แนวทางผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ที่อุบลราชธานี

การพัฒนาของโลกในมิติต่างๆ บางครั้งทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ เสื่อมโทรม เกิดมหาอุทกภัย ภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าชเรือนกระจก การผลิตข้าว ในบางกรณี ก็ทำให้เกิดสิ่งที่แนะนำมา

คุณฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ได้เป็นประธานเปิดงานโครงการ “ข้าวยั่งยืน” ตามโครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย (Market Oriented Small holder Value Chain : MSVC) และมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกลุ่มเกษตรกรข้าวยั่งยืน กับบริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด มีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) เป็นสักขีพยาน ณ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย เป็นโครงการความร่วมมือขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัท โอแลม (ประเทศไทย) จำกัด สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมานั้น…เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ เกษตรกรหรือชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้บริโภคปลอดภัย สิ่งแวดล้อมไม่เสื่อมโทรม เป็นความยั่งยืนของทุกภาคส่วน ให้ข้าวของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวรักษ์โลก ข้าวยั่งยืนต่อไป…รวมทั้งเป็นการสนองนโยบายของรัฐอีกด้วย

ผู้เข้าร่วมงานภายในงานมีการจัดอบรมให้เกษตรกรที่เข้ามาร่วมงาน…แบ่งออกเป็น 5 ฐานการเรียนรู้

ฐานที่ 1 การปรับระดับพื้นที่แปลงนาด้วยเครื่องเลเซอร์
เป็นการปรับระดับพื้นที่นาข้าว โดยการใช้เครื่องเลเซอร์แทนการปรับระดับนาข้าวแบบเดิม ทำให้ช่วยลดต้นทุนการปรับพื้นที่นาให้ต่ำกว่าการปรับพื้นที่แบบปกติของเกษตรกร ยังสามารถควบคุมการให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอ ลดการใช้สารเคมีในการควบคุมปริมาณของวัชพืชและลดระยะเวลาในการสูบน้ำได้ ร้อยละ 58 ของเวลาทั้งหมดได้อีกด้วย

ฐานที่ 2 การทำนาหยอดข้าวแห้งเพื่อลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต
เป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยนำเอากระดาษทิชชูมาทำให้เปียก จากนั้นก็นำเมล็ดข้าวใส่ลงไปในกระดาษทิชชู ม้วนให้ยาวแล้วนำไปใส่กล่องรวมกัน จึงเอาไปใส่ตู้เก็บ ฐานที่ 3 การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

เป็นการวิเคราะห์ดินให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและปัญหาในแปลงปลูกข้าว ว่าควรใช้ปุ๋ยในปริมาณเท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปลูกข้าวครั้งต่อไป ผลของการวิเคราะห์ดินก็จะดูจากทั้ง 4 ข้อดังนี้ คือระดับอินทรียวัตถุในดิน, ปริมาณฟอสฟอรัส, ปริมาณโพแทสเซียม, ระดับความเค็มของดิน

ได้รับความรู้

ขั้นตอนการใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด”
1. ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน เกษตรกรต้องตรวจสอบชุดดินในแปลงของตนเองก่อน โดยสามารถนำมาสอบถามข้อมูลดินได้ทางสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือสอบถามตามได้ที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th
2. ปริมาณ N P K ในดินแบบรวดเร็ว จะมีการตรวจสอบปริมาณ N P K ในดินให้เกษตรกร
3. ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยศึกษาจากคู่มือคำแนะนำ “การใช้ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรม SimRice, SimCorn และ SimCare สำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดฟรี

ฐานที่ 4 การควบคุมวัชพืชในนาข้าว
เป็นการลดผลเสียหายของวัชพืชที่เกิดแก่พืชปลูกให้น้อยที่สุด ปริมาณการควบคุมจะต้องพิจารณาถึงราคาต้นทุนและปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องควบคุมให้สมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำเพียงระดับที่เหมาะสมที่สุดเท่านั้น

ฐานที่ 5 การป้องกันและควบคุมโรคไหม้ในนาข้าว
สอนวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราในข้าวที่ปลูก โดยมีการช่วยบอกวิธี เช่น ต้องมีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป หากใส่มากเกินไปโรคไหม้ระบาดได้รวดเร็วมาก

ฐานการเรียนรู้

ประโยชน์ของการผลิตข้าวยั่งยืนต่อเกษตรกร
1. มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากต้นทุนที่ต่ำลง และผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
2. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้วัตถุอันตราย
3. ผลผลิตคุณภาพที่ดีขึ้นทั้งในด้านความปลอดภัยและคุณภาพผลผลิต เป็นโอกาสทางการตลาดไปสู่ผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ
4. ชาวไทยมีการผลิตจากระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสทางการตลาดสู่ผู้บริโภคของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5. สภาพแวดล้อมมีความสมดุลและสามารถทำการปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืนจนถึงรุ่นต่อไป