ม.มหิดล วิจัย “พฤติกรรมหลังพวงมาลัย” ชี้ชะตา “ความปลอดภัยบนท้องถนน”

แม้ “วัยที่เพิ่มขึ้น” จะบ่งบอกถึง “ระดับประสบการณ์” แต่ในการขับขี่ยวดยานบนท้องถนน “พฤติกรรมหลังพวงมาลัย” ที่มาจาก “ความพร้อม” ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งรอบข้างต่างหากที่จะเป็นสาเหตุของความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยได้มากน้อยเพียงใด

รองศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัยด้านความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety)

ภายใต้การสนับสนุนโดย ทุนมิตซุย ซูมิโตโม (Mitsui Sumitomo) แห่งประเทศที่ขึ้นชื่อได้ว่ามี “พลเมืองวินัยสูง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ดังเช่น “ประเทศญี่ปุ่น” จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Applied Gerontology”

โดยมุ่งค้นหาคำตอบที่จะนำไปสู่การสร้างพลังให้กับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน และวิจัย ของนักศึกษาสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต และปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้หลักการ “พัฒนาคน-พัฒนาระบบสุขภาพ” ด้วยสมมุติฐาน “ขับขี่ปลอดภัย” ที่อยู่บนพื้นฐานของการมีทักษะที่ดี ทั้งในการบังคับรถ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยมุ่งวิเคราะห์ไปที่ “กลุ่มแรงงานผู้สูงวัย” ที่อยู่ในวิชาชีพรับจ้างขับรถยนต์สาธารณะ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีข้อถกเถียงถึง “ข้อจำกัดในเรื่องอายุ” ที่ในปัจจุบันให้น้ำหนักโดยพิจารณาศักยภาพตาม “สภาพร่างกาย” และ “สภาวะพึ่งพิง”

จากการประเมินสมรรถนะผู้รับจ้างขับรถยนต์สาธารณะสูงวัย จำนวน 300 ราย ตามจุดนัดพบใหญ่ๆ จำนวน 15 จุด ในเขตกรุงเทพฯ และชานเมือง ทั้งด้านสภาพร่างกาย ทักษะการขับขี่ การใช้ความระมัดระวัง และปฏิภาณไหวพริบในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

พบว่าผู้รับจ้างขับรถยนต์สาธารณะสูงวัยมีน้ำหนักเกินเสี่ยงโรค NCDs ถึงร้อยละ 75 และเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องพึ่งยา ถึงร้อยละ 42 เหตุจากการต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในรถจนขาดการเคลื่อนไหว และร้อยละ 52 มีประสาทสัมผัสต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่เหมาะต่อการให้บริการ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 30 เคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และร้อยละ 46 มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ ความจำที่ถดถอย มีความตระหนักที่ไม่เพียงพอทั้งในการเคารพกฎจราจร สภาพดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจน “ดื่มแล้วขับ”

ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลักที่ผู้วิจัยได้นำไปขยายผลต่อยอดสู่การรณรงค์เชิงนโยบายร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อไป

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.อรพินท์ เล่าซี้ ได้กล่าวแสดงความห่วงใยทิ้งท้ายถึง “การขับขี่ปลอดภัย” ว่า “สภาพรถ” จะสมบูรณ์เพียงใด แต่หาก “สภาพผู้ขับขี่” ไม่พร้อม ก็ไม่อาจลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บบนท้องถนนได้

โดยนับเป็นปัญหาสำคัญยิ่งที่จะต้องอาศัย “ความร่วมมืออย่างจริงจัง” จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสามารถทำให้ยั่งยืนได้ด้วยการปลูกฝัง “ความมีวินัย” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ตั้งแต่วัยเริ่มต้นของชีวิต ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-849-6210