เกษตรกรระยอง ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ เน้นคุณภาพ ลูกค้าติดใจรสชาติ ผลผลิตไม่ทันขาย

ปัจจุบัน เกษตรกรทั้งรายใหม่และรายเก่า ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมากขึ้น โดยเน้นผลิตสินค้านำตลาดที่สามารถจำหน่ายได้แน่นอน ส่งผลให้พืชที่ปลูกออกมาแต่ละรอบการผลิตไม่ล้นตลาด แถมยังจำหน่ายได้ราคา จึงมีผลกำไรไม่เกิดหนี้สินทำเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน

คุณพศิณ พิมมะรัตน์ เป็นเกษตรกรที่ได้เรียนรู้การผลิตสินค้านำตลาด โดยปลูกมะเขือเทศเชอรี่ให้มีคุณภาพ เป็นพืชปลอดสารพิษ พร้อมทั้งใช้ปุ๋ยชีวภาพเสริมในเรื่องของการเจริญเติบโต ทำให้มะเขือเทศเชอรี่ทุกผลมีรสชาติดี และที่สำคัญตลาดมีความต้องการผลผลิตที่เขาปลูก จนบางช่วงสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการเลยทีเดียว

มะเขือเทศเชอรี่สีเหลือง

อยากทำงานด้านการเกษตร

โดยมีแรงบันดาลใจจาก ในหลวง ร.9

คุณพศิณ เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักที่ทำอยู่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานเกษตรเลยแม้แต่น้อย และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีโอกาสได้ดูสารคดีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 เห็นพระองค์ท่านทรงงานและมีโครงการที่เกี่ยวกับด้านการทำเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจว่างานด้านเกษตรนี้เป็นเหมือนอาชีพหลักของคนไทย ทำให้เริ่มมีความสนใจและอยากเรียนรู้การทำเกษตรมากขึ้น จึงได้เข้าอบรมและศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาทำเกษตรในพื้นที่บ้านของเขาเอง

มะเขือเทศเชอรี่สีแดงคัดไซซ์เตรียมส่งลูกค้า

“พอเรามีเวลาใครชวนไปอบรมในเรื่องอะไร เราก็จะไปเพื่อศึกษาหาองค์ความรู้ ช่วงแรกๆ มีโอกาสไปเรียนรู้การปลูกพืชแบบอินทรีย์ พอเสร็จแล้วเราก็นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับพื้นที่บ้านของเรา มาปลูกพืชแบบอินทรีย์ ช่วงแรกๆ ปลูกผักถึง 22 ชนิด การดูแลค่อนข้างมีปัญหา ต่อมาได้ปรับเปลี่ยน ปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ อย่าง มะเขือเทศเชอรี่ เราก็ปลูกอยู่และได้รสชาติที่ดี จึงได้หันมาปลูกมะเขือเทศเชอรี่อย่างเดียว และปลูกให้มีคุณภาพ ปัจจุบัน ทำให้พืชตัวนี้เป็นสินค้าหลักของสวนเรา และลูกค้ามีความต้องการสูง” คุณพศิณ เล่าถึงที่มาของการทำเกษตร

มะเขือเทศเชอรี่ จึงเป็นพืชหลักของเขา ที่ส่งจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้าและลูกค้าที่มาติดต่อขอซื้อเพียงอย่างเดียว โดยทำสินค้าให้มีคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือเรียกง่ายๆ ว่าหากจะรับประทานมะเขือเทศเชอรี่ที่อร่อยต้องมาซื้อที่นี่เพียงที่เดียว

ผลสวยรสชาติอร่อยมีเอกลักษณ์

 ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี

เพื่อบำรุงต้นมะเขือเทศ

ในเรื่องของการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ให้ได้คุณภาพนั้น คุณพศิณ บอกว่า หากมีการจัดการที่ดีมะเขือเทศเชอรี่ก็ไม่ใช่พืชที่ปลูกยากอย่างที่คิด โดยที่สวนของเขาเน้นปลูกแบบปลอดสารพิษ มีการสร้างโรงเรือนและปลูกพืชอยู่ภายใน จึงทำให้ไม่มีแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลาย ซึ่งโรงเรือนมีขนาดอยู่ที่ 7×15 เมตร ความสูงอยู่ที่ 3 เมตร หลังคาโรงเรือนคลุมด้วยพลาสติก ความหนา 150 ไมครอน และด้านข้างล้อมด้วยตาข่ายกันแมลงทั้งหมด

คุณพศิณ พิมมะรัตน์

“ก่อนที่จะนำต้นมะเขือเทศเชอรี่มาปลูกในโรงเรือน จะเพาะกล้าแยกไว้ก่อน พอกล้ามีอายุได้ประมาณ 20 วัน ก็จะนำเข้ามาปลูกภายในโรงเรือน ปลูกลงในวัสดุปลูก วางได้ 4 แถว หรือทั้งหมดประมาณ 140 ต้น ต่อ 1 โรงเรือน โดยการให้น้ำทั้งหมด จะเน้นเป็นระบบน้ำหยด วันละ 1 ครั้ง แต่ช่วงที่ปลูกในโรงเรือนใหม่ๆ 45 วันแรก ต้องรดน้ำด้วยสายยางเข้ามาช่วย เพราะช่วงนี้ต้องการน้ำปริมาณมาก และจะทำให้รากมะเขือเทศกระจายได้ทั่ววัสดุปลูกอีกด้วย” คุณพศิณ บอก

น้ำหมักชีวภาพ

เมื่อต้นมะเขือเทศเชอรี่เริ่มมีความแข็งแรง จะจับยอดให้เลื้อยขึ้นกับหลักที่เตรียมไว้ จากนั้นฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพทุก 3-4 วันครั้ง ให้ทั่วบริเวณโรงเรือนเพื่อบำรุงทางใบ ส่วนธาตุอาหารทางรากจะใส่จุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ดูแลอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนมะเขือเทศเชอรี่ได้อายุ 60-70 วัน พืชจะเริ่มออกดอก หลังจากนั้นอีก 1 เดือน จะมีผลผลิตให้เก็บจำหน่ายได้

ซึ่งผลผลิตที่ออกมาสามารถเก็บจำหน่ายได้เกือบทุกวัน เป็นเวลานานถึง 3 เดือน หลังจากนั้นจะรื้อต้นเก่าทิ้งและเริ่มปลูกใหม่ในรุ่นต่อไป

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคในมะเขือเทศเชอรี่นั้น คุณพศิณ บอกว่า จะใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อไตรโคเดอร์ม่า และอื่นๆ อีกหลายชนิด เพื่อเป็นการป้องกันโรคและแมลง จะไม่มีการใช้สารเคมีเด็ดขาด เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ปลูกมะเขือเทศเชอรี่มา การใช้สารเคมีส่งผลต่อรสชาติของมะเขือเทศให้เปลี่ยนไป มีรสสัมผัสที่ไม่อร่อยคงเดิม

มะเขือเทศเชอรี่ที่ให้ผลผลิต

ส่งห้างสรรพสินค้า

และมีลูกค้าซื้อถึงหน้าสวน

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายมะเขือเทศเชอรี่ คุณพศิณ บอกว่า เกิดจากช่วงแรกที่มีลูกค้าได้มาซื้อผักอินทรีย์ภายในสวน และได้ลองรับประทานมะเขือเทศเชอรี่และติดใจในรสชาติ ก็ยังเป็นลูกค้าประจำซื้อขายกันอยู่เสมอ และลูกค้าบางส่วนเกิดจากการบอกกันไปปากต่อปาก จึงทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงมะเขือเทศเชอรี่ที่ผลิตในสวนมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

พื้นที่ภายในโรงเรือน

“โดยการปลูกเราก็จะวางแผนให้มีผลผลิตต่อเนื่อง ขั้นต่ำที่ส่งจำหน่าย อยู่ที่ 50-100 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ โดยผลผลิตแต่ละครั้งจะค่อนข้างพอดี ตามแผนที่วางไว้ จะไม่ผลิตเกินต่อความต้องการ ดังนั้น เราจึงไม่มีของเหลือหรือเกินอายุส่งให้ลูกค้าแน่นอน ราคามะเขือเทศเชอรี่สีแดง ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนสีเหลือง ขายที่กิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งการเก็บแต่ละครั้งก็จะนำมาคัดไซซ์อีกครั้ง เพื่อให้ได้ขนาดผลเล็ก ผลกลาง และผลใหญ่ ตามความชอบของลูกค้าแต่ละคน” คุณพศิณ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรเป็นอาชีพสร้างรายได้นั้น คุณพศิณ แนะนำว่า ให้เลือกพืชชนิดใดก็ได้ที่ตลาดนิยม แต่ต้องมีการปลูกให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ พร้อมทั้งหมั่นศึกษาและทดลองลงมือทำด้วยตนเองอยู่เป็นประจำ ช่วยให้เกิดเป็นประสบการณ์และความชำนาญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพ และจำหน่ายได้ราคาดี เกิดเป็นอาชีพที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง

ระบบน้ำหยด

สนใจศึกษาดูงานและปรึกษาเรื่องการปลูกมะเขือเทศเชอรี่แบบคุณภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพศิณ พิมมะรัตน์ ณ ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง หมายเลขโทรศัพท์ 081-410-4101