ลุยต่อกำจัดปลาหมอคางดำ! กยท. ร่วม MOU ขจัดปัญหาแพร่ระบาดระยะเร่งด่วน รับปลาจาก กปม. แปรรูปน้ำหมักประสิทธิภาพสูงส่งต่อเกษตรกร

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง-การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงนาม MOU ขจัดภัยการระบาดของปลาหมอคางดำ ร่วมกับ 5 หน่วยงานสังกัด กษ. ย้ำจุดยืนหวังคืนสมดุลระบบนิเวศ เดินหน้ารับปลาจากกรมประมงแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง ส่งต่อปัจจัยการผลิตแก่พี่น้องเกษตรกร ช่วยเพิ่มผลผลิตยาง-ลดต้นทุนการผลิต

สำหรับพิธีลงนาม MOU ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ระยะเร่งด่วน ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจของ 6 หน่วยงาน ที่มุ่งหมายที่จะขจัดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำให้หมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลชัดเจน (ระยะเร่งด่วน) สามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดไม่กลับมาเกิดการระบาดอีกและอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรสัตว์น้ำพื้นเมืองในแหล่งน้ำ ดังนั้น กรมประมงขานรับนโยบายและเร่งประสาน 6 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร เพื่อบูรณาการร่วมกันที่จะดำเนินการดังกล่าว สำหรับบทบาทหน้าที่ของทั้ง 6 หน่วยงานภาคี จะดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมประมงจะทำหน้าที่กำจัดปลาหมอคางดำให้หมดจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในพื้นที่ที่เกิดการระบาด และส่งมอบปลาหมอคางดำเหล่านี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน นำไปแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร นำไปกำจัดตามกรรมวิธีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 7 มาตรการ แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำของกรมประมง    

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. เร่งแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้แปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพส่งถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มแปลงใหญ่ไปแล้วกว่า 600,000 ลิตร ซึ่งในครั้งนี้ กยท. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่การแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรสัตว์น้ำพื้นเมือง พร้อมนำไปแปรรูปให้เกิดประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกพื้นที่ โดย กยท. จะยังคงเดินหน้ารับปลาหมอคางดำจากกรมประมงมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกร สร้างปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน นับเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรให้กับชาวสวนยาง และยังช่วยเพิ่มผลผลิตยางพาราได้อีกด้วย

กยท. ขอย้ำจุดยืนในการให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยพร้อมเป็นกำลังหลักในการนำปลาหมอคางดำที่กรมประมงรับซื้อ มาเป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาถูก ส่งถึงมือให้พี่น้องชาวสวนยางต่อไป” รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำ

Advertisement

Advertisement