ข้าราชการบำนาญ ทำไร่นาสวนผสม ปลูกกล้วยเลี้ยงวัวเอื้อประโยชน์ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ใส่กล้วยหอมทองได้ผลดี สร้างรายได้งาม

ครูเปลื้อง เกษตรสิงห์ ข้าราชการบำนาญ วัย 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 234 หมู่ที่ 7 บ้านโนนหมากแงว ตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โทร. (093) 269-7690 ปัจจุบัน อยู่กับภรรยา มีลูกชาย 2 คน เป็นนายแพทย์ด้านกระดูก ที่โรงพยาบาลโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนอีกคน ทำงานด้านเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ

หลังเกษียณอายุราชการ ครูสนใจประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง โดยเข้าเป็นสมาชิกโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร เลี้ยงโคลูกผสมชาร์โรเล่ส์ กับอเมริกันบราห์มัน

ในพื้นที่ 15 ไร่ แบ่งเป็นโรงเรือนเลี้ยงวัว 3 ไร่ แปลงหญ้า 3 ไร่ บ่อน้ำและคันบ่อปลูกหญ้า 3 ไร่ ปลูกกล้วยหอมทอง 1 ไร่ บ้านพักอาศัย 1 ไร่ โรงเรือนเก็บหญ้าแห้ง ฟางแห้ง โรงสีข้าว เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว เครื่องบดหญ้าสด 1 ไร่ ที่เหลือเป็นที่ว่างเปล่าให้วัวเดินเล่น ออกกำลังกาย และป่าไม้ใช้สอย ไม้ธรรมชาติ

ครูเปลื้อง เล่าให้ฟังว่า งานเกษตรหลังเกษียณสนุกมาก เพราะหลังจากวางกล่องชอล์กจากความเป็นครู ทำงานในฟาร์ม เป็นเรื่องใหม่ ทำให้ตนเองศึกษาไปเรื่อยๆ ทั้งด้านการปฏิบัติ ด้านวิชาการ ไม่เหงา ทำงานกับภรรยา แรงงานจ้างบ้างเมื่อยามจำเป็น โคขุน สร้างเงินงามมาก ปุ๋ยมูลโคที่ตากแห้ง หมัก ตามกระบวนการโดยมีคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด และจาก คุณอนัญทยา ลาศา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลน้ำคำ ได้ปีละ 2,000 กระสอบ กระสอบละ 250 บาท เป็นเงิน 500,000 บาท เป็นเรื่องที่น่า “ทึ่ง” มากๆ (ขายขี้วัว)

วัวขุนชาร์โรเล่ส์ ขายปีละ 8-10 ตัว ราคาเฉลี่ย 120,000 บาท ปีละ 1,200,000 บาท วัวในเกษตรสิงห์ฟาร์ม หมุนเวียน 15-30 ตัว ต่อเติมข้างโรงเรือนเลี้ยงโคขุน เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่งวง นกกระทาไว้กินไข่และขาย วันละ 40-50 ฟอง นอกจากนี้ยังมีเลี้ยงแพะพันธุ์นม

โคขุน
แพะนม

ครูเปลื้อง บอกว่า ภาคภูมิใจมากที่มีฟาร์มวันนี้ จากการเริ่มต้นทำไร่นาสวนผสมมาดำเนินการภายในฟาร์ม อยู่อย่างเกื้อกูลกัน มูลโค เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ใส่กล้วยหอมทอง 600 ต้น สมบูรณ์มาก 5-7 หวี หวีขนาดใหญ่ น่ารับประทาน 600 เครือ ต่อปี ขายเครือละ 150 บาท รายได้ 80,000-100,000 บาท ขายหน่อกล้วย 35 บาท/หน่อ จากกอละ 3-5 หน่อ เป็นรายได้ที่ดีมาก ปีละ 50,000-60,000 บาท

งานกล้วยๆ ที่สามารถทำเงินแสนให้ครอบครัว เป็นแปลงปลูกกล้วยหอมทองพันธุ์ดีจากจังหวัดเพชรบุรี ซื้อมาหน่อละ 30 บาท 400 หน่อ ปลูกระยะ 2×2 เมตร

แหล่งน้ำ

ครูเปลื้อง เล่าให้ฟังว่า หากเตรียมหลุมดี ใส่ปุ๋ยคอกเพียงพอ คือ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 คือ ดิน มูลโค แกลบเผาหรือปุ๋ยคอกเท่าๆ กัน ช่วงระหว่าง 5-6 เดือน เสริมปุ๋ยคอกเข้าไปอีก 1-2 บุ้งกี๋ ระบบน้ำเป็นน้ำหยด ชุ่มชื้นตลอดเวลา กล้วยสวยงามตลอดระยะการเจริญเติบโต หน่อกล้วยเกิดขึ้นมาจำนวนมาก พยายามใช้เสียมสับๆ ให้สั้นเข้าไว้ อย่าให้เจริญเติบโต เรียกว่ามาต้นแม่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ถึงเวลาครบอายุตัดกล้วย ตัดให้ต้นสูง 2 เมตร เพื่อให้เลี้ยงต้นลูกหรือหน่อกล้วย  จากนั้นเลือกต้นที่อยู่ห่างจากต้นแม่มากที่สุด เพื่อป้องกันการขึ้นโคน เพื่อดูแลเพียงต้นเดียว นอกจากนั้น ขุดออกเพื่อจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ให้เกษตรกรทั่วไป ต้นละ 35 บาท หลุมละ 5-8 หน่อ 150-200 บาท เป็นรายได้ที่งดงาม ข้อสำคัญอย่าแยกหน่อกล้วยขณะที่กำลังมีเครือกล้วยหรือหวีกล้วยยังอ่อน จะกระทบต่อผลผลิต กล้วยลูกเล็ก เพราะอาหารไม่เพียงพอ

ผลผลิตข้าว

ครูเปลื้อง เกษตรสิงห์ บอกว่า ที่นี่เป็นกล้วยอินทรีย์ล้วนๆ ครับ

นอกจากนี้ มีการผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ชั้นพันธุ์หลัก จากศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ด ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีสู่ชาวนาอย่างมีคุณภาพ จากเมล็ดข้าว กิโลกรัมละ 10 บาท ผลิตเมล็ดพันธุ์ขายได้ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ปีละ 25,000-30,000 กิโลกรัม มีที่ปรึกษาจากกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ โดย คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอ มอบหมายให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์ขยายหรือศูนย์เครือข่ายของตำบลน้ำคำ

ครูเปลื้อง กล่าวว่า “ผมคือครูติดแผ่นดิน” ต้องเป็นครูตลอดชีวิต ที่นี่คือฟาร์มของเกษตรกร เป็นแหล่งศึกษาของเกษตรกรทุกๆ คน ด้าน ดิน น้ำ พืช สัตว์ ประมง แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เชื่อมโยงสู่การตลาด โดยเน้นสินค้าการเกษตรปลอดภัย สู่การเกษตรอินทรีย์

ด้าน คุณเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นนโยบายของรัฐบาล คุณสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ดส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบ ศพก. ให้เป็นศูนย์ฯ มีชีวิต ห้ามเป็นโชว์รูม สามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง อำเภอสุวรรณภูมิ อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มี คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างมีศักยภาพ พร้อมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน พื้นที่ในทุ่งกุลาร้องไห้ 10 ตำบล 136 หมู่บ้าน เกษตรกร 21,000 ครัวเรือน เป้าหมายสูงสุดของการทำงานคือ “เกษตรกรกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด เกษตรกรมีความสุข”