วิธีการทำลำไย พันธุ์ “บ้านโฮ่ง 60” นอกฤดู (ตอนจบ)

หากใครสนใจทำสวนลำไยขนาดใหญ่ หรือมีต้นจำนวนมาก ทาง “สวนคุณลี” จังหวัดพิจิตร ขอแนะนำว่า การราดสารฯ ควรผสมสารในถังน้ำขนาดใหญ่แล้วฉีดพ่นลงดินรอบทรงพุ่ม ซึ่งสามารถทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างการใช้สาร จะใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ซึ่งจะไม่ได้ใช้วิธีคำนวณว่าลำไยต้นนี้ทรงพุ่มกี่เมตรจะต้องใช้สารกี่กรัม เนื่องด้วยจำนวนต้นลำไยมีมาก จะทำให้การทำงานช้า ยุ่งยาก และอาจเกิดความผิดพลาดได้หากแรงงานไม่มีประสบการณ์ จึงใช้สารอัตราเดียว แต่การราดสารจะใช้วิธีการฉีดลงดินด้วยเครื่องฉีดพ่นยา

วิธีการจะฉีดพ่นในบริเวณรอบทรงพุ่มลำไย (ชายทรงพุ่ม) เดินฉีดเป็นวงกลม ให้วงกลมมีหน้ากว้างสัก 1 เมตร เพราะบริเวณชายพุ่มจะเป็นบริเวณที่มีรากฝอยเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอบสนองสารโพแทสเซียมคลอเรตได้เป็นอย่างดี  ส่วนปริมาณสารที่ต้นลำไยแต่ละต้นจะได้รับนั้น ขนาดของรัศมีทรงพุ่มจะเป็นตัวกำหนดเองโดยอัตโนมัติ วิธีการราดสารแบบน้ำจึงทำให้เกษตรกรทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น แต่ข้อดีของการราดสารแบบนี้คือ จะทำให้ต้นลำไยไม่โทรม

หลังราดสารฯ 21-30 วัน ต้นลำไยจะออกดอก จะต้องฉีดสูตรเพื่อช่วยดึงดอก

หลังการราดสารให้กับต้น “ลำไยบ้านโฮ่ง 60” เรื่องของการให้น้ำแก่ต้นลำไย ควรรักษาความชื้น โดยให้น้ำทุก 3-5 วัน เพื่อให้รากดูดสารเข้าสู่ต้นให้มากที่สุด ประมาณ 3-6 สัปดาห์ หลังใช้สารลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารคลอเรต ได้แก่ ฝนตกชุก และระยะที่ต้นลำไยแตกใบอ่อน

หลังราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเสร็จราว 5 วัน (ใบยังอยู่ในระยะเพสลาด ใบยังไม่แก่) ก็จะต้องฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบเพื่อกดใบไม่ให้ลำไยแตกใบอ่อน ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับสารแพคโคลบิวทราโซล 10% จำนวน 1.5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดทางใบ เพื่อกดใบไม่ให้ลำไยมันแตกใบอ่อนสัก 3 ครั้ง ห่างกัน 5 วันครั้ง แต่ฉีดกดใบครั้งที่ 2 และ 3 ไม่ต้องใส่สารแพคโคลบิวทราโซล (จะใส่แค่ครั้งแรกเท่านั้น ถ้าใส่หลายครั้งจะทำให้ช่อดอกลำไยสั้น ช่อดอกไม่ยาว)

ใช้โพแทสเซียมไนเตรตช่วยดึงดอกออกให้เสมอ

จากนั้น 21-30 วัน หลังที่เราราดสารจะเป็นช่วงที่เหมาะแก่การ “ดึงดอก” ช่วย คือถ้าปล่อยให้แทงช่อดอกออกเอง ดอกมักจะออกมาไม่ค่อยพร้อมกัน ออกช่อดอกไม่สม่ำเสมอทั่วต้น เราจะต้องฉีดเพื่อดึงดอกช่วย เราจะใช้ปุ๋ยทางใบโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) ฉีดพ่นเพื่อเปิดตาดอก อัตราที่ใช้ ถ้าเป็นหน้าฝนจะใช้โพแทสเซียมไนเตรต จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งจะต้องใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต จำนวน 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เพราะหน้าแล้งลำไยมันไม่ค่อยแตกยอด ต้องใช้ปุ๋ยในความเข็มข้นที่สูงขึ้น

การเตรียมต้นลำไยมาดี จะทำให้ออกดอกได้สม่ำเสมอทั้งต้น

หลังจากนั้น ไม่นานลำไยจะแทงช่อดอกออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะบำรุงช่อด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนต่างๆ เช่น ปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 ผสมแคลเซียมโบรอนและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามสถานการณ์ ฉีดพ่นไปเรื่อยๆ ตามรอบของการดูแลรักษา แต่ถ้ามีฝนตกก็จะออกฉีดหลังจากฝนหยุดตกทันทีในช่วงช่อดอก ดูแลน้ำให้สม่ำเสมอ ไม่ต้องมาก ดูแลโรคและแมลง เช่น ฉีดพ่นสารเคมีคลอไพรีฟอส 50% + ไซเพอร์เมทริน อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หลังจากแทงช่อดอก (ดอกยังไม่บาน)

กรณีที่ฝนชุก หรือแทงช่อออกมาแซมใบ

การแก้ปัญหาต้องรวดเร็ว จะมีสูตร “เด็ดใบอ่อน” คือ เห็นว่ามีใบแซมดอกออกมาแน่ๆ ในช่วงที่ช่อดอกยาวสัก 1 นิ้ว ก็ต้องฉีดพ่นให้ใบอ่อนที่แซมออกมาร่วง สูตรนี้จะใช้โพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 1.5 กิโลกรัม ผสมกับฮอร์โมนโบรอน (B) 15% ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ให้ฉีดช่วงเช้าหรือเย็น การฉีดต้องฉีดเพียงผ่านๆ อย่าฉีดแบบแช่หรือฉีดจนช่อเปียก แค่เป็นละอองผ่านเท่านั้น สูตรนี้ทำให้ใบอ่อนขนาดเล็กที่แซมออกมาร่วงเหลือแต่ดอกเท่านั้น แต่สูตรนี้ถ้าฉีดช้า ถ้าใบอ่อนบานแล้วก็ฉีดเด็ดใบไม่ร่วง แต่ใบก็จะหยุดชะงักไป ต้องสังเกตให้ดี

เมื่อเห็นใบอ่อนแซมดอก ก็ต้องฉีดสูตรเด็ดใบอ่อน

พอช่อดอกเริ่มโรยก็จะฉีดล้างช่อดอก ก็จะเน้นใช้สารป้องกันกำจัดแมลงกลุ่มเมโธมิล ผสมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อราพวกโปรคลอราซ ช่วยล้างช่อดอกตอนที่ดอกกำลังโรย ช่วงนี้มักจะมีเชื้อราขึ้นพวกดอกที่มันโรยและบวกกับฮอร์โมนพวกจิบเบอเรลลิน และจะใช้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ขึ้นเม็ดไว ขั้วผลเหนียว ไม่สลัดผล ยืดช่อให้ยาวขึ้นไม่ให้ช่อแน่นจนเกินไป ช่วยสร้างเนื้อและขยายผล

ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจึงจะต้องใส่ผสมไปเรื่อยๆ พร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง พอเริ่มติดผลอ่อนก็จะให้ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 4-5 กิโลกรัม ต่อต้น ปุ๋ยเคมีใส่ทางดินก็จะใช้สูตรที่มีตัวหน้าสูง (N) เช่น สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อต้น เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างเมล็ด สร้างเปลือก แต่จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยทางดินตอนเมล็ดผลลำไยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก็จะใช้เป็นสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ใส่ให้ต้นละ 1 กิโลกรัม ใส่ 1 ครั้ง

พอเมล็ดลำไยเปลี่ยนเป็นสีดำเป็นช่วงของการสร้างเนื้อ สร้างความหวาน ก็จะต้องเปลี่ยนสูตรปุ๋ยทางดินที่มีตัวท้าย (K) สูง เช่น สูตร 15-5-20 ต้นละ 1 กิโลกรัม (หรือสูตร 13-13-21, 8-24-24) ใส่ให้สัก 2 ครั้ง ก็จะเก็บเกี่ยว ช่วงเวลานี้ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ดูแลโรคและแมลง เช่น เพลี้ยหอยหลังเต่า มวลลำไย ผีเสื้อมวนหวาน โรคผลลาย ผลแตก ผลร่วงให้ฉีดพ่นสารเคมี เช่น คลอไพรีฟอส 50% + ไซเพอร์เมทริน อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น สารทีบูโคนาโซล 25% EW

การแต่งหรือการซอยผลลำไย จะทำกัน 2 ครั้ง สำหรับลำไยอีดอ

ครั้งแรกจะแต่งช่อลำไยตอนผลมีขนาดเท่าผลมะเขือพวง โดยมักจะตัดปลายช่อลำไยออก 1 ส่วน 3 ของความยาวช่อดอกลำไย หรือถ้าติดผลดกเกินก็อาจจะต้องตัดออกครึ่งช่อ ซึ่งเกษตรกรที่ตัดแต่งหรือแรงงานต้องมีความเข้าใจ โดยการตัดแต่งผลออกจะให้เหลือผลในช่อราว 40-70 ผล ซึ่งกำลังพอเหมาะ (ในกรณีที่ต้นลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผล ต่อช่อ จะเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้อาหารไม่พอเพียงที่จะส่งไปเลี้ยงผล ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ)

ขนาดผลลำไยบ้านโฮ่ง 60

แล้วอีกสัก 20 วัน ก็จะกลับแต่งผล ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการเก็บตกจากรอบแรก เราต้องมาเก็บรายละเอียดอีกครั้ง การตัดแต่งช่อผลลำไยทำให้ผลลำไยมีขนาดผลใหญ่ มีขนาดผลที่สม่ำเสมอกันทั้งช่อ ลำไยจะได้เบอร์ใหญ่ อุปกรณ์ที่ใช้ก็จะมีกรรไกรตัดแต่งกิ่ง ใช้แต่งกิ่งที่ต่ำมือเอื้อมตัดถึง ส่วนที่สูงก็จะใช้กรรไกรยาวในการตัดปลายช่อดอก การจะตัดช่อผลออกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ลำไย ความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นสมบูรณ์สามารถไว้ผลต่อช่อได้มาก แต่ถ้าต้นไม่สมบูรณ์ควรไว้ผลต่อช่อน้อย การตัดช่อผลช่วยทำให้ผลลำไยมีขนาดเพิ่มขึ้นสามารถจำหน่ายในราคาสูง ทำให้มีรายได้ต่อต้นมากกว่าต้นที่ติดผลดก

กรณีลำไย บ้านโฮ่ง 60 เป็นลำไยที่มีการติดผลต่อช่อปานกลาง ไม่สูงเท่าลำไยอีดอ แต่มองกลับกันการที่ลำไยบ้านโฮ่ง 60 ติดผลปานกลางทำให้ไม่ต้องแต่งช่อผลหรือซอยผลออกเลย ทำให้ลดขั้นตอนหรือค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานไปได้เป็นอย่างมาก

การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในช่วงติดผล

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจการระบาดของแมลงในสวนลำไย แมลงที่สำคัญพบในช่วงออกดอก ได้แก่ เพลี้ยไฟ และไรสี่ขา ถ้าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารฆ่าแมลงไดเมทโธเอท ในระยะที่ดอกยังไม่บาน แต่ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงในช่วงดอกบาน เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสร ช่วงติดผลให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ควรดูแลตั้งแต่ผลยังเล็กอยู่ โดยการฉีดพ่นด้วยน้ำมันปิโตรเลียมหรือไวท์ออยล์

ระยะเวลาตั้งแต่ราดสารจนเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ประมาณ 7 เดือน ดังนั้น เกษตรกรสามารถวางแผนการตลาดหรือการผลิตเอาไว้ได้ว่าต้องการขายผลผลิตลำไยออกช่วงเวลาใด เพราะลำไยมันสั่งได้ กำหนดได้ค่อนข้างแน่นอน (แต่ถ้าย้อนไปถึงวันตัดแต่งกิ่ง ก็ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก 2 เดือน)

ข้อปฏิบัติดูแลลำไยบ้านโฮ่ง 60 หลังจากราดสาร เมื่อลำไยออกดอกแล้วควรให้น้ำและปุ๋ยตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ มิฉะนั้นจะทำให้ผลมีขนาดเล็กและต้นอาจโทรมได้ ถ้าลำไยติดผลดกเกินไปคือ มีจำนวนผลในช่อ 80-100 ผล ขึ้นไป ควรตัดช่อผลบ้าง หรือปลิดผลออกบ้าง คือควรให้เหลือ 60-70 ผล ต่อช่อ การให้ปุ๋ยทางดินในระยะที่ผลลำไยกำลังขยายตัว สร้างเนื้อ ควรใช้ปุ๋ย N:P:K อัตราส่วน 3:1:2 และอาจเสริมด้วยปุ๋ยปลาทั้งทางดินและทางใบเป็นระยะๆ ก็ได้

รสชาติหวานจัด เนื้อแห้งไม่แฉะ

ส่วนช่วงก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือนครึ่ง ควรให้ปุ๋ย N:P:K อัตรา 1:2:4 หรือ 1:2:5 หรือสูตรใกล้เคียง การใช้ปุ๋ยปลาหมัก ฉีดพ่นทางใบหรือราดทางดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี จะช่วยทำให้ต้นลำไยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพิ่มขนาดผลได้โดยการทำปุ๋ยหมักปลา จะใช้เศษปลา น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ผสมน้ำส้มสายชู 2.5 ลิตร และกากน้ำตาล 20 ลิตร คลุกเคล้าให้ทั่วในช่วง 10 วันแรก ให้กวนทุกวันเพื่อให้การหมักสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยหมักไว้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงบีบเอาน้ำออกมาใช้พ่นได้โดยใช้ความเข้มข้น ประมาณ 0.5-1.0%

ส่วนกากใช้ผสมน้ำรดที่โคนต้นได้ เนื่องจากการใช้สารคลอเรต มักทำนอกฤดูกาล ดังนั้น จะพบกับปัญหาแมลงค่อนข้างสูง ตั้งแต่หนอนกินดอก มวนลำไย หนอนเจาะผล และที่สำคัญคือ ค้างคาว ซึ่งจะทำลายผลแก่ช่วงเก็บเกี่ยว หากรุนแรงมากเพียง 1-2 วัน ก็อาจทำลายได้หมดสวน  ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและตรวจตราอย่างใกล้ชิด

โดยปกติหลังจากวันที่ให้สารแล้วถึงวันที่ออกดอก ประมาณ 21 วัน จากนั้นจะใช้เวลาในการพัฒนาดอกและผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้ ประมาณ 7 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อมในขณะที่ออกดอกและติดผล จากการศึกษาพบว่า การให้สารเดือนพฤศจิกายนซึ่งถือว่าเป็นการผลิตลำไยก่อนฤดู จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกถึงเก็บเกี่ยวได้นานถึง 180-192 วัน

ส่วนการให้สารช่วงเดือนพฤษภาคมใช้เวลาเพียง 165-172 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้ ช่วงออกดอกถึงดอกบาน ประมาณ 1 เดือน ดอกจะบานอยู่ประมาณ 1 เดือน ปกติดอกลำไยที่บานก่อนจะเป็นดอกเพศผู้ซึ่งมีปริมาณไม่มากและจะบานอยู่ประมาณ 5-7 วัน ก็จะหมด จากนั้นก็เริ่มมีดอกเพศเมียบานตามมา ซึ่งดอกชุดนี้จะติดผลและผลจะมีขนาดใหญ่ จะบานอยู่ประมาณ 7-10 วัน

เมื่อดอกเพศเมียชุดนี้ใกล้ๆ จะบานหมด ก็มีดอกเพศผู้ชุดที่ 2 โดยดอกเพศผู้ชุดนี้มีลักษณะคล้ายดอกกะเทยที่มีรังไข่อยู่ด้วย แต่มีขนาดเล็กและไม่รับการผสมเกสร และบานอยู่ 12-13 วัน บางครั้งก็จะมีดอกเพศเมียชุดสุดท้ายบานตามมาอีกเล็กน้อย ประมาณ 2-3 วัน โดยดอกเพศเมียชุดนี้จะติดผลได้ แต่ขนาดของผลมักจะเล็กกว่าผลที่ได้จากดอกชุดแรก ทำให้บางช่อมีอาจมีผล 2 รุ่น

เมื่อดอกบานหมดแล้วก็จะเห็นว่าลำไยเริ่มติดผล ผลจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 2 มิลลิเมตร จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยให้กับผลอ่อนขยายตัวค่อนข้างช้า เป็นการพัฒนาของเมล็ดและเปลือกเป็นส่วนใหญ่ ระยะนี้ต้นลำไยต้องการไนโตรเจนค่อนข้างมาก ซึ่งเกษตรกรทั่วไปมักใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 หลังเก็บเกี่ยวแล้วก็สามารถแตกยอดอ่อนได้ภายใน 18-21 วัน และเมื่อใบอายุ 60 วัน ก็เริ่มแตกยอดอ่อน ครั้งที่ 2 เมื่อใบอ่อนนี้แก่ก็สามารถราดสารได้อีกครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เช่นเดียวกับลำไยในฤดูปกติ

ลำไยบ้านโฮ่ง 60 จำหน่ายออกจากสวน กิโลกรัมละ 100-150 บาท

อย่างราคาขายผลผลิต “ลำไยบ้านโฮ่ง 60” ออกจากสวน “สวนคุณลี” จังหวัดพิจิตร โทร. 081-886-7398 ที่ผ่านมาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และลำไยยักษ์พันธุ์จัมโบ้ สามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 150-200 บาท เลยทีเดียว ซึ่งตอนนี้ก็กำลังขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพื่อผลิตผลจำหน่ายให้พอกับความต้องการของผู้บริโภค

เก็บเกี่ยวส่งขายแก่ผู้สนใจ

ทางสวนคุณลีเชื่อว่า ผู้บริโภคมีความชอบลำไยที่มีขนาดผลใหญ่ รสชาติหวาน ทั้งที่ซื้อเพื่อบริโภคเองและซื้อไปเป็นของฝาก ซึ่งลำไยเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ มีเทคโนโลยีในการบังคับให้ออกนอกฤดูได้ตามความต้องการ

ขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา รสชาติหวานรับประทานอร่อยมาก

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ.2562