สู้ภัยแล้ง ปลูกพืชน้ำน้อย จากร้อยสู่ล้าน

ในปีนี้ ส่อเค้าภาคการเกษตรของประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับภาวะอากาศร้อนจัด แล้งจัด จากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El NiNo) อีกรอบ จึงอยากชวนเกษตรกรชาวนาให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง จากเดิมที่เคยทำนาที่ใช้น้ำมาก มาปลูกพืชผัก ที่ใช้น้ำน้อยแทน

ภารกิจครั้งนี้ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชผักที่ใช้น้ำน้อย 7 ชนิด เช่น แตงกวา-แตงร้าน ฟักทอง แตงโม ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว แฟง และ ถั่วฝักยาว ปรับดินเตรียมแปลงปลูก ลงทุนทำระบบน้ำหยด เพื่อให้น้ำถูกส่งผ่านทางท่อ และปล่อยน้ำออกทางหัวหยดน้ำ ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยดซึมลงมาที่บริเวณรากของต้นพืชอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ ช่วยให้ดินมีความชื้นคงที่ พืชได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอทั้งแปลง ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน บำรุงรักษาระบบง่าย แถมควบคุมวัชพืชได้ง่ายอีกต่างหาก

เปรียบเทียบผลตอบแทนการปลูกพืชไร่กับพืชที่ใช้น้ำน้อย (ข้อมูลจาก ศรแดง)

 

เปลี่ยนนาข้าว เป็นแปลงผัก โกยรายได้ทั้งปี

การปลูกพืชผักอายุสั้น ใช้ เงินลงทุนต่ำเพียง 4,000-5,000 บาท ต่อรุ่น แต่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ 2-3 รอบ ยกตัวอย่าง เช่น การปลูกแตงกวา-แตงร้าน มีระยะเวลาการปลูกรอบละ 36-40 วัน สามารถสร้างรายได้กว่า 40,000 บาท ส่วนถั่วฝักยาว มีระยะเวลาการปลูกรอบละ 50-60 วัน โกยรายได้มากกว่า 50,000 บาท ทีเดียว

คุณกิจติศักดิ์ จีนเท่ห์ (นายก อบต. บ้านจ่า) อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เดิมมีอาชีพปลูกอ้อยมาหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งเจอปัญหาภัยแล้งคุกคาม ทำให้เขาตัดสินใจหันมาปลูกข้าวโพด เสริมรายได้ในไร่อ้อยเมื่อต้นปี 2559 ผลการทดลองปลูกข้าวโพดรุ่นแรก บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ใช้เวลาปลูกแค่ 60-65 วัน สร้างรายได้งาม 9,200-9,600บาท/ไร่ เนื่องจากการปลูกข้าวโพดให้ผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับการลงทุน คุณกิจติศักดิ์ จึงได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกรในตำบลบ้านจ่าหันมาปลูกข้าวโพดในพื้นที่ของตน เพื่อให้มีรายได้เสริมแก่เกษตรกร ในระหว่างการรอเก็บเกี่ยวอ้อยที่ต้องใช้เวลานาน 8-9 เดือน

ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรในจังหวัดอ่างทองประสบปัญหาภัยแล้งในวงกว้าง เกษตรกรชาวนาหลายรายปรับวิถีชีวิตในการทำการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง โดยหันมาปลูกพืชน้ำน้อย เริ่มจากปลูกมะระก่อน หลังจากนั้นหันมาปลูกบวบเหลี่ยม และแตงกวา บนเนื้อที่ 1 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 35,000 บาท/ไร่

หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญทำงานเหนื่อยน้อยกว่าการปลูกข้าว ใช้เวลาแค่ 2 เดือน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว ขณะที่การทำนาต้องใช้เวลาปลูกดูแลนานถึง 4 เดือน ที่สำคัญการปลูกผักได้ผลกำไรต่อไร่มากกว่าการทำนา และการปลูกบวบ ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาถึง 75% จึงอยากแนะนำให้เพื่อนเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวเป็นประจำ ให้ลองเปิดใจหันมาเพาะปลูกพืชน้ำน้อยเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะปลูกผักใช้ระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำเงินได้ทุกวัน และให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเหนื่อย

ด้านชาวนาในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ที่เจอปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการทำนา ก็ปรับตัวสู้ภัยแล้งโดยปรับพื้นที่มาทำไร่นาสวนผสม แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน พื้นที่ส่วนที่เหลือนำมาปลูกพืชหมุนเวียนที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วฝักยาว กะเพรา มะละกอ แตงกวา ฯลฯ ทำให้มีรายได้ตลอดปี

เกษตรกรปลูกข้าวโพด 6 ไร่ ถั่วฝักยาว 1 ไร่ และแตงกวา 1 ไร่ ซึ่งการปลูกพืชผักอายุสั้นเหล่านี้ ปลูกดูแลง่าย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 3 รุ่น สามารถลดการใช้น้ำไปได้ประมาณ 75% ของน้ำที่ใช้ในการทำนา แถมมีรายได้เพิ่มมากกว่าการทำนากว่า ไร่ละ 10,000 บาท