.ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากร ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานการดำเนินกิจกรรมที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนประจำปีงบประมาณ 2565 “โครงการพลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์ เชิงบูรณาการ”
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี กล่าวว่า จังหวัดตรัง นับว่าเป็นแหล่งปลูกพริกไทยคุณภาพ โดยเฉพาะพริกไทย “พันธุ์ปะเหลียน” ที่เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในสินค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยคุณสมบัติมีรสชาติเผ็ดร้อนกลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้พริกไทยตรังเป็นที่นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ เนเธอร์แลนด์ คาซัคสถาน และรัสเซีย สร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง
โครงการการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนคุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรัง ของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพริกไทย และการพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งเป็น อัตลักษณ์จังหวัดตรัง เป็นการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาทั้งในกระบวนการตันน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้องการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย มีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน โครงการวิจัยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการผู้ปลูกพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน มาร่วมวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนให้พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ทาง อว. มุ่งหวังเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีการต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและจังหวัดตรัง ที่สำคัญได้แก่ เกษตรจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด โดยได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ และแม้จะเสร็จสิ้นทางจังหวัดก็ได้ดำเนินการสานต่อ เพื่อนำไปสู่การขยายผลในมุมกว้างเพิ่มขึ้นจากการทำงานขับเคลื่อนร่วมกันกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ส่งผลให้ในปี 2565 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง จัดโครงการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสินค้า GI อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยบรรยายให้ความรู้กับเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนในหัวข้อเรื่อง การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) “สินค้าพริกไทยตรัง”เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจได้รับตราสินค้าส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
และในปี 2566 ผู้ประกอบการจำนวน 41 ราย ได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI ซึ่งจะมีผล ต่อการยอมรับของผู้บริโภคสู่การขยายผลทางด้านการตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ การขยายผลการทำงานของนักวิจัยกับหน่วยงานภายนอก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมสนับสนุนให้ชุมชนต้นแบบในอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เป็นสถานีเรียนรู้ด้านการเกษตร (Training – Hub) ในพื้นที่ และพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนได้รับการผลักดันให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดตรังเพื่อเร่งการขยายผลการผลิตพริกไทยตรังสายพันธุ์ปะเหลียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อสร้างอาชีพใหม่สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพการเกษตรเชิงเดี่ยวบนฐานพืชเกษตรทางเลือก
จากนั้น ในเวลา 13.30 น. ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 “โครงการพลิกโฉมการเรียนรู้ ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ”พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการดำเนินโครงการจากคณะกรรมการสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เดินหน้าสู่ความเป็นเลิศ ด้านใดด้านหนึ่งที่ชัดเจน เละต่อยอดไปสู่เวทีระดับสากล และสะท้อนกลับมาสู่การพัฒนากำลังคนให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด