“มะเดื่อฝรั่ง” คนปลูกน้อย แปรรูป อบแห้ง ขายผลสดได้กิโลกรัมละ 200 บาท รสชาติดี คุณค่าทางโภชนาการสูง

มะเดื่อฝรั่ง (Fig) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปและแอฟริกาเหนือ พบมากในประเทศตุรกีและกรีซ เป็นพืชสกุลเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร มะเดื่อไทย อยู่ในวงศ์เดียวกับหม่อน (มัลเบอร์รี่) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะลำต้นและใบต่างจากมะเดื่อไทย มะเดื่อฝรั่งมีขอบใบหยักลึก 3-5 หยัก ใบเดี่ยวหนาค่อนข้างแข็ง ด้านหนึ่งมีขนอ่อน ส่วนผิวด้านบนหยาบ ผลใหญ่ และมีรสชาติดีกว่า  

ในประเทศไทยโดยความร่วมมือกันของ 2 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิโครงการหลวง ได้นำมะเดื่อฝรั่งเข้ามาปลูกและทำการศึกษาวิจัยมากว่า 25 ปี เพื่อจะให้มะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขา ทดแทนการปลูกฝิ่น ปัจจุบัน มะเดื่อฝรั่ง กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ จึงมีผู้สั่งกิ่งพันธุ์มะเดื่อฝรั่งเข้ามา พื้นที่เพาะปลูกเริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละรายมีวิธีการเพาะปลูก การดูแลรักษาแตกต่างกันออกไป ที่เซฟตี้ ฟาร์ม (Safety Farm) จังหวัดลำปาง มีวิธีการเพาะปลูกมะเดื่อฝรั่ง การดูแลรักษาที่เป็นรูปแบบเฉพาะโดยเน้นการปลูกที่ปลอดสารพิษปราศจากสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

คุณปิยะ วงศ์จันทร์

เซฟตี้ ฟาร์ม (Safety Farm) ดำเนินการและบริหารงานโดย คุณปิยะ วงศ์จันทร์ คุณปิยะในวัย 49 ปี (2560) เป็นชาวกรุงเทพฯ ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการเกษตร สำเร็จการศึกษาทางด้านการตลาด ก่อนมาปลูกมะเดื่อฝรั่งผ่านงานมาหลายอย่าง เริ่มการทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่ หนังสือ IS Song Hit ของ เล็ก วงศ์สว่าง, หนังสือนำเที่ยวอย่าง Vision on Thailand เป็นเอเยนซี่ในงานโฆษณา งานเฟอร์นิเจอร์ จนมาเป็นตัวแทนขายไม้อัดพาร์ติเคิลบอร์ด (Particleboard) ของ บริษัท วนชัย

ได้ภรรยาเป็นชาวลำปาง ในปี พ.ศ. 2554 จึงย้ายมาอยู่ลำปาง เริ่มจากการปลูกเมล่อนอยู่ที่อำเภอห้างฉัตร จำนวน 8 โรงเรือน ขนาดของโรงเรือน 6 คูณ 15 เมตร ริเริ่มการใช้เชือกขึงให้เมล่อนไต่ขึ้น เมื่อผู้คนหันมาปลูกเมล่อนกันอย่างกว้างขวาง จึงคิดจะเปลี่ยนพืชชนิดใหม่มาปลูก โดยตั้งใจไว้ว่า ต้องเป็นพืชที่ไม่ต้องมีการปลูกทุกฤดูหรือทุกปีอย่างเช่น เมล่อน

จนกระทั่งคุณปิยะมาได้ลิ้มรสของมะเดื่อฝรั่งมูลนิธิโครงการหลวงจึงติดใจในรสชาติ มองเห็นอนาคตไปได้ไกล เนื่องจากยังปลูกกันไม่แพร่หลายมากนัก คุณปิยะ ได้ศึกษาหาความรู้มะเดื่อฝรั่งจากสื่อต่างๆ ตลอดจนการไปเยี่ยมชมแหล่งที่ปลูกมะเดื่อฝรั่ง พอมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องมะเดื่อฝรั่งระดับหนึ่ง พบว่า มะเดื่อฝรั่ง เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี ประโยชน์มาก มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้พลังงานสูง มีคอเลสเตอรอลไขมันน้อยมาก เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคตับ ช่วยบำรุงร่างกายและต่อต้านอนุมูลอิสระและประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย

ผลมะเดื่อฝรั่งยังใช้ทำขนม ทำแยม น้ำมะเดื่อ อบแห้ง ผลไม้กวน พุดดิ้ง เค้ก ไอศกรีม ใช้ผสมในชาไข่มุก ใส่ขนมแทนลูกเกด ผลแห้งนำไปคั่วมาป่นใช้แทนกาแฟได้ ใบของสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมทำเป็นชาใบมะเดื่อได้เช่นกัน และมะเดื่อฝรั่งยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในบ้านเรา ให้ผลผลิตเร็ว ซึ่งตรงกับความตั้งใจไว้ก็คือมะเดื่อฝรั่งเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานหลาย 10 ปี ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพภูมิอากาศ จากข้อดีของมะเดื่อหลายๆ ด้าน คุณปิยะจึงตัดสินใจเลือกมะเดื่อฝรั่งเป็นพืชที่จะปลูกต่อไป

น้ำมะเดื่อฝรั่ง
แยมมะเดื่อ
ผลอบแห้ง

หลังจากนั้น ได้ส่งตัวอย่างดินที่หมู่บ้านลำปางเมาท์เทนวิว หมู่ที่ 8 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ไปทำการทดสอบ และได้รื้อถอนโรงเรือนจากอำเภอห้างฉัตรมาไว้ที่หมู่บ้านลำปางเมาท์เทนวิว ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ด้วยการปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือน 2 โรงเรือน ขนาด 15 คูณ 30 เมตร และขนาด 18 คูณ 30 เมตร ความสูง 4 เมตร หลังคาพลาสติกด้านข้างมุงด้วยมุ้งลวด เนื่องจากไม่ต้องการใช้สารเคมีกับมะเดื่อฝรั่ง จึงปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนเพื่อป้องกันโรคและแมลงรบกวน โดยเฉพาะแมลงหวี่ อย่าให้แมลงหวี่เล็ดลอดเข้ามาแม้เพียงตัวเดียว มันจะแพร่ระบาดทำความเสียหายให้กับผลมะเดื่อฝรั่งทั้งโรงเรือนได้ ซึ่งการปลูกในโรงเรือนเป็นวิธีการปลูกที่ไม่ค่อยมีใครเขาทำกันเช่นนี้ ส่วนใหญ่การปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนทำกันในประเทศที่มีอากาศหนาว

แต่สำหรับมะเดื่อฝรั่งของคุณปิยะแล้ว ผลมะเดื่อฝรั่งที่ได้จะต้องเป็นผลมะเดื่อฝรั่งปราศจากสารเคมีจริงๆ ดังนั้นการปลูกมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

 

มีพันธุ์เฉพาะ รับประทานผลสด แปรรูป

คุณปิยะ ได้สั่งกิ่งพันธุ์จากต่างประเทศ ประมาณ 300 กว่าสายพันธุ์จากยุโรป, ญี่ปุ่นมาปลูกศึกษาความเป็นไปได้หาคุณสมบัติที่ดีตามต้องการ ศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละสายพันธุ์ เช่น การ์นเซอรี่ ไว้ท์, แบล็ก เบธเลแฮม, นาโปลิตาน่า เนกรา, ปอนเต้ เทรซ่า, บีเอ็นอาร์, เบลล่า ดีมาเรียล, คอนาเดีย, ล็อกดัวร์ บัฟเปิ้ลเจแปน, แบล็กมิชชั่น, แบล็กเจนัว, บราวน์ ตุรกี ฯลฯ จนได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการแล้ว เช่น รสชาติหวานอร่อย ผลโต มีกลิ่นหอม ให้ผลดกและติดผลง่าย เป็นต้น คัดเลือกมาได้เหลือแค่ 7 สายพันธุ์ เพื่อทำเป็นการค้าให้รหัสพันธุ์ไว้ เป็น SF001 ถึง SF007 (SF มาจาก Safety Farm) เป็นสายพันธุ์เพื่อรับประทานผลสด 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์เพื่ออบแห้ง 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์เพื่อการแปรรูป 3 สายพันธุ์

โดยต้นแม่พันธุ์ปลูกลงดินภายในโรงเรือน ให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ด้วยระบบอัตโนมัติ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละเพียง 2 นาที ใช้น้ำประมาณ 1,000 ลิตร ต่อวัน ใช้น้ำประปาจากหมู่บ้าน เสียค่าน้ำ วันละ 10 บาท ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับการให้น้ำ สลับกับการใช้ EM ใส่ปุ๋ยมูลวัว เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ได้รสชาติและการปรับปรุงโครงสร้างของดิน มะเดื่อฝรั่งเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 6 เดือน อายุได้ 8 เดือน ให้ผลเต็มที่ ผลผลิตออกมามากเป็นที่น่าพอใจ จึงเริ่มตอนกิ่งพันธุ์ที่ดีเพื่อขยายพื้นที่ปลูก ด้วยการหาสมาชิกฟาร์มหรือลูกฟาร์มเพื่อสร้างเครือข่าย

โรงเรือนปลูก

ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง

เจ้าของแนะนำว่า เลือกต้นที่มีความสมบูรณ์ กิ่งสวยหลังกรีดลอกเปลือกกิ่งออก ใช้พีทมอสส์ (Peatmoss) หุ้มแทนขุยมะพร้าว ประมาณ 15 วัน จึงเริ่มออกราก แกะถุงพลาสติกออก นำกระถางพลาสติก (7 นิ้ว) ตัดผ่าซีกล้อมตุ้มตอนมัดรอบนอกกระถางให้แน่น ใส่พีทมอสส์จนเต็ม ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน จึงตัดออก พักในที่ร่มโดยไม่ต้องเปลี่ยนลงกระถางสักระยะก็พร้อมที่จะปลูกต่อไป ส่วนกิ่งตอนที่ไม่ได้ล้อมด้วยกระถาง เมื่อกำหนดตัดกิ่งต้องนำมาใส่กระถางด้วยพีทมอสส์เช่นกัน และนำไปเข้าโรงอบโดยไม่ต้องให้น้ำ ประมาณ 10-15 วัน จึงนำออกมาไว้ที่ร่ม 10 วัน ก็พร้อมที่จะปลูก

ขยายพันธุ์

ปัจจุบัน มีสมาชิกฟาร์มเป็นเครือข่ายอยู่ 16 แห่ง และกำลังจะขยายให้ครบ 30 แห่ง ที่ลำปางมีอยู่ 3 แห่ง ที่เชียงใหม่ มีอำเภอเมือง (เจ็ดยอด), แม่แตง, แม่วาง, สันกำแพง, ที่ลำพูนอยู่บ้านธิ ที่อุตรดิตถ์อยู่อำเภอลับแล 2 แห่ง, เชียงรายอยู่ที่อำเภอเทิง 1 แห่ง, อุทัยธานี, บางกะเจ้า สมุทรปราการ, บางแสน ชลบุรี และหล่มสัก เพชรบูรณ์ โดยสมาชิกฟาร์มหรือลูกฟาร์มแต่ละแห่งต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ตารางวา พื้นที่ปรับระดับหน้าดินแล้ว มีการเจาะน้ำบาดาลและต้องสร้างโรงเรือน สมาชิกฟาร์มต้องจ่ายเงิน 720,000 บาท ต่อ 1 โรงเรือน (เป็นต้นทุนวัสดุก่อสร้างโรงเรือน ประมาณ 400,000 บาท) ทีมงานจะดำเนินการก่อสร้างให้ แบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด งวดแรกชำระเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่เซ็นสัญญา งวดที่ 2 ชำระเมื่อสร้างโรงเรือนเสร็จ 25 เปอร์เซ็นต์ และงวดสุดท้ายอีก 25 เปอร์เซ็นต์

เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ภายใน 2 ปี สมาชิกฟาร์มจะคืนทุน โรงเรือน มีขนาด 15 คูณ 30 เมตร วางวงบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร วางวงบ่อได้ 8 แถว แถวละ 30 วงบ่อ รวมเป็น 240 วงบ่อ ซึ่งสะดวกต่อการดูแล มีทั้งสายพันธุ์เพื่อรับประทานผลสด, สายพันธุ์เพื่ออบแห้ง และสายพันธุ์เพื่อการแปรรูปรวมกันอยู่ ในระยะอันใกล้นี้จะไปทำที่หลวงพระบาง สปป. ลาว อีก 2 โรงเรือน

ผลผลิตที่ได้จากสมาชิกฟาร์ม ทางเซฟตี้ ฟาร์ม รับซื้อทั้งหมด ให้กิโลกรัมละ 200 บาท สัญญารับซื้อ 3 ปี พ้น 3 ปี แล้วจึงต่อสัญญาใหม่อีกครั้ง สมาชิกฟาร์มจะทำสัญญาอยู่ต่อหรือออกไปทำเองทั้งหมดก็ได้ เมื่อสมาชิกฟาร์มเก็บผลผลิตได้ ถ้าเป็นผลเพื่อรับประทานผลสดเป็นพันธุ์ที่ผลมีเปลือกเหนียว ให้สมาชิกส่งไปที่เอเยนต์กรุงเทพฯ มี 1 แห่ง เพื่อกระจายไปตามห้างต่างๆ และมีที่เชียงใหม่อีก 1 แห่ง ผลเพื่ออบแห้งให้สมาชิกอบที่ฟาร์มของสมาชิกเองก่อนจัดส่งไปที่เอเยนต์ดังกล่าว

เป็นอีกพันธุ์ที่คัดได้

ส่วนผลเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นพันธุ์ที่ผลบอบช้ำง่าย เปลือกยุ่ยง่าย ให้สมาชิกปอกเปลือกฟรีซแข็งบรรจุถุงพลาสติกใส่กล่องโฟมส่งมาที่ลำปาง ส่งทุก 2 วัน ครั้งละ 20-30 กิโลกรัม (ปกติมะเดื่อฝรั่งติดผลปีละ 2 รุ่นทยอยเก็บผลได้ทุกวัน นาน 3-4 เดือน) แต่มีสมาชิกฟาร์มบางแห่งก็ขอขายผลสดที่ฟาร์มเองบ้างให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมฟาร์มมะเดื่อฝรั่งของตน แต่ก็เป็นจำนวนไม่มาก โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะเดื่อฝรั่งอยู่ที่ลำปาง แปรรูปเป็น น้ำมะเดื่อ แยมมะเดื่อ ควบคุมการผลิตโดยอดีตอาจารย์วิทยาศาสตร์การอาหารจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร (ลำปาง) มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์

ตู้อบแห้งผลมะเดื่อฝรั่ง เป็นตู้อบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนใช้ความร้อนจากสปอตไลต์ 2 ดวง ปิดเปิดเองโดยอัตโนมัติ ใช้เวลาอบ 3 วัน ค่าใช้ตู้อบแห้ง ประมาณ 20,000 บาท สมาชิกจ่ายเพิ่มต่างหากถ้าต้องการทำมะเดื่อฝรั่งอบแห้ง

มะเดื่อฝรั่งแต่ละสายพันธุ์ ลักษณะใบมีขอบใบหยักลึกเหมือนกัน ยากต่อการจำแนก คุณปิยะ บอกว่า มีข้อสังเกตถึงความแตกต่างที่จำนวนหยัก ความลึกของการหยักจะต่างกัน ลำต้นก็ต่างกัน บางสายพันธุ์ต้นตั้งตรง บางสายพันธุ์ต้นทอดยาว จำนวนการแตกกิ่งก็ต่างกัน ส่วนสายพันธุ์ที่ไม่ได้คุณสมบัติตามต้องการจะตัดต้นออก นำตาของสายพันธุ์ดีมาติดแทน

พันธุ์การ์นเซอรี่ ไวท์
พันธุ์แบล็ก เบธเลเฮม

ภายในโรงเรือน คุณปิยะยังปลูกต้นพันธุ์ไม้แปลกๆ เพื่อเตรียมตัวไว้เพื่อทดแทนมะเดื่อฝรั่งในอนาคตเมื่อถึงจุดอิ่มตัว เช่น ส้มญี่ปุ่นรสชาติหวานหอม เปลือกล่อนหลุดง่าย, ลูกหว้าผลสีชมพู, องุ่นไร้เมล็ด, ราสป์เบอร์รี่, แบล็กเบอรี่, บลูเบอรี่, หน่อไม้ฝรั่งสีม่วง, มะเขือเทศเชอร์รี่, ตะบองเพชรรับประทานผลรสชาติแปลก, หม่อนไต้หวันสีขาวช่อผลยาวเป็นคืบ, เลมม่อนผลใหญ่ คุณปิยะ บอกว่า เขาเป็นรายแรกๆ ที่สั่งมะนาวนิ้วมือเข้ามา จึงมีต้นมะนาวนิ้วมือเหลืออยู่มาก

การออกตรวจเยี่ยมสมาชิกฟาร์ม คุณปิยะจะออกตรวจเยี่ยมเดือนละ 2 แห่ง โดยไม่มีการแจ้งให้สมาชิกฟาร์มทราบล่วงหน้า ถ้าพบว่าสมาชิกฟาร์มแห่งใดทำผิดเงื่อนไขมีการแอบใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะยกเลิกสัญญาทันที ฟาร์มบางแห่งอยู่ไกลมาก เช่น ที่อำเภอเทิง ก็ให้สมาชิกติดกล้องวงจรปิด ส่งมายังโทรศัพท์มือถือคุณปิยะเมื่อต้องการจะตรวจ ดังนั้น จึงเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่ามะเดื่อฝรั่งและผลิตภัณฑ์จากมะเดื่อฝรั่งของเซฟตี้ ฟาร์ม ปลอดจากสารพิษจริง

เซฟตี้ ฟาร์ม ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านลำปางเมาท์เทนวิว หมู่ที่ 8 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ไม่ไกลตัวเมืองลำปาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร หมู่บ้านอยู่ติดกับถนนพหลโยธิน (ลำปาง-งาว) เยื้องกับโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน ประมาณ 150 เมตร เข้าขวามือซอยแรกเป็นที่ตั้งของโรงเรือนแม่พันธุ์

ผู้ที่สนใจพันธุ์มะเดื่อฝรั่งและไม้แปลก ต้องการมาเยี่ยมชมหรือมาศึกษาก่อนตัดสินใจปลูก ให้โทร.ติดต่อมาล่วงหน้า เบอร์โทร (085) 687-8778 หรือเข้าไปที่ Facebook : Safety Farm จะได้รับการต้อนรับด้วยความยินดีทุกท่าน