คนเทพา ทำ “กล้วยหอมทอง” ปลอดสาร รวมกลุ่มส่งตลาดภาคใต้ ไม่พอขาย

เพิ่งทราบจากปากของชายที่ชื่อ คุณสมพร บูโยะ ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ว่ากล้วยหอมในพื้นที่ภาคใต้ ต้องรับกล้วยหอมจากพื้นที่อื่นเข้ามาขาย ไม่มีปลูกในลักษณะขายส่งในพื้นที่ ใกล้ที่สุดของการเดินทางของกล้วยหอมมายังพื้นที่ภาคใต้ คือ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี หากไม่ใช่ที่นี่ ก็จะเป็นจังหวัดในภาคกลาง หรือภาคอีสาน ที่การเดินทางใช้เวลายาวนานกว่าจะถึง

คุณสมพร บอกเล่าประสบการณ์ “เด็กส่งของ” ติดท้ายรถขนส่งสินค้าเกษตรให้ฟัง

“ผมจบแค่ประถม 6 ทำงานเป็นเด็กท้ายรถ ติดรถไปรับของส่งของทั้งผักและผลไม้ เข้าออกตลาดใหญ่ๆ หลายแห่ง ทั้งตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือจะเป็นตลาดกลางของหลายจังหวัด เข้าออกสวนผลไม้ของเกษตรกรมาก็หลายที่ ทำงานจนขับรถเป็น เลื่อนหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ ก็ยังใช้เส้นทางเดิมในการทำงาน ทำให้ได้ประสบการณ์ยาวนาน ก่อนกลับมาบ้านในปี 2556”

คุณสมพร บูโยะ (ซ้าย) และ คุณอับดุลนาเซ โต๊ะทา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 (ขวา)

กลับบ้านมา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับวงการตลาด สวนผลไม้ จะทำให้มีอาชีพของตนเองที่บ้าน โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร

สิ่งหนึ่งที่คุณสมพรเห็นและมองว่า เป็นช่องทางของอาชีพคือ เส้นทางการขนส่งกล้วยหอมมาขายในพื้นที่ภาคใต้ ต้องใช้เวลานาน เพราะสวนกล้วยหอมที่จะนำมาขายในพื้นที่ภาคใต้ ใกล้ที่สุดคือ สวนของเกษตรกรในอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และเมื่อรวมๆ แต่ละสัปดาห์แล้ว กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่ภาคใต้มีความต้องการสูง แต่ไม่มีปลูกขายในพื้นที่ และมีความต้องการสูงไม่ต่ำกว่า 10 ตัน ต่อสัปดาห์

การเป็นเกษตรกรทำสวนกล้วยหอม จึงเป็นเป้าหมาย

เริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีอยู่ไม่มาก พอลงกล้วยหอมที่ซื้อหน่อพันธุ์มาจากอำเภอท่ายาง 1,000 หน่อ

ปุ๋ยคอกที่ผสมขึ้นไว้ใช้เอง

ลงปลูกได้ 3 เดือน เริ่มเป็นแปลงกล้วยหอม จึงบอกแม่ค้าในพื้นที่ให้มาดู หากต้องการซื้อกล้วยหอมก็ให้จับจองไว้ก่อน ปรากฏว่า แม่ค้าจองไว้ เมื่อได้ผลผลิตจึงตัดขาย คว้าเงินเข้ากระเป๋า

การลงทุนในครั้งแรก คุณสมพร ใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 70,000 บาท ระยะเวลาปลูกถึงเก็บผลผลิต ประมาณ 9 เดือน มีรายได้กว่า 300,000 บาท

“ตอนแรก ผมซื้อหน่อพันธุ์กล้วยหอมมาลงปลูก แม้กระทั่งคนในบ้านผมเองยังคิดว่าผมไม่ปกติ ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น แต่พอผมทำไปได้ระยะหนึ่ง ขายกล้วยหอมได้เงินมา ทุกคนเริ่มเห็นว่า นี่คืออาชีพที่ทำเงินได้ดีทีเดียว ก็เริ่มมีคนเข้ามาหา มาถาม มาขอดู ซึ่งผมก็แนะนำไป เมื่อมีคนสนใจอยากปลูกบ้าง ผมก็สั่งหน่อพันธุ์กล้วยหอมมาให้ เป็นการขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมไปในตัว”

ปลูกพืชร่วมในแปลง ช่วยต้านทานโรค

แต่เพราะคุณสมพร ปลูกกล้วยหอมแบบปลอดสารมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะศึกษามานาน พบว่าการให้สารเคมีในท้ายที่สุด ดินและพืชที่ปลูกก็จะเกิดปัญหาโรคและแมลงตามมา อีกทั้งต้นทุนที่ใช้ก็สูงเกินความจำเป็น เมื่อมีเพื่อนบ้านเห็นว่าการปลูกกล้วยหอมเป็นการสร้างรายได้ดีทางหนึ่ง จึงเป็นแกนหลักในการหาพันธุ์มาให้ปลูก และแนะนำการปลูกกล้วยหอมแบบปลอดสาร เพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์และขายได้

การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นเครือข่ายเริ่มขึ้น เมื่อปี 2558 หลังจากที่คุณสมพรเริ่มปลูกเพียง 2 ปี เพราะผลผลิตที่ได้มีคนสนใจ พ่อค้าแม่ค้าติดต่อขอซื้อ แนวโน้มกล้วยหอมปลอดสารที่คุณสมพรเริ่มไว้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้แปลงกล้วยหอมปลอดสารของคุณสมพร เป็นแปลงต้นแบบของอำเภอ มีคนรู้จัก มีหน่วยงานหลายแห่งเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน กระทั่งจัดตั้งเป็นเครือข่ายผู้ปลูกกล้วยหอมปลอดสารขึ้น

หน่อกล้วยหอม สั่งจากท่ายาง เพชรบุรี

การปลูกกล้วยหอมให้ได้ผลดี ควรเริ่มจากการเลือกหน่อพันธุ์

หน่อพันธุ์ที่ดี ควรเป็นหน่อขนาดกลาง ความสูงหน่อไม่ควรเกิน 1 ฟุต ขนาดหน่อเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 นิ้ว เลือกหน่อที่หัวเหง้ามีตา พร้อมจะแตกราก หากมีรากอยู่แล้วให้ตัดรากทิ้งก่อนลงปลูก เพื่อให้หน่อพร้อมแตกรากใหม่เมื่อลงดิน

หลุมปลูกขนาด 50×50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 2.5×3 เมตร ระยะนี้จะปลูกได้จำนวน 400 ต้น ต่อไร่

รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก เมื่อนำหน่อกล้วยลงปลูก ให้กลบดินเว้นปากหลุมไว้ 3 นิ้ว รดน้ำพอชุ่ม

จากนั้น 45 วัน ใส่ปุ๋ยหมักบริเวณปากหลุม เหลือปากหลุมไว้ 1 นิ้ว

เมื่อกล้วยลงปลูกครบ 5 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยหมักที่ปากหลุมอีกครั้ง และตัดแต่งใบ พร้อมกับพูนโคนกันล้ม

กล้วย อายุครบ 6 เดือน เริ่มตั้งท้อง ลำต้นกล้วยเริ่มบิด กาบกล้วยหรือทางใบกล้วยจะเริ่มซ้อน

กล้วย อายุ 7 เดือน เริ่มแทงปลีออกมา หลังแทงปลี 25 วัน จะเริ่มเห็นผล การตัดปลี ควรรอให้เห็นหวีกล้วยเท่าจำนวนที่ต้องการไว้ โดยพิจารณาจากลำต้น หากลำต้นเล็กก็ไม่ควรไว้มาก เพราะต้องใช้ไม้ค้ำ เพิ่มต้นทุน

หลังตัดปลี 2 วัน เริ่มห่อเครือกล้วย

จากนั้นอีก 80 วัน ตัดเครือกล้วยหอม ส่งขายได้

การให้ปุ๋ยหมัก จะให้ 45 วัน ต่อครั้ง และให้น้ำหมักฮอร์โมน 15-20 วัน ต่อครั้ง ไปจนกว่าจะตัดขาย

การรดน้ำ เปิดด้วยสปริงเกลอร์ เช้า 30 นาที บ่าย 30 นาที เย็น 30 นาที ทุกวัน ยกเว้นฤดูฝน ไม่ต้องรดน้ำ

ผลผลิตกล้วยหอมที่ได้มีคุณภาพทุกเครือ น้ำหนักกล้วยหอมต่อหวี ไม่ต่ำกว่าหวีละ 2 กิโลกรัม

คุณสมพรพาเพื่อนเกษตรกรด้วยกันทำปุ๋ยหมักและฮอร์โมนเอง ปุ๋ยหมักทำจากขี้วัว ฮอร์โมนทำจากพืชที่มีในพื้นถิ่น เช่น ต้นกล้วยสับ สับปะรด เป็นต้น

แม้ว่ากล้วยหอมจะเป็นพืชที่ทนต่อโรค แต่คุณสมพรก็ไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา บอกให้ทราบว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว จะมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงในแปลง คุณสมพร จึงปลูกกล้วยไข่  กล้วยเล็บมือนาง ผักเหรียง แซมในแปลงไว้ด้วย เพื่อต้านทานโรค

ทุกวันศุกร์จะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับถึงแปลง เครือข่ายผู้ปลูกกล้วยหอมปลอดสารด้วยกันจะรวบรวมผลผลิตมารวมไว้ที่ใดที่หนึ่งหลังตัด จากนั้นคัดไซซ์และล้างผลผลิตให้สะอาด ใส่เข่งละ 20 กิโลกรัม รวมน้ำหนักส่งขายไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม

เครือข่ายปลูกกล้วยหอมปลอดสาร มีทั้งหมด 32 ราย เป็นพื้นที่ปลูกและดำเนินการแบบปลอดสารอย่างต่อเนื่อง 50 ไร่ในอำเภอเทพา แต่หากรวมพื้นที่ปลูกของจังหวัดสงขลา มีที่อำเภอนาทวี อำเภอระโนด อำเภอรัตภูมิ รวมถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และยะลา มีจำนวนหลายแสนต้น

ตลาดที่ส่งกล้วยหอมปลอดสารจำหน่าย ปัจจุบัน ส่งขายเฉพาะพื้นที่จังหวัดสงขลา เพราะยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความความต้องการของผู้บริโภค จึงมีเป้าหมายขยายพื้นที่ผลิตกล้วยหอมปลอดสารออกไปอีก

“ออเดอร์ของผมตอนนี้ ตลาดผลไม้ยะลา ต้องการกล้วยหอมปลอดสาร 3 ตัน ต่อสัปดาห์ ตลาดหาดใหญ่ ตลาดสุไหงโกลก ไม่นับรวมตลาดผลไม้ในจังหวัดอื่นของภาคใต้อีก เฉพาะความต้องการในพื้นที่ภาคใต้ ผมและเครือข่ายก็ทำได้ไม่พอต่อความต้องการแล้ว”

กล้วยหอมปลอดสารของชาวเทพา การันตีว่าคุณภาพจริง หลังจากลงแปลงมาแล้ว ในพื้นที่ภาคใต้แวะเยี่ยมชมแปลงไม่ไกล ติดต่อไปได้ก่อนที่ คุณสมพร บูโยะ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หรือโทรศัพท์สอบถาม (098) 010-6327