พัฒนาเกาะยาว สู่เกาะเกษตรอินทรีย์

อำเภอเกาะยาว มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 41,916 ไร่ ครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 2,853 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา ข้าวนาปี ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะข้าวมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นนาผืนสุดท้ายกลางทะเลอันดามัน มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 277 ราย พื้นที่ 880 ไร่ ดังนั้น การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค จะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

นาข้าว

คุณอุษณี เจียมรา เกษตรอำเภอเกาะยาว กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาวได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดฤดูการผลิต ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเกาะยาวส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การปรับปรุงและบำรุงรักษาดิน ความปลอดภัยของผู้ผลิต ผลผลิต ผู้บริโภค และระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสนิยมในปัจจุบัน ที่นิยมบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งผลิตอาหารในระบบอินทรีย์ โดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน

ผักปลอดสารพิษ

สำหรับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของอำเภอเกาะยาวนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาว ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา ได้จัดทำโครงการการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ โดยมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจในนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเพิ่มความรู้ ทักษะการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ ได้แก่ การผลิตแหนแดง มวนพิฆาต ไส้เดือนฝอย และปุ๋ยหมักเติมอากาศ ซึ่งมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ราย แต่เมื่อเปิดดำเนินการโครงการ ปรากฏว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าอบรมมากกว่า 30 ราย

เลี้ยงผึ้ง

ตัวอย่างของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้วนำความรู้ เทคโนโลยีที่ได้ไปปฏิบัติ จนเห็นผลเป็นรูปธรรมสามารถเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้แก่ แปลงของ คุณกัลยาณี อ่อนทอง เกษตรกรต้นแบบ เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเกาะยาว ซึ่งมีการปลูกพืชมูลค่าสูงในโรงเรือนระบบปิด ขนาด 6×20 เมตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาวและสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ตามโครงการผลิตพืชปลอดภัยสนับสนุนการท่องเที่ยว พืชที่ปลูก ได้แก่ เมล่อน มะเขือเทศ แตงโม และพืชผัก นอกจากนี้ ยังมีแปลงเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชาของเกษตรกรอีกจำนวน 10 ราย ซึ่งกิจกรรมครอบคลุมเรื่องการเกษตรในทุกสาขาอาชีพด้านการเกษตร

อบรมความรู้

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ยังได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร สินค้าที่เน้น ได้แก่ มะพร้าว และพืชผัก มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 60 ราย ดำเนินโครงการโดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรพร้อมนำไปศึกษาดูงานและประเมินแปลงเบื้องต้น ต่อจากนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงาจะตรวจรับรองแปลงให้เกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้และทักษะให้เกษตรกร สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะยาวยังได้ร่วมกับศูนย์ฝึกอาชีพเฉพาะด้านจัดอบรมให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ หลักสูตร “การผลิตพืชผักปลอดภัยเพื่อการค้า” และหลักสูตร “การเพาะเมล็ดงอก” เกษตรกรเป้าหมายหลักสูตรละ 50 ราย 2. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลักสูตร “การผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติ” เกษตรกรเป้าหมาย 30 ราย 3. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร หลักสูตร “การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเพื่อเสริมรายได้และช่วยผสมเกสร” เกษตรกรเป้าหมาย 60 ราย และ 4. ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช หลักสูตร “การผลิตและขยายพันธุ์พืช” เกษตรกรเป้าหมาย 30 ราย

โดยทุกหลักสูตรมีเกษตรกรเข้ารับการอบรมเกินเป้าหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตระหนักและการตื่นตัวของเกษตรกรอำเภอเกาะยาวในการสนใจ ใฝ่รู้ และให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาและผลิตสินค้าเกษตรของตนเองให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย

ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้และทักษะให้เกษตรกรรายอื่นๆ เป็นการสร้างเครือข่ายเกษตรเพื่อเป็นการพัฒนาอำเภอเกาะยาวเมืองเกษตร-อินทรีย์ตามเป้าหมายที่วางไว้ รองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับโครงการปีงบประมาณ 2562 อำเภอเกาะยาว ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เสนอโครงการสร้างความปรองดองของชุมชนเพื่อความยั่งยืน “บ้านน้ำจืด เกาะยาว โมเดล” โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรด้วยนวัตกรรม โดยการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ชาวนา 4.0” อีกด้วย