แนะ ปราบ 2 เพลี้ย ในมะม่วงหิมพานต์

ระยะนี้ต้นมะม่วงหิมพานต์เริ่มเข้าสู่ช่วงต้นแทงช่อดอก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงหิมพานต์เฝ้าระวังในช่วงที่มีสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิลดต่ำลง และมีแดดแรงในเวลากลางวัน ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง สำหรับเพลี้ยไฟ มักพบการเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงต้นมะม่วงหิมพานต์ในระยะแตกยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ยอดอ่อนหงิกงอหรือแห้งตาย หากระบาดรุนแรง จะส่งผลให้ช่อดอกไหม้เป็นสีดำ และไม่ติดผล กรณีติดผลแล้วจะทำให้ผลร่วงหล่นได้

เมื่อพบการระบาดในช่วงที่ต้นมะม่วงหิมพานต์เริ่มแทงช่อดอกหรือก่อนดอกบาน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา–ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

ส่วนการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ช่อดอก และช่อผล ส่งผลให้ราดำมาเจริญอยู่บริเวณนั้น ทำให้ใบร่วง ช่อดอกไม่ติดผล และผลแคระแกร็น กรณีที่มีปริมาณมาก มักพบเพลี้ยแป้งเกาะเป็นกระจุกที่ลำต้น และอยู่ร่วมกันกับมด โดยมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของต้นมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งมดอาศัยน้ำหวานจากเพลี้ยแป้งที่ถ่ายออกมา

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจยอดอ่อนและช่อดอกอยู่เสมอ หากพบกลุ่มเพลี้ยแป้งเป็นปุยสีขาว และเริ่มมีราดำเกิดขึ้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงพิริมิฟอส–เมทิล 50% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นป้องกันกำจัด 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เพราะตัวอ่อนหลบอยู่ใต้ท้องตัวเต็มวัยเพศเมียอาจยังไม่ตายจากการพ่นครั้งแรก หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร