สวนแสงประทีป กาญจนบุรี ปลูก-จำหน่าย ผัก-ผลไม้ ออร์แกนิก

คุณแสง หรือ คุณแสงประทีป ผิวสำลี เคยทำงานเป็นพนักงานประจำ มีความตั้งใจเกษียณตัวเองก่อนกำหนดเพื่อเข้าสู่วงการเกษตรกรรมตามที่ชื่นชอบ เพราะมองว่าร่างกายยังพร้อมลงแรง จึงปรับพื้นที่ทำนากว่า 5 ไร่ ให้กลายเป็นสวนผสมเดินหน้าทำกิจกรรมเกษตรหลายชนิดเคียงคู่คุณหนึ่ง สามี ในชื่อ “สวนแสงประทีป” ตั้งอยู่เลขที่ 5/4 หมู่ที่ 7 ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เน้นปลูกพืชผัก ผลไม้แนวอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจในพื้นที่ แล้วยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมพร้อมเลือกซื้อผลผลิตต่างๆ ได้อย่างสบาย

กล้าเมล่อนที่จะปลูกรุ่นต่อไป

ก่อนหน้านี้คุณหนึ่งทำเกษตรกรรมหลายอย่างและการเข้ามาดูแลสวนผสมครั้งนี้ จึงเป็นการนำประสบการณ์มาขยายผลอย่างเป็นระบบ แล้วพืชตัวแรกที่ปลูกคือ อินทผลัม ซึ่งมีต้นตัวเมีย จำนวน 100 ต้น เป็นพันธุ์บาฮีเนื้อเยื่อ กับต้นตัวผู้ จำนวน 130 ต้น มาจากการนำเมล็ดอินทผลัมที่จำหน่ายทั่วไปมาเพาะต้น แต่จาก จำนวน 130 ต้น กลับมีต้นตัวผู้เพียง 100 ต้น และตัวเมีย 30 ต้น ก็ดีใจที่ได้ตัวเมียเพิ่ม แต่ผลปรากฏว่าพอมีลูกแล้วขาดคุณภาพ รับประทานไม่ได้

“จากเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นผืนนา แล้วปรับมาปลูกด้วยการถมดินขุดหลุมปลูกอินทผลัมลึก 50 เซนติเมตร กว้าง 60 เซนติเมตร ก้นหลุมใส่ขี้วัวประมาณครึ่งกระสอบ ช่วงสะสมอาหารใส่ปุ๋ยเม็ดผสมกับดินขี้ค้างคาวต้นละกิโลกรัม รอบต้นห่างประมาณ 70 เซนติเมตรหรือแนวทรงพุ่ม แล้วใส่ขี้ไก่เล็กน้อยในช่วงแตกขนนก แต่ที่สำคัญคือน้ำต้องสม่ำเสมอ ไม่ชุ่มท่วมขัง ที่สวนใช้สปริงเกลอร์”

เตรียมแปลงแบบรางดินบนพื้นซีเมนต์

ลักษณะพื้นที่ปลูกอินทผลัมของสวนนี้เป็นพื้นที่ราบ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดจึงใช้ระยะปลูกประมาณ 5 เมตร คูณ 5 เมตร อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นมือใหม่ แต่คุณหนึ่งประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยาก ได้ผลผลิตรุ่นแรกอย่างมีคุณภาพดีมาก มีรสหวาน กรอบ หากต้นไหนมีความสมบูรณ์มากก็จะได้ผลผลิตต้นละ 8-12 ช่อ ช่อละประมาณ 10 กิโลกรัม

“ตัวเองไม่มีประสบการณ์หรือแม้แต่รู้จักกับอินทผลัมมาก่อนเลย ดังนั้น การปลูกครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตาม ได้แสวงหาความรู้จากเอกสารตำราหรือแม้แต่เปิดในเน็ต หรือสอบถามคนในกลุ่มที่มีประสบการณ์ปลูกอินทผลัม ทั้งยังเห็นว่าเป็นผลไม้ที่ปลูกแล้วสามารถเก็บผลผลิตขายได้ต่อเนื่อง แล้วถ้ายิ่งดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ นอกจากจะขายในประเทศ ยังขายตลาดต่างประเทศ”

แถวซ้ายเป็นการปลูกในรางดิน ส่วนแถวขวาปลูกในถุง โดยปลูกในโรงเรือนที่ใช้พื้นดิน

ระหว่างเวลา 5 ปี ที่ต้องรอผลผลิตอินทผลัม คุณแสงกับคุณหนึ่งตกลงแล้วเห็นพ้องกันว่า ควรจะหารายได้ด้วยการเพาะ-จำหน่ายเห็ด เพื่อนำมาใช้หมุนเวียน เห็ดที่เพาะขายมีจำนวนหลายพันธุ์ ได้แก่ หูหนู นางรมฮังการีสีขาว นางรมสีดำ ภูฏาน โคนญี่ปุ่น

“เรื่องการเพาะเห็ดขายนั้นในตอนแรกไปซื้อก้อนเห็ดมาเปิดดอกขายเอง แต่ไม่ดีนัก เนื่องจากคุณภาพก้อนเห็ดไม่สมบูรณ์ส่งผลต่อคุณภาพดอกเห็ด ตลอดจนอายุการเก็บเกี่ยว ทำให้ตัดดอกเห็ดขายได้จำนวนน้อยครั้ง รายได้ก็ไม่มาก ดังนั้น จึงตัดสินใจผลิตก้อนเห็ดเอง เพาะเลี้ยงและขายเองทั้งหมด เป็นการผลิตเห็ดที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดสารเคมี ผลผลิตเห็ดนำไปขายให้แก่ผู้ค้าในตลาดท่าเรือ เพื่อกระจายเห็ดไปขายยังตลาดตามชุมชนต่างๆ” คุณหนึ่ง บอก

พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า สร้างโรงเรือนเห็ดทั้งหมด 8 โรงเรือน เพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่างๆ สลับกันตามความต้องการของตลาด ผลผลิตเห็ดเฉลี่ยกว่า 400 กิโลกรัม ต่อโรงเรือน โดยแต่ละโรงจุได้ 6,500 ก้อน ในกรณีที่เก็บผลผลิตแล้วยังไม่ได้ส่งขายจะเก็บไว้ในตู้แช่เย็น แหล่งที่รับซื้อคือ ตลาดท่าเรือ เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังตลาดหลายแห่ง แต่หากลูกค้ารายใดต้องการเห็ดแบบสด ใหม่ จะแวะมาซื้อที่สวนพร้อมกับชวนกันมาถ่ายรูป

เมล่อนออเร้นจ์ ซากุระ

“การพิจารณาความต้องการของตลาดจะเป็นข้อมูลตัดสินว่าควรจะผลิตเห็ดชนิดใดขายก่อน/หลัง หรือจำนวนเท่าไร เพื่อป้อนเข้าตลาด ทั้งนี้ ภูฏานและนางรมสีดำเป็นเห็ดที่ตลาดต้องการมากกว่าชนิดอื่น อาจเป็นเพราะเห็ดทั้งสองชนิดจะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน อย่างไรก็ตาม ก้อนเชื้อเห็ดที่หมดความจำเป็นจะย่อยสลายแล้วนำกลับไปใส่ในแปลงปลูกอินทผลัมอีก”

คุณหนึ่ง บอกว่า ปลูกอินทผลัมมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ความจริงในปีที่ 3-4 ก็พอมีผลผลิตบ้าง แต่ไม่สมบูรณ์ จึงบำรุงต้นต่อเพื่อให้เก็บได้ในปีต่อไป ผลผลิตอินทผลัมรุ่นแรกเก็บได้ประมาณ 2 ตัน จากจำนวน 100 ต้น หลังจากเก็บผลผลิตอินทผลัมแล้วจะพักต้นชั่วคราวโดยไม่ดูแลอะไร

คุณแสง เผยถึงความสำเร็จจากผลผลิตอินทผลัมชุดแรกว่า มีคุณภาพดีเกินคาด เป็นที่สนใจของลูกค้าต่างเดินทางเข้ามาซื้อในสวนพร้อมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างคับคั่ง จากนั้นเห็นว่าพอมีพื้นที่ว่างจึงสร้างโรงเรือนมาตรฐานขึ้นเพื่อไว้สำหรับปลูกพืชไม้ผลชนิดต่างๆ โดยเริ่มต้นที่เมล่อนเป็นตัวแรก

เห็ดคุณภาพมีดอกขนาดใหญ่

“เห็นว่ายังพอมีพื้นที่ว่างเหลือใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังได้รับการแนะนำจากน้องณาและน้องลูกปลาที่ดูแลด้านการตลาดว่าขณะนี้เมล่อนเป็นไม้ผลที่ได้รับความสนใจ ขณะที่ในละแวกนี้ยังไม่มีใครปลูก จึงสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อนเพื่อควบคุมคุณภาพ ช่วยให้ขายได้ราคาสูง อีกทั้งโรงเรือนยังใช้ประโยชน์ปลูกพืชผักปลอดสารต่อไปได้อีกเมื่อต้องการหยุดเมล่อน

คุณชุดากานต์ หรือ คุณณา และ คุณนทิตา หรือ คุณลูกปลา ที่คุณแสงกล่าวถึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสวนแห่งนี้ โดยดูแลตั้งแต่วางแผนปลูกและการตลาด

ลูกค้าสั่งจองผลนี้แล้ว

คุณณา บอกว่า พันธุ์ที่ใช้ปลูกของสวนแห่งนี้คือ ออเร้นจ์ ซากุระ ที่มีเนื้อสีส้ม เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น การเลือกพันธุ์ที่ปลูกต้องดูความต้องการของตลาดก่อน นอกจากนั้น ควรเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันน้อยหรือยังไม่มีใครปลูก เพราะหากสวนแสงประทีปเลือกปลูกตามที่วางแผนไว้ นอกจากเป็นการทดลองปลูกสิ่งที่ยากสำเร็จแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ราคาขายสูง แล้วทำให้ตลาดผู้รับซื้อจับจ้องมาที่สวนแห่งนี้

“ใช้เมล็ดพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศผ่านผู้ขายในไทยที่ได้มาตรฐาน หลังจากนั้น มากำหนดว่าจะปลูกแบบใด ซึ่งแนะนำว่าควรเป็นโรงเรือนเพื่อควบคุมคุณภาพและปลอดภัยต่อโรค/แมลง ทำให้เสี่ยงน้อย ลงทุนครั้งเดียวคุ้มค่ากว่า ทั้งนี้ มี 2 โรงเรือน ขนาด 8 คูณ 24 เมตร และในช่วงแรกจะปลูกเมล่อนเปรียบเทียบโดยแต่ละโรงแยกเป็น 2 แบบ  คือโรงเรือนเป็นดินกับซีเมนต์ เพื่อต้องการศึกษาว่าแบบใดจะมีผลดี-ผลเสียต่อคุณภาพอะไรบ้าง”

คุณณา ให้รายละเอียดถึงวิธีและขั้นตอนปลูกเมล่อนว่า ในโรงเรือนจะออกแบบการให้น้ำแบบสายน้ำหยดพร้อมควบคุมอุณหภูมิและความชื้นด้วยการปล่อยละอองน้ำจากท่อด้านบน จากนั้นจะผสมดินโดยใช้เครื่องผสมเป็นดินที่ผสมขุยมะพร้าวคลุกให้เข้ากันแล้วหมักด้วยจุลินทรีย์ 1 คืน จากนั้นให้นำไปบรรจุใส่ถุงนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ประมาณ 1 สัปดาห์

ลูกค้ามาชมสวนพร้อมจับจองเมล่อนไว้ก่อน

ระหว่างนั้นจะเพาะต้นกล้ารอไว้ประมาณ 10 วัน พอต้นกล้ามีใบอ่อนสัก 2-3 ใบ จึงย้ายมาลงถุงปลูกในโรงเรือนระยะห่าง ถุงละ 50 เซนติเมตร การให้ปุ๋ยจะใส่ปุ๋ย A B ที่เป็นแม่ปุ๋ยด้วยการผสมกับน้ำแล้วปล่อยไปตามระบบน้ำหยด ปุ๋ยดังกล่าวมีคุณค่าทางอาหารสูงมากจึงไม่จำเป็นต้องใส่อะไรอีกเลย

ประมาณ 20 วันจะเริ่มมีดอก จึงจัดการผสมเกสร แล้วต้องตรวจดูที่ข้อและแขนงใดมีความสมบูรณ์ก็จะเก็บไว้ โดยตอนแรกควรเก็บไว้สัก 4 แขนงก่อน เพื่อประกันความผิดพลาดจากการผสมเกสร พอผสมเกสรเพียงวันเดียวก็จะติดผลอ่อน หลังจาก 7 วัน ผลจะมีขนาดเท่าไข่ไก่ จากนั้นจึงมาคัดเอาผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 2 ผล แล้วดูต่อไปถ้ามั่นใจว่าทั้งคู่มีความแข็งแรงดีพอ จึงตัดออกเหลือเพียงผลเดียว

เมื่อผลเมล่อนมีความสมบูรณ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยดูจากขนาดและลายผิว จึงเริ่มทำความหวานด้วยการใส่ปุ๋ย 0-0-50 เพียงเล็กน้อย จากนั้นใช้เวลาประมาณ 70-80 วันก็ตัดเก็บได้ มีขนาดต่อผลเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม ความหวาน 15 บริกซ์ สำหรับเรื่องโรค/แมลงไม่พบเพราะปลูกในโรงเรือนที่สามารถควบคุมปัจจัยภายใน/ภายนอกได้ จึงทำให้ผลผลิตที่ปลูกในโรงเรือนได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ลูกค้าสองท่านนี้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับอินทผลัมที่เลือกซื้อ

“เพิ่งได้ผลผลิตรุ่นแรก ใช้เวลาปลูก 3 เดือน นำตัวอย่างผลผลิตไปเทียบมาตรฐานแล้วถือว่าเข้าเกณฑ์ทุกประการ ไม่ว่าจะเรื่องขนาด น้ำหนัก ความหวาน ทั้งนี้ วิธีขายจะไม่ออกไปจำหน่าย แต่จะเชิญชวนลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ “แสงประทีป” ให้เข้ามาเที่ยวเยี่ยมชมสวนพร้อมซื้อสินค้าเมล่อนและอื่นๆ ติดมือกลับบ้าน

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางมาสวน อาจขอสั่งจองผลเมล่อนไว้ก่อน แล้วให้จัดส่งไปให้ที่บ้านในภายหลังที่ตัดทันที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลผลิตเมล่อนสวนแสงประทีปขายหมดในเวลารวดเร็ว แถมยังโดนลูกค้าบ่นว่าทำไมปลูกน้อยจัง ขณะเดียวกัน พันธุ์เนื้อเขียวกลับมีคุณภาพแล้วมีลักษณะคล้ายกับพันธุ์เคโมจิ ทำให้คนญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยได้ลองลิ้มชิมรสแล้วถูกใจมากจึงเหมาทั้งหมด”

คุณหนึ่ง เพิ่มเติมว่า การปลูกเมล่อนในรอบแรกนี้ถือว่าเป็นบททดสอบครั้งแรกที่ต้องการเรียนรู้เอาประสบการณ์และค้นหาปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยในรอบการปลูกคราวต่อไปตั้งใจจะให้เมล่อนมีขนาดผลใหญ่กว่านี้อีก ซึ่งอาจต้องไปใส่ใจเรื่องการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างเต็มที่

แปลงปลูกอินทผลัมที่มีระเบียบ สะอาด

คุณแสง บอกว่า โรงเรือนที่สร้างขึ้น 2 หลังนี้ หลังจากเก็บผลผลิตเมล่อนทั้งหมดเรียบร้อยก็จะพักแล้วเตรียมปลูกพืชผักชนิดอื่นไปตามฤดูกาลที่เปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อต้องการให้มีความเป็นอินทรีย์ส่งขายตลาดสุขภาพเพราะมีความต้องการสูง

“การเกษียณจากงานประจำแล้วตั้งใจมาทำเกษตรกรรมที่มีรายได้และความรับผิดชอบของตัวเอง นับเป็นความใฝ่ฝันมานานแล้ว ทั้งยังมีความสุขแล้วได้ออกกำลังกายไปพร้อมกัน มีโอกาสพบปะผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพเพศวัย

การยึดวิธีปลูกพืชแบบผสมเพื่อให้เกิดความหลากหลาย มีการหมุนเวียนไปตามความเหมาะสมของฤดูกาลรวมถึงการตลาด ทั้งนี้ จะทำให้มีรายได้อยู่ตลอดเวลาทุกวัน ทุกเดือน” เจ้าของสวนกล่าวในที่สุด

ผลผลิตเมล่อนที่ติดชื่อลูกค้าเตรียมจัดส่ง

หากสนใจต้องการเข้าเยี่ยมชมสวนแสงประทีปหรือเลือกซื้อผลไม้ ต้องโทรศัพท์สอบถามคุณแสงก่อนว่ามีผลไม้หรือไม่ ที่ (090) 971-2878, (083) 825-4653 มิเช่นนั้นท่านอาจผิดหวัง

……………………………………………………………………………………………………………………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่