ระวังไรแดง ในมันสำปะหลัง

อากาศแห้งแล้งในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวังการระบาดของไรแดง สามารถพบได้ในระยะที่มันสำปะหลังมีอายุประมาณ 3 เดือน ไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหลืองซีดเป็นจุดประขาว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสร้างหัวของมันสำปะหลัง

ไรแดง ที่พบทำลายมันสำปะหลัง มี 3 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน ไรแดงมันสำปะหลัง และ ไรแมงมุมคันซาวา สำหรับไรแดงหม่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบแก่และใบเพสลาด หากระบาดรุนแรง ตัวไรจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอดอ่อน โดยสร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น

เมื่อไรเริ่มลงทำลายต้นมันสำปะหลังจะสังเกตเห็นรอยทำลายเป็นจุดประด่างเหลืองบนผิวด้านบนใบ หากไรเข้าทำลายรุนแรง จะทำให้ใบไหม้ ตรงกลางใบขาดพรุน ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง กรณีไรแดงหม่อนลงทําลายในต้นมันสําปะหลังที่มีอายุ 1-3 เดือน อาจทําให้ใบร่วง ยอดแห้ง และตายได้

ส่วนไรแดงมันสำปะหลังจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้าใบ ไม่สร้างเส้นใย ทำให้ใบเป็นจุดประสีขาวซีด พบระบาดได้ตลอดปี สำหรับไรแมงมุมคันซาวา จะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ สร้างเส้นใยปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่ พบระบาดเป็นครั้งคราว แต่การระบาดจะรุนแรงมาก ทำให้ใบไหม้ ใบขาดเป็นรูบริเวณใกล้เส้นกลางใบ ส่งผลทำให้ใบมันสำปะหลังไหม้ทั้งแปลง ใบร่วง และแห้งตาย

Advertisement

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการปลูกมันสําปะหลังในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบระบาดของไรแดง ให้เกษตรกรเก็บใบมันสําปะหลังและส่วนที่ถูกทำลายนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของไรแดงอย่างรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ สารไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยควรพ่นสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานสารป้องกันกำจัดไร และไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง