สวนป่าลาดกระทิง แหล่งเรียนรู้ปลูกไม้โตเร็ว เผาถ่าน-ปลูกสมุนไพร เพิ่มรายได้ในสวนป่า

ช่วงสายวันหนึ่ง เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 วิ่งผ่านอำเภอพนมสารคาม เดินทางต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 3259 ไปยังอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ “สวนป่าลาดกระทิง” ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)

สวนป่าลาดกระทิง

สวนป่าลาดกระทิง เดิมเป็นสวนป่าที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แควระบม-สียัด เริ่มดำเนินการปลูกป่าในปี 2511 และตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด ได้รับอนุมัติให้นำเงินค่าปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทานจากแหล่งอื่นมาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าทดแทนในพื้นที่โครงการปลูกสร้างสวนป่าลาดกระทิง ปลูกสร้างสวนป่าทดแทนในพื้นที่โครงการปลูกสร้างสวนป่าลาดกระทิง โดยได้ปลูกสร้างสวนป่าตามเงื่อนไขสัมปทานเรื่อยมาจนถึงปี 2532 การปลูกป่าในลักษณะนี้ก็ได้หยุดลง เนื่องจากในปี 2532 รัฐบาลประกาศให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้ (ป่าบก) จึงมีเพียงการปลูกและบำรุงรักษาสวนป่าเดิมให้เป็นไปตามพันธกรณีเท่านั้น ปัจจุบันงานสวนป่าลาดกระทิง เป็นสวนป่าโครงการที่ 6 สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เขตศรีราชา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ภาคกลาง ของ อ.อ.ป.

สวนป่าลาดกระทิง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

ปัจจุบัน สวนป่าลาดกระทิง มีพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 19,187.06 ไร่ ที่นี่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลัก ถึงร้อยละ 34 รองลงมาเป็นสวนป่าไม้กระถินเทพา ร้อยละ 26 ปลูกไม้สัก ร้อยละ 7 และปลูกยางพารา ร้อยละ 2 แต่ในอนาคต สวนป่าลาดกระทิง เตรียมตัดโค่นสวนยางทิ้งตามนโยบายรัฐบาล ปรับพื้นที่สวนยางเดิมนำมาปลูกไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นแทนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า พื้นที่ที่เหลืออีก ร้อยละ 31 ใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ แปลงทดลองและเตรียมแปลงปลูกสร้างสวนป่าในอนาคต

การปลูกสร้างสวนป่าแปลงใหม่

คุณจอง มงคลสกุลฤทธิ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ภาคกลาง กล่าวว่า งานปลูกสร้างสวนป่าแปลงใหม่ของสวนป่าลาดกระทิง ในปี 2561 ได้ปลูกไม้ยูคาลิปตัส จำนวน 1,222 ไร่ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม โดยมีการจ้างแรงงานชุมชนท้องถิ่น เป็นการสร้างงานสร้างรายได้อย่างหมุนเวียน เช่น การเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูก การกำจัดวัชพืช การบำรุงรักษา ฯลฯ ในอัตราจ้างอย่างเป็นธรรมสอดคล้องกับค่าจ้างแรงงาน

คุณจอง มงคลสกุลฤทธิ์ ผู้อำนวยการ อ.อ.ป. ภาคกลาง

นอกจากนี้ อ.อ.ป. ได้เปลี่ยนทฤษฎีการปลูกป่าแบบดั้งเดิม (Plantation) การปลูกป่าด้วยระยะปลูกที่กำหนดจากการมุ่งเน้นผลอัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้และรูปทรง โดยมีการปรับปรุงพัฒนาในด้านระยะปลูกให้สอดคล้องกับพื้นที่ ทำให้มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ

Advertisement

อ.อ.ป. ปรับทฤษฎีการปลูกป่าเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้รูปแบบปลูกป่าแบบวนเกษตร (Agroforestry) จากเดิมที่กำหนดระยะการปลูกไม้ที่ระยะ 2×3 เมตร และ 2×4 เมตร เข้าสู่ระบบแถวคู่ 1x2x6 เมตร และ 1.5×1.5×4.5 เมตร เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนรอบสวนป่าเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ในรูปแบบวนเกษตร ช่วยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพและรายได้จากการทำสวนป่าแนวใหม่ได้อย่างยั่งยืน

“อ.อ.ป. อนุญาตให้ชาวบ้านในชุมชนรอบสวนป่า เข้ามาปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด พืชสมุนไพร ฯลฯ แทรกระหว่างแถวของไม้โตเร็วและไม้โตช้า ชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามปกติในช่วงระยะเวลา 2-4 ปี  สำหรับไม้โตเร็วที่ อ.อ.ป. ปลูก เช่น ไม้ยูคาลิปตัส หรือไม้กระถินเทพณรงค์ ฯลฯ จะตัดฟันรอบแรกในปีที่ 3-4 ซึ่งไม้โตเร็วกลุ่มนี้สามารถแตกหน่อได้ก็จะเลี้ยงหน่อต่อไป ระหว่างนั้นชาวบ้านก็สามารถเพาะปลูกพืชร่วมแปลงในสวนป่าได้ตามปกติ” ผอ. จอง กล่าว

Advertisement
กล้าไม้กระถินเทพณรงค์

ทั้งนี้ สวนป่าลาดกระทิง ได้ทดลองใช้ทฤษฎีวนเกษตรกับชุมชนรอบสวนป่ามาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 12 คน อนุญาตให้ปลูกสับปะรดร่วมแปลงสวนป่า 453 ไร่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 3.6 ล้านบาท ปีต่อมา มีชาวบ้านอีก 148 ราย ยื่นขอใช้ประโยชน์พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7,664 ไร่ มีรายได้จากผลผลิต 3 ล้านกว่าบาท หลังจากนั้นชาวบ้านก็เข้าร่วมกิจกรรมทุกปี

โดยปี 2560 มีเกษตรกร 132 ราย ขอใช้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังร่วมแปลงสวนป่า 6,511 ไร่ มีรายได้จากการขายผลผลิต 26 ล้านบาท และเกษตรกร 7 ราย ขอใช้พื้นที่ 425 ไร่ ปลูกสับปะรด ขายผลผลิตได้ 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็อนุญาตเข้ามาเก็บของป่า (ไม่ใช่ไม้ปลูก) เช่น น้ำผึ้งป่า เห็ด จับปลาในลำห้วย ฯลฯ เนื่องจากสวนป่าลาดกระทิงมีเนื้อที่กว้างขวาง แต่ อ.อ.ป. มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่จะดูแลตรวจตราสวนป่า จึงอาศัยชาวบ้านที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนป่าเหล่านี้ช่วยกันดูแลรักษาสวนป่า ซึ่งเป็นที่ทำกินของพวกเขา รวมทั้งเป็นหูเป็นตาสกัดการลักลอบตัดไม้ของพวกนายทุนไปพร้อมๆ กัน

แปลงแม่พันธุ์ไม้ยูคาลิปตัส

เนื่องจากสวนป่าลาดกระทิง ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ด้านการอนุรักษ์ เป็นแนวเขตกันชน บริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสังคมพืชและสัตว์ ที่มีความหลากหลายทางชีวิตในพื้นที่สวนป่า จึงกำหนดข้อห้ามให้ชาวบ้านที่เข้ามาปลูกพืชร่วมแปลงสวนป่าหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืช หากจำเป็นต้องใช้ ผู้ใช้ต้องมีความรู้และใช้อย่างถูกวิธี มีระบบการจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกต้อง และทำลายขยะสารเคมีอย่างถูกวิธี ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสวนป่า

สวนป่าลาดกระทิง มีแผนการผลิตกล้าไม้เศรษฐกิจเป็นประจำทุกปี โดยกล้าไม้ที่ผลิต เช่น ยูคาลิปตัส กระถินเทพาและไม้ดีมีค่า ซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีรอบอายุการตัดฟันหรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แตกต่างกัน โดยไม้ยูคาลิปตัส ระยะเวลารอบตัดฟัน 5-8 ปี  กระถินเทพณรงค์ ระยะเวลาการตัดฟัน 5-6 ปี หรือมากกว่านั้น ส่วนไม้ดีมีค่าประเภทไม้สัก ไม้แดง ไม้พะยูง ฯลฯ ระยะเวลารอบตัดฟันมากกว่า 10 ปี

ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังในสวนป่ายูคาลิปตัส

เนื่องจากปัจจุบันกล้าที่ผลิตจากเมล็ดไม่ได้รับความนิยมและมีอัตราความเจริญเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอ งานสวนป่าลาดกระทิงจึงคิดริเริ่มการผลิตกล้าตัดชำ (Cutting) จากต้นแม่พันธุ์ที่มีอยู่ในสวนป่าลาดกระทิง ทั้งไม้ยูคาลิปตัส และกระถินเทพณรงค์ ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ อ.อ.ป. เตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มในอนาคต เพราะต้นกระถินณรงค์มีกิ่งก้านเยอะ ขณะที่ต้นกระถินเทพณรงค์มีลำต้นเปลาตรง

“ป่าลาดกระทิง” แหล่งเรียนรู้ปลูกไม้โตเร็ว

ผอ. จอง กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สวนป่าลาดกระทิงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำไม้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลิตไม้โตเร็ว ประเภทไม้ยูคาลิปตัส ไม้กระถินเทพา รวมทั้ง กระถินเทพณรงค์ ไม้เศรษฐกิจตัวใหม่จากผลงานวิจัยของกรมป่าไม้ งานสวนป่าลาดกระทิงได้วางแผนการทำไม้ตามหลักวิชาการและตามสัญญาซื้อขาย โดยควบคุมการทำไม้ให้เป็นไปตามสัญญาการทำไม้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทำไม้

แปลงปลูกไม้กระถินเทพา

ขณะเดียวกัน สวนป่าลาดกระทิง มีรายได้เสริมจากการผลิตถ่านไม้ โดยมีกำลังการผลิตถ่าน จำนวน 6 เตา สามารถผลิตถ่านได้เดือนละ 375 กระสอบ ปีละ 4,500 กระสอบ โดยไม้ที่นำมาเผาถ่านเป็นเศษไม้ปลายไม้ที่เหลือจากการทำไม้ โดยมีการขออนุญาตตามกฎหมายทุกขั้นตอน

ทุกวันนี้ สวนป่าลาดกระทิงยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชสมุนไพรในสวนป่าเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ปี 2560-2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย อ.อ.ป. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรในสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ทั่วประเทศ ระหว่างปี 2560-2564 อ.อ.ป. กำหนดจัดหาเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบสวนป่าเข้าร่วมโครงการปีละ 600 ไร่

ผอ. จอง กล่าวว่า อ.อ.ป. มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้สวนป่า อ.อ.ป. ทั่วประเทศ เป็นรากฐานการผลิตสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบสวนป่า อ.อ.ป. สำรวจความเหมาะสมของพื้นที่สวนป่า พร้อมจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรเข้ามาปลูกสมุนไพร โดยกำหนดชนิดพืชสมุนไพรที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในสวนป่า ได้แก่ กระชาย ขมิ้นชัน โป๊ยกั้ก มะกรูด มะแว้งเครือ มะขามป้อม งาดำ พริกไทย รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น 3,000 ไร่ ตลอดระยะเวลา 5 ปี

อ.อ.ป. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตก่อนเริ่มจำหน่าย ทั้งนี้ อ.อ.ป. ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการปลูกดูแลพืชสมุนไพร กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมติดตามผลการเจริญเติบโต รวมทั้งวางแผนการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ อ.อ.ป. สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (สำนักบริหารกลาง) 76 ถนนราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทร.02-282-3243-7 ต่อ 101-103 (วันและเวลาราชการ)

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2562