เปิดบ้านการศึกษา EEC

บิ๊กน้อย รมช.ศึกษาฯลุยเชื่อมการศึกษาทุกระดับภาคตะวันออกและ EEC มุ่งเน้นผลิตกำลังคนสอดรับความต้องการภาคอุตสาหกรรม และเพื่อบรรลุผลพัฒนาตามแนวประเทศไทย 4.0แบบไร้รอยต่อ

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดบ้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า การจัดงานเปิดบ้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ EEC แก่นักเรียน ครูอาจารย์ ผู้บริหาร และผู้ปกครองในชุมชน สังคม ในการพัฒนาสถานศึกษาให้มีความสามารถในการจัดระบบโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน

รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ผ่านการใช้ฐานข้อมูลจากระบบ Big Data ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยองค์ประกอบที่สำคัญนั้นจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาทั้งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมและการประกอบอาชีพ 10 อุตสาหกรรมของโลกสมัยใหม่ด้วย

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน และสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอุดมศึกษาทั้งสายอาชีพและสายสามัญในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาตามอัธยาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ EEC 3 จังหวัดและภาคตะวันออกรวม 8 จังหวัด

ทั้งนี้รมช.ศึกษาธิการได้เน้นย้ำทุกหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา กศน.อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการความร่วมมือ ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมสร้างระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำแบบไร้รอยต่อ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ พัฒนาครูและนักเรียน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตลาดแรงงานที่ต้องการในปัจจุบันและอนาคต

ซึ่งทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดทำรูปแบบของสถานศึกษาต้นแบบขึ้น จำนวน 30 โรงเรียน และคู่พัฒนาจำนวน 16 โรงเรียนรวมจำนวน 46 โรงเรียน และมุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ส่งผลต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศชาติ ซึ่งการพัฒนาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องพัฒนากำลังคนที่เป็นพื้นฐานและต่อยอดเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย