สุ่ยมี่ ฝรั่งพันธุ์ใหม่อีกทางเลือกหนึ่ง

สุ่ยมี่ผลสวย

สุ่ยมี่ (水蜜:ShuiMi) ฝรั่งสายพันธุ์ใหม่จากไต้หวันที่เกษตรกรไทยหัวก้าวหน้าชอบการเปลี่ยนแปลง และร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ผลกำลังให้ความสนใจกันอยู่ เริ่มมีการแสวงหากิ่งพันธุ์เพื่อขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างต่อเนื่องด้วยคุณสมบัติหลายอย่างที่มีดีกว่าฝรั่งพันธุ์ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน อย่างเช่น ฝรั่งกิมจู หรือเจินจู กลมสาลี่ แป้นสีทอง หรือแม้กระทั่ง หวานพิรุณ         

2

ผู้เขียนได้กิ่งพันธุ์ฝรั่งสุ่ยมี่มาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ในราคาหลักพัน จาก ลุงเล็ก (นายเสน่ห์ ลมสถิตย์) ลุงเล็กนำกิ่งพันธุ์เข้ามาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 จำนวนไม่ถึง 20 ต้น และได้กระจายไปตามคนที่ลุงเล็กสนิทไม่กี่คน คนละกิ่งสองกิ่ง ดังนั้น กิ่งพันธุ์ฝรั่งสุ่ยมี่ที่สวนลุงเล็กจึงเหลืออยู่ไม่กี่กิ่ง ซึ่งตอนนั้นแกยังไม่ได้ให้ความสำคัญเอาใจใส่มันมากนัก เพราะมีมะม่วงพันธุ์ใหม่ๆ ต้องคอยประคบประหงมอีกหลายพันธุ์ ได้ละเลยพวกมัน ไม่นานกิ่งพันธุ์สุ่ยมี่ในกระถางที่ขาดการดูแลจึงตายหมด พอลุงเล็กเริ่มรู้จุดเด่นข้อดีของมันจึงต้องซื้อกิ่งพันธุ์กลับจากคนที่เคยขายให้ไปคืนมา ถึงวันนี้ฝรั่งสุ่ยมี่เริ่มปลูกเป็นแปลงใหญ่เพื่อจำหน่ายผลที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ราคากิ่งพันธุ์ลดเหลือหลักร้อย แต่รสชาติของมันไม่ได้ลดตามไปด้วย คงโดดเด่นท้าทายให้หลายคนอยากลองลิ้มชิมรสอยู่

ฝรั่ง ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย ไต้หวันจึงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของฝรั่งเช่นกัน แต่ไต้หวันมีฝรั่งดีๆ หลายสายพันธุ์  ฝรั่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบโซนร้อนของอเมริกากลาง อเมริกาใต้ จัดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ ครั้งเมื่อไต้หวันยังอยู่กับจีนผืนแผ่นดินใหญ่ฝรั่งถูกนำมาในจีนราวปี พ.ศ. 2437 ไม่ต่างจากพืชป่าชนิดหนึ่ง เรียกมันว่า ป๋าจื่อ ต่อมาถูกนำไปที่นานยาง จึงได้เรียกว่า ฟานสือหลิ่ว เพราะมีรูปพรรณสัณฐานและเมล็ดมากคล้ายกับทับทิม(สือหลิ่ว หมายถึง ทับทิม) ส่วนชาวไต้หวันจะเรียกฝรั่งว่า ป๋าล่า พันธุ์ฝรั่งไทยถูกนำเข้าไปยังจีน

เนื่องจากฝรั่งไทยมีผลใหญ่ ยาวรี เนื้อหนาแน่นและกรอบ แต่ความหวานต่ำ อยู่ระหว่าง 6-9 องศาบริกซ์ ช่วงปี พ.ศ. 2472-2480 เป็นช่วงฟื้นฟูอย่างมากในการปลูกฝรั่งที่ไต้หวัน หลังจากนั้นพื้นที่การปลูกฝรั่งในไต้หวันก็ลดลงเรื่อยมา เกษตรกรมาเริ่มปลูกใหม่อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2495 พื้นที่ปลูกหลักอยู่ที่ไทเป จางฮั้ว และชินจู๋ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 แหล่งปลูกฝรั่งที่สำคัญของไต้หวันอยู่บริเวณภาคกลางมาถึงตอนใต้และมีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกฝรั่งกระจายทั่วไป ปลูกมากในเขตจางฮั้ว อี๋หลาน หนานโถ เจียอี้ ไถหนาน เกาสง ผิงตง ถือได้ว่าไต้หวันเป็นแหล่งพัฒนาฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง ฝรั่งแดงของไทยได้ถูกไต้หวันซื้อสิทธิบัตรไปเช่นกัน

ต้นพันธุ์
ต้นพันธุ์

ระหว่างปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2529 ไต้หวันได้นำเข้าพันธุ์ฝรั่งจากประเทศไทยหลายพันธุ์ เพราะฝรั่งมีผลใหญ่ เนื้อแน่นและกรอบไปปลูก ผลผลิตออกมาเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวัน เมื่อเวลาผ่านไปไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งขึ้นมาเรื่อยๆ โดยใช้พันธุ์ฝรั่งไทยเป็นต้นพ่อพันธุ์ต้นแม่พันธุ์ด้วยเสมอ การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เน้นความอร่อยเมล็ดมีน้อยหรือไม่มี เนื้อหนาและเนื้อกรอบ ฝรั่งพันธุ์เจินจู (珍珠 :Zhenzhu หรือ Pearl guava แปลว่า ไข่มุก) ได้รับการคัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2533 ที่เกาสง ที่พัฒนาปรับปรุงพันธุ์มาจากฝรั่งไทย ลักษณะผลกลมรี ทรงไข่ไก่คล้ายลูกแพร์ มีความหวาน 10-18 องศาบริกซ์ ไต้หวันปลูกมากเป็น อันดับ 1 จัดเป็นฝรั่งที่มีความหวานสูง

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 ฝรั่งเจินจูถูกนำเข้ามาในประเทศไทย มีนักวิชาการด้านไม้ผลของไทยท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ฝรั่งพันธุ์กิมจู น่าจะมีชื่อมาจาก พันธุ์ “เจินจู” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน และที่สำคัญฝรั่งพันธุ์กิมจู หรือ เจินจู นี้น่าจะเป็นคนละสายพันธุ์กับพันธุ์เจินจูที่ปลูกในไต้หวัน ดูจากลักษณะผลและรสชาติของพันธุ์กิมจูหรือเจินจูที่ปลูกในไทย น่าจะเป็นพันธุ์สุ่ยจิง หรือ ส๋วยจิน จึงเป็นการสับสน เป็นความเข้าใจผิดของผู้ขายกิ่งพันธุ์หรืออาจเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดก็ได้ และได้เรียกผิดเพี้ยนต่อกันมา

พันธุ์สุ่ยจิง (水晶:Shuijing หมายถึง Crystal) ปี พ.ศ. 2534 ได้คัดเลือกมาจากฝรั่งพันธุ์ไทยที่เมือง Yanchao Township เมล็ดน้อย ผลแป้นคล้ายฟักทอง มีความหวาน 7-12 องศาบริกซ์เป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำมาปลูกเป็นการค้าในไทยอย่างแพร่หลายกว้างขวาง แต่มีการเรียกชื่อฝรั่งพันธุ์สุ่ยจิงผิดไป เป็นพันธุ์เจินจู เชินจู กิมจู สุ่ยจิงรูปทรงผลแป้นค่อนข้างแบนมีการออกดอกและติดผลง่ายในบ้านเรา ไต้หวันปลูกมากเป็น อันดับ 3

ในปี พ.ศ. 2549 สถานีทดลองพืชสวน Fengshan Tropical Horticulture Experiment Branchได้ปรับพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ชื่อ ตี้หวาง (帝王: หมายถึง จักรพรรดิ หรือฮ่องเต้) หรือพันธุ์ไทนง เบอร์ 1 (Tainong No.1) ผลใหญ่ค่อนข้างกลมรูปไข่ ผิวสีเขียวอ่อน เนื้อสีขาว กรอบ สามารถเก็บไว้ได้นาน ความหวาน 9.5-11 องศาบริกซ์ ขนาดผลมีน้ำหนัก 380-450 กรัม

ปี พ.ศ. 2553 ฝรั่งสุ่ยมี่ เริ่มปรากฏ ยังไม่ทราบแหล่งข้อมูลว่าเกิดจากการพัฒนาพันธุ์จากฝรั่งสายพันธุ์อะไร และหน่วยงานใด หรือใครพัฒนามันขึ้นมา เกษตรกรชาวไต้หวันได้เริ่มขยายพื้นที่ปลูกฝรั่งสุ่ยมี่กันมากขึ้นที่เกาสง ผิงตง จางฮั้ว ไถหนาน

ฝรั่งสุ่ยมี่ มีผู้ให้ชื่อไทยว่า “ฝรั่งสายน้ำผึ้ง” หรือ “ฝรั่งแป้นไต้หวัน” มีชื่อผลไม้อีกหลายชื่อที่ผู้ขายกิ่งพันธุ์มักตั้งชื่อใหม่โดยไม่มีรากศัพท์มาจากชื่อเดิม ซึ่งควรจะเรียกชื่อพันธุ์ทับศัพท์ชื่อเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในภายหน้า หรือบางรายนำกิ่งพันธุ์จากไต้หวันมาแอบอ้างว่าปรับปรุงพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเอง และอ้างสายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์มาผสมกัน โดยแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างมาก ไม่น่าจะได้ลูกผสมใหม่ที่แตกต่างจากพ่อแม่อย่างมาก   หรืออ้างสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีกว่าอยู่แล้วเป็นต้นพันธุ์พ่อแม่

ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด ไม่ควรไปฉวยโอกาสไปเอาของเขามาเป็นของตน ผู้ขายกิ่งพันธุ์น่าละอายใจบ้างว่าได้กระทำอะไรลงไป จิตสำนึกคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ขายกิ่งพันธุ์ไทยบางรายขาดหายไปไหนหมด บางรายเป็นนักต้มตุ๋นพันธุ์ไม้ที่สื่อบางสื่อยังยอมรับโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง ยกตัวอย่าง มะม่วงโบราณ เขาบอกว่าที่สวนเขามีอยู่หลายสายพันธุ์ เขาเป็นผู้มีความรอบรู้เรื่องไม้แปลกไม้โบราณ ร้านขายพันธุ์ไม้ได้สั่งมะม่วงจากสวนของเขาเพื่อส่งให้ลูกค้าอีกที เมื่อลูกค้าซื้อมาปลูกได้ 2 ปี ออกผลมาไม่ใช่พันธุ์ดังที่สั่งซื้อ กลายเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้เกือบทั้งหมด จึงได้โทร.กลับยังร้านขายพันธุ์ไม้ ทางร้านขายพันธุ์ยอมรับว่าถูกเขาหลอกและยินดีคืนเงินให้

3ลักษณะใบของฝรั่งสุ่ยมี่ไม่ต่างจากฝรั่งพันธุ์อื่นๆ ยอดอ่อนเป็นสีขาวเป็นนวล ใบอ่อนสีเขียวอ่อนไม่ขลิบหรือขอบสีแดงที่ใบและก้าน แต่ใบค่อนจะเล็ก ใบห่อขึ้นเล็กน้อย ใบมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนกว้างสุดประมาณ 5 เซนติเมตร ความแตกต่างของทรงพุ่ม ฝรั่งสุ่ยมี่มีทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง ทรงพุ่มเป็นสีนวลเงิน ใบไม่เขียวเข้มและแน่นทึบ ต่างจากฝรั่งพันธุ์อื่น ถ้าอยู่ใกล้เคียงกันจะเห็นชัดเจน

สุ่ยมี่ มีผลทรงแป้นจะคล้ายกับ สุ่ยจิง (เจินจู ในไทย) ไม่กลมและไม่ค่อยเรียบ ผลนูนเป็นพูโดยรอบ จำนวนพูไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของผลจะนูนเป็นสันเด่นบริเวณใกล้ขั้ว ปกติพบจำนวนพูมี 4-5 พู น้ำหนักผล 500-700 กรัม ดูแลรักษาบำรุงดีๆ จะได้น้ำหนักมากกว่านี้ ผลมีขนาดกำลังดี มีเนื้อหนา เนื้อสีขาวฟู ฉ่ำน้ำ มีเมล็ดน้อยมาก เนื้อกรอบ รสหวานและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อเริ่มสัมผัสลิ้นก่อนเคี้ยวจะได้รสเปรี้ยวจางๆ เป็นรสเปรี้ยวนำจากนั้นรสจึงตามมา เคี้ยวง่ายเพราะเนื้อกรอบนุ่มฟู จะเห็นได้ว่าฝรั่งสุ่ยมี่มีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งฝรั่งพันธุ์อื่นๆ มีคุณสมบัติไม่ครบขาดหายบางอย่าง เช่น กรอบแต่ไม่หวาน หรือหวานแต่ไม่กรอบ หรือหวานกรอบแต่ไม่หอม สุ่ยมี่จึงเป็นฝรั่งที่มีคุณสมบัติเด่นๆ ครบ

การปลูกฝรั่งสุ่ยมี่ ไม่ได้ต่างจากฝรั่งทั่วไปที่ปฏิบัติกัน ควรใช้กิ่งพันธุ์จากการตอนหรือกิ่งทาบ มีข้อสังเกตระหว่างการปลูกด้วยกิ่งพันธุ์จากการตอนหรือกิ่งพันธุ์จากการทาบ กิ่งจากการตอนเจริญเติบโตได้เร็วกว่ากิ่งทาบ ทรงพุ่มขึ้นสูง ส่วนกิ่งทาบโตช้ากว่าแต่แข็งแรง กิ่งก้านแตกมาก ทรงพุ่มแผ่กว้าง

การดูแลและการบำรุงรักษาไม่ต่างจากฝรั่งพันธุ์อื่น หลังจากปลูกได้ 5 เดือน เริ่มออกดอก ควรปลิดทิ้ง เนื่องจากลำต้นยังเล็ก สะสมอาหารได้น้อย ทำให้ต้นโทรมได้ถ้าติดผล อายุได้อย่างน้อย 1 ปี จึงปล่อยให้ติดผลได้ ดอกมีสีขาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ให้ดอกดีมากจึงติดผลดก ติดดอกแทบทุกกิ่ง ให้ปลิดผลอ่อนทิ้งบ้าง การปลิดผลให้เหลือกิ่งละ 1-2 ผล เพื่อให้ผลใหญ่สมบูรณ์ ซึ่งการปลิดผลอ่อนจะเริ่มปลิดผลเมื่อผลติดแล้วโตขนาดประมาณเท่าลูกมะนาว เลือกผลที่มีรูปทรงบูดเบี้ยวไม่ได้รูปทรงหรือมีตำหนิเด็ดทิ้งไป จากนั้นจึงเริ่มห่อผล จะห่อผลฝรั่งเมื่อมีขนาดเท่าลูกมะนาวหรือหลังดอกบานแล้ว 1 เดือน การห่อผลจัดเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งได้คุณภาพผลออกมาดี รูปทรงผลดี ผิวมีสีเขียวอ่อนสวยงาม และเพื่อป้องกันศัตรูสำคัญที่ทำให้ผลฝรั่งเสียหายไม่สามารถนำมารับประทานได้

สุ่ยมี่ห่อผล
สุ่ยมี่ห่อผล

อันเกิดจากการทำลายของแมลงวันทองวางไข่ที่ใต้ผิวฝรั่งสุก (หรือระยะที่ผิวอ่อน) ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จะเจริญกินเนื้อฝรั่งเป็นอาหาร ทำให้ฝรั่งอ่อนนิ่มและเน่าเละ การห่อผล เกษตรกรไต้หวันสวมด้วยตะข่ายโฟม (ตาข่ายสวมผลไม้ป้องกันผลไม้ช้ำ) แล้วใช้ถุงพลาสติกห่อทับอีกชั้น ตาข่ายโฟมช่วยป้องกันไม่ให้ผิวผลฝรั่งติดสัมผัสกับพลาสติกจนเกิดเป็นรอยกร้านเกรียมแดดหรือรอยไหม้ ชาวสวนไทยนิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อก่อน แล้วจึงสวมถุงพลาสติกทับอีกชั้นหนึ่ง ถุงพลาสติกที่ใช้เพื่อการห่อฝรั่งโดยเฉพาะ ถุงห่อดังกล่าวมีรูระบายในตัว เกษตรกรไม่ต้องกรีดหรือเจาะรูระบายน้ำ หรือห่อด้วยถุงห่อผลไม้ ถ้าใช้ถุงห่อมะม่วงห่อบางทีผลจะใหญ่คับถุง ใช้ถุงสีขาวห่อฝรั่งจะได้ผิวสีเขียวอ่อนสวย ถ้าใช้ถุงดำภายในบุด้วยแผ่นคาร์บอนได้ฝรั่งมีผิวสีเหลืองนวลวาวสวยงามมาก แต่การห่อด้วยถุงห่อนี้มักมีมดดำเข้าไปทำรัง การห่อฝรั่งผลยังเล็กหรือเล็กกว่าหัวนิ้วโป้งจะทำให้ผลฝรั่งแห้งร่วง โดยเฉพาะถ้าใช้ถุงดำผลอ่อนจะแห้งอย่างรวดเร็ว เพราะถุงดำสะสมความร้อนไว้ภายในมาก หลังจากการห่อผลฝรั่งแล้วนับไปอีก 2 เดือน หรือ 3 เดือน ฝรั่งก็จะเริ่มแก่ใกล้เก็บผลได้เลือกผลที่แก่

การเก็บผล ควรเก็บผลที่แก่หรือกำลังห่าม อายุประมาณ 4-5 เดือน ผลที่ควรเก็บสังเกตได้จากสีและผิวของผล ระยะเก็บผลมีสีเขียวอ่อนออกเหลืองเป็นประกายวาว ผิวเต่งตึง ขั้วผลเรียวเล็กสีเขียวอ่อนตัดด้วยกรรไกร ตัดชิดขั้วผล ไม่ควรดึงออกด้วยมือ จะทำให้กิ่งก้านฉีกขาดได้

โรคผลเน่าของฝรั่งสุ่ยมี่มักพบบริเวณส่วนของผิวฝรั่งที่สัมผัสกับกระดาษห่อ ทำให้ผลเน่าช้ำ พบระบาดในฤดูฝน

 

ผู้ที่ต้องการปลูกฝรั่งสุ่ยมี่ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ คงต้องประสบปัญหาเรื่องกิ่งพันธุ์ เพราะขณะนี้กิ่งพันธุ์ยังมีจำนวนน้อยและต้องสั่งจองไว้ ราคากิ่งพันธุ์ยังค่อนข้างสูง เชื่อแน่ว่าอีกไม่นานฝรั่งสุ่ยมี่จะต้องเข้ามาแทนพื้นที่ปลูกฝรั่งเจินจูหรือสุ่ยจิงและแป้นสีทองอย่างแน่นอน…