“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ศาสตร์พระราชา ที่ศรีลังกาอยากเรียนรู้

ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรบริเวณเทือกเขาภูพาน ทรงพบว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบภาวะความแห้งแล้งรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าและปัญหาการคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ ทำให้ราษฎรขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมีพระราชดำริให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ค้นคว้าวิจัยเรื่องการทำฝนเทียม ภายใต้ข้อแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างใกล้ชิด

“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริในการ “เอาชนะภัยธรรมชาติ” ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน มหัศจรรย์การทำฝน คือ 1. ก่อกวน 2. เลี้ยงให้อ้วน 3. โจมตี 4. การเพิ่มปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดิน 5. การโจมตีเมฆเย็นด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 6. การโจมตีเมฆเย็นแบบซุปเปอร์แซนด์วิช

ตำราฝนหลวงพระราชทาน นับเป็นเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เพราะช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตภัยแล้ง ทำให้หลายประเทศสนใจอยากเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมฝนหลวงจากประเทศไทย เพื่อนำกลับไปแก้ปัญหาฝนแล้งในประเทศของตน เช่น พม่า ลาว เขมร สิงคโปร์ จีน จอร์แดน โอมาน และศรีลังกา เป็นต้น

ในปี 2560 ศรีลังกา ประสบปัญหาภัยแล้งในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำของศรีลังกา เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลศรีลังกาได้เชิญเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงฯ เดินทางไปศึกษาสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และร่วมหารือในประเด็นการปฏิบัติการทำฝนในประเทศศรีลังกา ซึ่งผลการประเมินในเบื้องต้นพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ไปปรับใช้ในประเทศศรีลังกา เนื่องจากมีสภาพอากาศที่คล้ายคลึงกับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

ล่าสุด “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” ได้แบ่งปันศาสตร์พระราชา เรื่อง “การบังคับเมฆให้เกิดฝน” โดยเชิญตัวแทนรัฐบาลศรีลังกาเข้ามาศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการและการบริหารจัดการฝนหลวงในประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 2-5 กรกฎาคม 2561 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

เพื่อศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคและกรรมวิธีการทำฝนหลวง ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศศรีลังกา

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อสนองงานตามโครงการพระราชดำริฝนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชน ที่ประสบกับความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงเสมอมา ตามตำราพระราชทานฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่สามารถช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ตลอดจนเผยแพร่แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไปยังต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในระดับโลกด้วย

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า จะมุ่งมั่นทำงานเพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายใน ปี 2579 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติอื่นๆ อันเนื่องมาจากความผันแปรของภูมิอากาศโดยบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศให้เกิดฝน มีปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน ตลอดจนการให้บริการด้านการบินเพื่อสนับสนุนภารกิจการทำฝน การวิจัย และกิจกรรมด้านการเกษตรอื่นๆ