เผยแพร่ |
---|
ดร.พรเทพ ศรีธนาธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ครั้งที่ 39 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้า หารือปัญหาและอุปสรรค วางแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาราคายาง ตลอดจนร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดและราคายางในตลาดโลก ของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย (Thailand Indonesia Malaysia: TIM) ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในประเทศสมาชิกไตรภาคียาง โดยขณะนี้โลกกำลังมุ่งเป้าความสำคัญไปที่กฎระเบียบด้านการไม่ตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation Regulation: EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์ 7 กลุ่ม รวมถึงยางพาราในช่วงปลายปีนี้ การปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวควบคู่กับการกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ ผนวกกับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางพาราได้อย่างมีเสถียรภาพ
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เปิดเผยว่า ทั้ง 3 ประเทศสมาชิก ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยางพาราเป็นอย่างมาก โดยได้วางมาตรการเป็นกรอบความร่วมมือในการบริหารจัดการ เพื่อให้ราคายางธรรมชาติในตลาดโลกมีเสถียรภาพ ทั้งการปรับปริมาณการผลิตและกระตุ้นการใช้ยาง รวมถึงการรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานยางธรรมชาติในตลาดโลก โดยในวันนี้ ITRC ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและแปรรูปยางได้ร่วมกันทบทวนประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าในโครงการจัดหายาง โครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน โครงการส่งเสริมการใช้ยาง รวมถึงการเตรียมความพร้อมร่วมกันในการขับเคลื่อนมาตรการตามกฎระเบียบ EUDR ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งมั่นใจว่าการหารือร่วมกันในวันนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมยางอย่างแน่นอน