สมทรง อุตมา สาวแพร่ ทำสวนส้มเขียวหวานอินทรีย์ มาตรฐานระบบ PGS

“แรกๆ ก็เคยลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ว่าการทำสวนส้มเขียวหวาน ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ผลผลิตตลอดทุกปีแล้วก็ทุกฤดูกาล พอทำได้แล้ว… ทำอย่างไร จะทำให้ลดต้นทุน พอทำได้แล้ว… ทำอย่างไร ถึงจะหลุดพ้นสารเคมี แล้วจะเอาอะไรมาทดแทนสารเคมี พอเราทำได้ทุกคำพูดจึงบอกต่อแนะนำผู้อื่น แนวคิดนี้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง จากผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ก็คิดได้และทำได้ แค่นี้อาจจะมีคนเห็นด้วย และมีคนเห็นต่างจากแนวคิดของเรา”

คำกล่าวอันเฉียบคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเป็นขั้นเป็นตอน จากการตั้งใจทำงาน จริงใจ ในการสร้างจิตสำนึกผลิตส้มเขียวหวานที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคของ คุณสมทรง อุตมา สาวแพร่คนเก่ง

คุณสมทรง อุตมา

คุณสมทรง อุตมา อายุ 49 ปี ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 135/1 หมู่ที่ 4 บ้านวังลึก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 093-045-9021 สามี คุณมีชัย อุตมา มีลูกชาย 2 คน คนที่ 1 น้องจักรพงษ์ อุตมา จะเป็นคนที่รับไม้ต่อการทำเกษตรของครอบครัว มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำเกษตร ได้รับการคัดเลือกให้ไปฝึกอบรมด้านการเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี เพื่อฝึกงานฟาร์ม หาประสบการณ์ด้านการเกษตร การบริหารจัดการฟาร์มและการตลาด ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับสมาคมแลกเปลี่ยนยุวเกษตรนานาชาติ หรือ JAEC (The Japan Agricultural Exchange Council) ส่วนลูกคนที่ 2 ไปทำงานที่ต่างจังหวัด

ผลผลิตจากสวนส่งตลาด

คุณสมทรง มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานทั้งหมด 14 ไร่ ลงมือปลูกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 แรกเริ่มเดิมทีเป็นสวนส้มเขียวหวานที่เป็นแปลงปลูกแบบธรรมชาติ 3 ปี ต่อมาต้องการผลผลิตมากๆ เหมือนคนอื่นเขา หันมาใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช/โรค/แมลง พบปัญหาต้นส้มเขียวหวานมีอาการรากเน่า ต้นโทรม ใบเหลือง ต้องปลูกทดแทนไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคนในครอบครัวมีปัญหาด้านสุขภาพ

มีเหตุต้องหันหลังให้กับสารเคมี

คุณสมทรง เผยเบื้องหลังว่า เหตุจากสุขภาพของสามีต้องไปรักษาตัว เพราะตรวจพบสารพิษ คาดว่าน่าจะมาจากการฉีดพ่นสารเคมีในสวนส้มเขียวหวาน รวมทั้งสายตาก็มีปัญหา ต้องรักษาตัวอยู่นาน ตนเองจึงพยายามแสวงหาวิธีการอื่นๆ มาทดแทนการใช้สารเคมี ก็ไปประชุม อบรมอยู่บ่อยๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไปเข้าอบรมร่วมกับกลุ่ม Smart Farmer จัดโดย ส.ป.ก. เขาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ การผลิต และใช้น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง การตลาดทันยุคผ่านการใช้สื่อออนไลน์ การทำเกษตรให้สุขใจ

ออกงานเทศกาลส้มวังชิ้น

เมื่อได้รับหัวเชื้อราบิวเวอเรีย ไตรโครเดอร์ม่า และเชื้อบีที นำมาทดลองผลิตขยายเชื้อ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสมุนไพร นำไปฉีดพ่นร่วมกับน้ำส้มควันไม้ในสวนส้มเขียวหวานเป็นระยะๆ 10 วันบ้าง 15 วันบ้าง แล้วทิ้งช่วงระยะเวลาห่างเพื่อเฝ้าดูการระบาดของศัตรูต้นส้มเขียวหวานว่ามีหรือไม่ ใช้เวลาปฏิบัติการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นหักดิบงดใช้เด็ดขาด หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมู ซึ่งพบว่าประหยัดต้นทุนไปได้มากทีเดียว

แสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำเกษตรอินทรีย์

“เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปสุขภาพของสามีดีขึ้น เมื่อห่างไกลสารเคมี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพของสามี เพราะฉีดพ่นสารเคมีอยู่บ่อยๆ” คำปรารภของคุณสมทรง

ใช้ บีที และบิวเวอเรีย กำจัดศัตรูส้มได้ผลดี

คุณสมทรง บอกว่า ก็พยายามศึกษาหาความรู้ไปเรื่อยๆ ทาง ส.ป.ก. ชวนไปเข้าร่วมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ชวนลูกชายไปด้วย ไปฟังซิว่าเขาจะพูดเรื่องอะไร ในเวทีเขาเรียกกันว่า กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน

“แรกๆ ก็ไม่รู้หรอก…มันคืออะไร เรียกสั้นๆ เกษตรอินทรีย์ PGS ตามที่เราเข้าใจ ได้แต่ฟังเขาเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดการทำเกษตรด้วยวิธีโน่น นั่น นี่ พอฟังๆ ไปแล้ว มันน่าจะเป็นคำตอบของการทำส้มเขียวหวานอินทรีย์ของเรา” คุณสมทรงกล่าว แล้วก็ได้รับเชิญให้ร่วมกลุ่ม เพราะมีเป้าหมายก็เพื่อต้องการแสวงหาความรู้การทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ก็เลยเข้าร่วมกลุ่มกับเขามาจนถึงปัจจุบัน คุณสมทรง ย้ำว่า วิธีการที่ตนเองทำกับสวนส้มเขียวหวานที่พูดคุยกันในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น ตนเองก็ทำมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้สรุปว่านั่นเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ แล้วก็ไม่มีอะไรมารองรับหรือรับประกัน “ถ้าเราฟังอย่างเดียว ไม่ลงมือทำ ไม่ใส่ใจ ไม่ดูแล ไม่ปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการ ก็ไม่สำเร็จ”

สีสวยส้มสีทอง

คุณสมทรง บอกว่า ก็พยายามพัฒนา ปรับปรุงเพื่อให้เข้ากันกับหลักเกณฑ์ของกลุ่ม แต่เมื่อนำระบบ PGS มาใช้ระยะหนึ่งก็จะมีผู้มาติดตามประเมิน มาตรวจแปลง แบบไม่แจ้งให้รู้ล่วงหน้า

คุณสมทรง ได้พัฒนาปรับปรุงสวนส้มเขียวหวานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS ในหลายๆ เรื่อง และเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ เมื่อหันมาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าต้นส้มเขียวหวานได้กลับฟื้นคืนความงดงาม เติบโต เชื้อโรคต่างๆ อันไม่พึงประสงค์ของต้นส้มเขียวหวานหายไป เช่น เชื้อรา ใบซีดเหลืองจนต้นโทรม ยางไหลจากลำต้นหายไป จนไม่พบหนอนเจาะลำต้นอีก ใบส้มกลับกลายเขียวขึ้นดูงาม ต้นที่มีอายุมากแล้ว ก็ยังให้ผลผลิตที่ดี ผลดกจนต้องปลิดผลทิ้งไปบ้าง ดูสภาพดินอุดมสมบูรณ์ มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อรากของต้นส้ม

คัดเกรด ทำความสะอาดเพื่อส่งขาย

“ผลผลิตที่ออกขายสู่ตลาด คนซื้อส้มก็ถูกใจ ยอมรับผลผลิต แม้ผิวส้มจะไม่สวยมากนัก แต่ไม่มีใครต่อรองราคา เพราะบอกเขาตรงๆ ว่าไม่ได้ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี มิได้หลอกลวงเขา ใช้ความจริงใจ มีใบรับรองให้ดู แต่ที่สำคัญครอบครัวมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดีขึ้น มีความสุข หายใจได้เต็มปอด กินส้มในสวนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องระแวงเหมือนเมื่อครั้งที่ใช้สารเคมี”

วิธีการปฏิบัติดูแล

ภายในแปลงส้มเขียวหวาน ด้วยความสุขใจ

คุณสมทรง สาวแพร่ทำเกษตร สาธยายให้ฟังว่า หากวันใดไม่มีภารกิจนอกบ้านก็จะต้องเข้าไปดูแลสวนส้มเขียวหวาน

ใส่กล่องส่งขาย

“มีงานให้ทำทุกวัน ทำแบบไม่เร่งรีบ ไม่หักโหม งานที่ดูแลอยู่ ก็สังเกตแมลงศัตรูส้ม ดูการเข้าทำลายของโรค ถ้าพบก็จะใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพไว้ ปลิดผลส้มที่ไม่สมบูรณ์ต้นที่ติดผลดกมากเกินไป  ไม่ให้หญ้าขึ้นรกรุงรัง เปิดน้ำให้ต้นส้มด้วยสปริงเกลอร์ น้ำที่ใช้สูบขึ้นจากสระที่ไม่มีสารพิษเจือปน”

การให้ปุ๋ยกับต้นส้มเขียวหวาน คุณสมทรง บอกว่า ใส่เพียงปีละครั้งเท่านั้น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูแห้ง หมูเลี้ยงเอง เลี้ยงแบบอินทรีย์ ใส่ต้นละ 1 ถุง (ถุงอาหารสัตว์) ประหยัดต้นทุนได้มากทีเดียว แต่ดินตรวจดูคุณภาพก็ยังมีธาตุอาหารที่จำเป็นแก่ส้มอย่างสมบูรณ์ มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อยู่ในดิน นอกจากนั้นก็ดูแนวกันลมที่เป็นแนวต้นไผ่ ปลูกไว้เป็นด้านๆ ไป

น้ำส้มคั้น

“อยู่บ้านก็ทำบันทึกต่างๆ อย่างวันนี้เข้าสวนส้ม ทำอะไร… พ่นฮอร์โมนที่ผลิตใช้เอง พ่นสมุนไพร พบอะไรก็บันทึก บันทึกบัญชีฟาร์ม ต้นทุนต่างๆ” คุณสมทรง กล่าว

ขายส้มเขียวหวาน

ผ่านสื่อออนไลน์ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ  

เมื่อกล่าวถึงการขายส้มเขียวหวาน คุณสมทรง เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาส้มเขียวหวานที่สวนยังได้ราคาไม่สูงนัก เลยหาวิธีการขายด้วยการใช้สื่อออนไลน์ ทางไลน์ หรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมในสวนส้มให้เห็น          ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อ หญิงแพร่ทำเกษตร ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 60 บาท

กับบุตรชาย

“สั่งซื้อมาก็แพ็กใส่กล่อง เช็ดทำความสะอาดผิวส้ม ไม่ได้ใช้แว็กนะ จากนั้นปิดกล่อง ส่งทางไปรษณีย์ไปให้”

อีกทางหนึ่งคุณสมทรงว่า คั้นน้ำส้มสดๆ บรรจุขวดแช่เย็นขาย หรือส่งตามที่เขาสั่งซื้อ หากปริมาตร 250 ซีซี ขายขวดละ 20 บาท คุณสมทรง ย้ำว่าไม่มีสิ่งเจือปนหรือส่วนผสมใดๆ ในน้ำส้มคั้นเป็นอันขาด

ณ วันนี้ แปลงส้มเขียวหวานของคุณสมทรงได้รับหนังสือสำคัญรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGS PGS ประเภทการรับรองระยะปรับเปลี่ยน

น้ำหมักชีวภาพ

หากกล่าวถึงมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการขับเคลื่อนส่งเสริมกันอยู่ในการรับรองผลผลิตและมอบฉลาก หรือเครื่องหมายต่างๆ ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้ผลิตนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น มั่นใจถึงความปลอดภัยของสินค้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้ แต่ในชุมชนชนบทนั้นการซื้อหาพืชผักเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน มักจะไม่ได้คำนึงถึง หรือขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจหาสารตกค้าง จะมีวิธีการใดที่จะเปลี่ยนวิธีการบริโภคของคนในชุมชนนั้นๆ ในเรื่องความปลอดภัยทั้งของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือคนทั่วไป ต่างให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ว่าผลผลิตทางการเกษตรนั้นปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็สามารถเข้าไปดู เยี่ยมชมกระบวนการผลิต หรือเชิญผู้มีความรู้ไปให้ความกระจ่างในขั้นตอนต่างๆ

PGS : การรับรองมาตรฐานผู้ผลิต

ตามหลักการและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

จากการที่คุณสมทรงได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS นั้น PGS ชื่อเต็มคือ Participatory Guarantee System ซึ่ง ส.ป.ก. ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ Green net นำมาใช้ โดยใช้มาตรฐาน IFOAM ร่วมกับระบบการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม เป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ผลผลิตดกมาก

PGS เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่งที่เป็นการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม โดยองค์กรของผู้ผลิตเอง หรือผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ถือว่าเป็นระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่นที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วเกิดการขยายผลที่มีประสิทธิภาพ เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

PGS เป็นการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ เพราะมีหลักการ มีองค์ประกอบ มีรูปแบบที่ชัดเจน มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะในเรื่องการมีกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สามารถละลายพฤติกรรมของเกษตรกรจากประสบการณ์เดิมๆ สู่แนวคิดวิธีการใหม่ๆ สู่การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต และคุณภาพชีวิตของคนและชุมชน

ในประเทศไทยเท่าที่มีข้อมูล มีเกษตรกรกลุ่มนำร่อง เฉพาะในภาคเหนือ ใช้ระบบ PGS มาดำเนินการอยู่ อย่างเช่น สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่มอก ลำปาง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ศรีเทพ เพชรบูรณ์ (รายละเอียดท่านสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์)

สุดท้ายของการสนทนา คุณสมทรง อุตมา สาวแพร่ทำเกษตรคนเก่ง บอกความในใจว่า “จากแนวคิดของเราตั้งแต่ต้น สามารถชี้ชัดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างมีเหตุมีผล การปฏิบัติของเราจะส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในการทำเกษตรอินทรีย์ และนำมาสู่พลังที่เข้มแข็ง ดังนั้น ครอบครัวเราจะจับมือร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์ให้ก้าวหน้าและยั่งยืน”

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564