เกษตรขอนแก่น มั่นใจ พร้อมกับการเป็น เมือง “Smart City”

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแข่งขันทางการค้า การพัฒนาทางด้านการขนส่ง-สัญจร ตลอดจนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้จังหวัดขอนแก่นก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ “Smart City”

นับแต่อดีต ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางด้านเกษตรกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ หรือแม้แต่งานหัตถกรรมที่สวยงามและประณีตอย่างผ้าไหม จนถึงตอนนี้สิ่งเหล่านั้นก็ยังคงรักษาคุณภาพ มาตรฐานอยู่ แล้วยังคงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความภาคภูมิใจให้กับชาวเมือง

คุณทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดขอนแก่น

เมื่อความเจริญของสังคมเมืองก้าวเข้ามา การเป็นสังคมเกษตรกรรมของผู้คนในยุคสมัยใหม่ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ลองไปฟังมุมมองจาก คุณทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดขอนแก่น

คุณทรงพันธ์ กล่าวว่า สำหรับขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย ดังนั้น เมื่อพูดถึงภาพรวมของเกษตรจังหวัดจึงมีความหลากหลายมิติ สิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความหลากหลายคือ ถ้ามองดูลักษณะรูปจากแผนที่ของจังหวัดขอนแก่นแล้ว ด้านบนของจังหวัดประกอบด้วย อำเภอบ้านฝาง อุบลรัตน์ หนองเรือ ภูเวียง ชุมแพ ฯลฯ โดยทุกอำเภอมีลักษณะพื้นที่ติดภูเขา หรือที่ราบเชิงเขา ทำให้ชุดดิน น้ำ อากาศ มีความชุ่มชื้น ชาวบ้านมีทางเลือกในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ผล

ตรวจเยี่ยมเกษตรกรไร่ข้าวโพด

ส่วนทางตอนล่างของจังหวัดที่ประกอบไปด้วยอำเภอเมือง บ้านแฮด บ้านไผ่ เมืองพล หนองสองห้อง ฯลฯ มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ความสมบูรณ์ของชุดดินมีน้อย ดินเค็ม พบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ชาวบ้านเลือกประกอบอาชีพได้ไม่หลากหลายนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาก็จะได้รับผลกระทบทางสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศทำให้เกิดความเสียหายกระทบเป็นแสนไร่ ทั้งนี้ เพราะเกิดจากความต่างของชุดดิน

ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่เกษตรจะต้องเข้ามามีบทบาทในความช่วยเหลือ จัดหาแนวทางที่เหมาะสม บริหารจัดการให้ถูกต้องกับสภาพพื้นที่แต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรไว้บริโภคและจำหน่ายได้อย่างเต็มที่ จึงเห็นว่าเกิดความหลากหลายขึ้น

แปลงข้าวโพดหลังนา

ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมทางกิจกรรมของภาคเกษตรทั้งทางตอนบนและตอนล่างจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับในตอนล่างจะเน้นเรื่องการสร้างแหล่งน้ำซึ่งมีทั้งน้ำผิวดินที่เป็นการขุดสระให้แก่ชาวบ้านขนาดเล็ก ประมาณ 1,260 คิว เนื่องจากเกษตรกรในภาคอีสานล้วนแต่เป็นรายย่อย มีที่ดินทำกินไม่มาก ประมาณ 5-7 ไร่ สามารถใช้น้ำได้อย่างไม่เดือดร้อนในช่วงหน้าแล้ง สำหรับปลูกผักและพืชอายุสั้น

อีกส่วนเป็นน้ำจากใต้ดิน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบดูแลโดยกรมทรัพยากรน้ำที่จะต้องเข้ามาสำรวจแล้วพิจารณาว่าในพื้นที่แต่ละแห่งมีความเหมาะสมในชั้นใต้ดินเพื่อขุดเจาะน้ำมาใช้ทางการเกษตรกรรม เนื่องจากดินบางแห่งอาจเค็มมากไม่เหมาะกับการขุดเจาะ

เกษตรจังหวัดพาคณะเจ้าหน้าตรวจเยี่ยมแปลงมันสำปะหลัง

ส่วนกิจกรรมเกษตรด้านตอนบนของจังหวัดอาจไม่ค่อยได้รับความเดือดร้อนนัก ชาวบ้านสามารถทำเกษตรกรรมต่างๆ ได้ อาทิ ข้าว ปลูกเป็นนาปี มีจำนวน 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป หรือถ้าเป็นชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณใกล้ภูเขาอาจปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวพืชเหล่านั้นแล้วยังปลูกพืชอายุสั้นเป็นรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง หรือข้าวโพดหลังนา (เลี้ยงสัตว์)

นอกจากนั้นแล้วยังมีพื้นที่ในเขตชลประทานตั้งแต่บางส่วนของอำเภออุบลรัตน์ น้ำพอง ซำสูงบางส่วน และอำเภอเมืองบางส่วน ที่ยังคงสามารถปลูกพืชได้อย่างไม่เดือดร้อนนัก แล้วปลูกได้อย่างมีคุณภาพภายใต้การบริหารจัดการที่ดี แล้วยังทำนาปรังได้ในหน้าแล้งบางคราว

พืชที่โดดเด่นของจังหวัดมี 3 ชนิดหลัก คือ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมรวมจำนวน 3 ล้านกว่าไร่ จะแบ่งเป็นปลูกข้าวจำนวนล้านกว่าไร่ ปลูกอ้อย 7-8 แสนไร่ และปลูกมันสำปะหลังจำนวน 2 แสนไร่

เกษตรจังหวัดชี้ว่า ที่ผ่านมาพืชทั้ง 3 ชนิด มีปัญหาด้านราคาเป็นช่วงสลับกัน อาจเป็นเพราะต้องอ้างอิงราคาจากตลาดโลกเป็นหลัก ทั้งนี้ สถานการณ์ข้าวในรอบปี 2561-62 มีราคาค่อนข้าวสูงเป็นที่พอใจ แต่มาเจอในช่วงน้ำน้อยที่ทำนาปรังไม่ได้อาจทำให้บางรายเสียโอกาสไป

อย่างไรก็ตาม มีมาตรการบางอย่างที่นำมาใช้ได้และช่วยทำให้ราคาข้าวสูงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลดพื้นที่ทำนารอบ 2 ในพื้นที่บางแห่ง แล้วชดเชยด้วยการปลูกพืชน้ำน้อย พร้อมกับมาตรการส่งเสริมทางการตลาดควบคู่กันไป อย่างการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้ปริมาณข้าวในตลาดและราคามีความสมดุล

ส่วนอ้อยเป็นพืชที่มีกฎหมายรองรับในตัวเอง อีกทั้งยังต้องอาศัยกลไกราคาจากต่างประเทศ จึงทำให้ราคาอ้อยในปีที่ผ่านมารวมถึงต้นปีนี้ไม่สูงเท่าไรนัก สำหรับมันสำปะหลัง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีราคาดีมาก อย่างมันสดที่เป็นมันดิบได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาท ต่อกิโลกรัม หรือบางช่วงดันไปถึง 3 บาท ทำให้ชาวบ้านพอใจ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในวงการอาหารสัตว์ ขณะที่ในประเทศมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์หลายแห่ง จึงทำให้มีความต้องการข้าวโพดทั้งปีถึง 8 ล้านกว่าตัน แต่สามารถผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน (ทั้งที่ปลูกแบบพืชไร่กับหลังทำนา) จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าถึงปีละกว่า 3 ล้านตัน

ผลตอบแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวนาปรังแบบไร่ต่อไร่ พบว่า รายได้จากการปลูกขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดีกว่าการทำนาปรังเป็นเท่าตัว อีกทั้งปริมาณการใช้น้ำปลูกข้าวโพดก็น้อยกว่าทำนาครึ่งต่อครึ่ง อย่างทำนา 1 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.เมตร ปลูกข้าวโพดใช้น้ำ 600 ลบ.เมตร ต่อไร่ แล้วผลตอบแทนปลูกข้าวโพดต่อไร่ ประมาณ 3-4 พันบาท แต่ทำนาปรังไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับต้นทุนในแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นทางด้านการผลิตอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง แต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ใช่จะปลูกได้ทุกแห่ง เพราะต้องพิจารณาจากโครงสร้างดินด้วย แต่สำหรับจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังทำนาจำนวน 7 หมื่นกว่าไร่

ไม้ผลที่เด่นคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นการปลูกแบบคุณภาพมาตรฐานแบบแปลงใหญ่ที่อำเภอบ้านแฮด เพื่อส่งขายญี่ปุ่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้มีจำนวนไม่กี่พันไร่ แต่ชาวสวนมีศักยภาพการปลูกมาก เนื่องจากต้องบริหารจัดการกระบวนการปลูก ดูแล เก็บผลผลิต ไปจนถึงการแพ็กส่งขายอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องให้ได้ผลผลิตตามคุณภาพ มาตรฐานที่ลูกค้าต่างประเทศต้องการ ทั้งขนาด รสชาติ ความสมบูรณ์ของผิว รวมถึงต้องควบคุมสารตกค้าง ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสร้างรายได้สูงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังมีมะม่วงเขียวเสวยที่ปลูกแบบแปลงใหญ่ที่อำเภอบ้านไผ่ ส่งขายต่างประเทศ อย่าง จีน ไต้หวัน มีพื้นที่ปลูกจำนวนกว่า 3 พันไร่

การรับมือกับหน้าแล้งนี้

การให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของจังหวัด โดยพิจารณาว่า มีพื้นที่ใดที่พอมีแหล่งน้ำก็จะส่งเสริมให้ปลูกพืชน้ำน้อย อย่างที่อำเภอฝาง มีการปลูกข้าวโพดฝักสดขายตลอดทั้งปี ก็จะเข้าไปส่งเสริม เพราะมีชาวบ้านปลูกแล้วนำไปขายส่งกัน หรือถ้าบางแห่งปลูกพืชไม่ได้ก็อาจหากิจกรรมอื่นทำ

อีกกิจกรรมหนึ่งสำหรับชาวบ้านคือ การปลูกปอเทืองเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ เป็นอาชีพที่ชาวบ้านมักปลูกหลังทำนาเพื่อหารายได้เสริม เมื่อเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วก็จะมีหน่วยงานต่างๆ มารับซื้อ ดังนั้น ในทุกกิจกรรมทางเกษตรจังหวัดจะพยายามหาทางช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อให้บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในช่วงหน้าแล้ง

งานแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า

เป็นอีกแนวคิดและช่องทางที่ช่วยให้เกษตรกรหรือชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นมา ผลผลิตข้าวแปรรูปเป็นหนึ่งสินค้าที่นิยมทำกัน โดยรวมกันทำในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ บางกลุ่มมีการพัฒนาไปอีกก้าวด้วยการผลิตเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าให้ขายได้ราคาสูงกว่าปกติ

สำหรับงานแปรรูปอื่นก็จะเป็นการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตาก หรือบางกลุ่มแปรรูปจากแมลงจิ้งโกร่ง หรือจิ้งหรีด ซึ่งแมลงทั้งสองจากการวิจัยแล้วพบว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะกับการทดแทนโปรตีน จนทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากจนผลิตไม่ทัน

นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมให้ปลูกผักอินทรีย์คุณภาพตามมาตรฐานรับรอง แล้วมีภาคเอกชนเข้ามารับซื้อในราคาเป็นธรรม อย่างที่บ้านโนนเขวา ผู้ผลิตได้ทำข้อตกลงกับเทสโก้โลตัสผู้รับซื้อในรูปแบบ “โนนเขวาโมเดล” ขึ้น ถือเป็นการผลิตผักตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง

งานทอผ้าของขอนแก่นก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปไกลต่างประเทศ เพราะเป็นงานทอผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ละเอียด ประณีต โดยล่าสุดทางจังหวัดได้กำหนดให้ลายแคนแก่นคูณ เป็นลายทอผ้าไหมของจังหวัด

การเป็นเมือง Smart City

จะทำให้วงการเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร??

มองว่าการที่ขอนแก่นเป็น Smart City น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของชาวบ้านในภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการตลาดมากขึ้น เนื่องจากคนเมืองคงหาเวลามาปรุงอาหารน้อยลง ความต้องการสินค้าเกษตรที่พร้อมปรุงน่าจะช่วยให้สะดวกกว่า

ฉะนั้นถ้าภาคเกษตรกรรมปรับแนวคิดมาแปรรูปสินค้าบริโภคชนิดปรุงได้ทันทีจะช่วยทำให้ตลาดมีความต้องการมากขึ้น แล้วยิ่งทำให้สะอาด น่ารับประทานด้วยการบรรจุใส่แพ็กเก็จที่สวยงาม ระบุสถานะความปลอดภัยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ขายดีมาก จะทำให้ชาวบ้านตื่นตัวมาเป็นผู้ขายมากขึ้น พร้อมกับเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่การเป็น Smart City

“จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือแปรรูปออกไปสู่ทุกภาคส่วน สินค้าทุกชนิดล้วนผลิตจากความตั้งใจของชาวบ้านทุกคน จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า เมื่อท่านซื้อสินค้าเกษตรจากจังหวัดขอนแก่นไปแล้วจะได้รับความปลอดภัยในราคายุติธรรม มีความอร่อย แล้วมีเพียงพอกับความต้องการของตลาดแน่นอน” เกษตรจังหวัดกล่าว