ระวังหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (FAW) แมลงศัตรูพืชสำคัญ บินข้ามพรมแดนเข้ามาระบาดในประเทศไทย

ในช่วงนี้จะมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ บินข้ามทวีปเข้ามาระบาดในประเทศไทย แมลงศัตรูพืชที่ว่านี้เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ซึ่งหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (fall armyworm) เรียกย่อๆ ว่า FAW เนื่องจากหนอนตัวนี้เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย จึงไม่มีชื่อภาษาไทย จึงเรียกทับศัพท์ว่า หนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (fall armyworm) ล่าสุดเพิ่งมีการตั้งชื่อสามัญภาษาไทยว่า “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด”

คุณศรุต สุทธิอารมณ์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า หนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (FAW) เป็นศัตรูพืชที่สำคัญของข้าวโพด สามารถบินข้ามพรมแดนไปได้ไกล เดิมพบระบาดอยู่ในอเมริกาใต้ แล้วข้ามไประบาดในอเมริกาเหนือ

เมื่อต้นปี 2559 มีรายงานการระบาดทางตะวันตกของประเทศไนจีเรีย จากนั้นแพร่กระจายออกไปหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกา ส่วนในทวีปเอเชียมีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในปี 2561 ที่ผ่านมา ทำลายข้าวโพดในพื้นที่ประเทศอินเดีย 45 รัฐ ข้าวโพดเสียหายทั้งหมด และมีรายงานพบหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม ในบางประเทศของทวีปยุโรป

ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่ต้องเฝ้าระวัง

คุณศรุต เล่าต่อไปว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แจ้งเตือนสมาชิกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชดังกล่าวจะเข้ามาระบาดในประเทศ เมื่อประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจาก FAO เรื่องการระบาดของหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ส่งนักกีฏวิทยาและเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจพื้นที่ตามแนวชายแดนสหภาพเมียนมา ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก รวมทั้ง จังหวัดกาญจนบุรีด้วย โดยเฉพาะ จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับสหภาพเมียนมามากที่สุด

พร้อมกันนั้นก็ได้แจ้งให้ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้รับรู้และช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจและติดตามการระบาดของหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม ตลอดจนให้หน่วยงานต่างๆ ภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพด เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด พร้อมกับแจกคู่มือการสำรวจและการเฝ้าระวัง รวมไปถึงจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ด่านศุลกากร ทหาร ตำรวจ กองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวโพด และการส่งออก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศ

มันมากับความมืด

บินได้ไกลถึง 100 กม. ต่อคืน

ผีเสื้อหนอนตัวนี้ จะบินข้ามพรมแดนในเวลากลางคืน บินได้ไกลเฉลี่ยประมาณ 100 กิโลเมตร ต่อคืน จึงทำให้การระบาดข้ามทวีปและมาถึงประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว หนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (fall armyworm) ใช้เวลาเพียง 3 เดือน สามารถเดินทางได้ประมาณ 1,600 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางในเวลากลางคืนระบาดไปทั่วอินเดีย ทำลายข้าวโพดเสียหายรวมแล้ว 45 รัฐ

1 รอบ ของวงจรชีวิตของหนอนกระทู้ชนิดนี้ ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ในเวลากลางคืน ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่ขนาดลำตัวยาว ประมาณ 3.2-4.3 เซนติเมตร หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน

ทำลายข้าวโพดทุกระยะของการเจริญเติบโต

หนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (fall armyworm) กินพืชอาหารได้มากกว่า 80 ชนิด นอกจากจะกินข้าวโพดแล้วยังมีพืชอาศัยที่เป็นแหล่งอาหารอื่นอีก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี อ้อย ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด แต่มันชอบกินข้าวโพดมากกว่า แต่ถ้าทำลายข้าวโพดหมดก็จะหันมาทำลายพืชตัวอื่นต่อไป คุณศรุต บอก

“จากการสังเกตความเสียหาย ถ้ามันทำลายต้นข้าวโพดที่อายุไม่ถึงเดือน ข้าวโพดจะเสียหายทั้งหมด มันกินได้รวดเร็วมากและทำลายทุกระยะของการเจริญเติบโตของข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอกออกมาจนถึงระยะเก็บเกี่ยว แรกๆ มันจะกินใบ พอต้นโตขึ้นมาก็จะลงเข้าไปกินลำต้น พอต้นข้าวโพดใหญ่ จะเข้าไปกินข้างในยอดดอกตัวผู้”

การทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนถึงออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่ง หรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด

คุณศรุต กล่าวว่า ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบ เล็ก ไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ จากการสำรวจการระบาดของหนอนชนิดนี้ พบหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม ระบาดในทุกแหล่งปลูกข้าวโพดของประเทศไทย แต่การระบาดที่รุนแรงมากที่สุดคือ จังหวัดที่อยู่ใกล้กับสหภาพเมียนมา เช่น จังหวัดตาก กาญจนบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก และ อุทัยธานี ทั้ง 5 จังหวัดนี้มีการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม หลายระรอก ในแปลงข้าวโพดพบหนอนหลายรุ่น ข้าวโพดเสียหายอย่างรุนแรง

การป้องกัน และกำจัด

ระยะไข่และหนอนที่เพิ่งฟัก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวโพด โดยเฉพาะเจ้าของแปลงข้าวโพด ต้องออกสำรวจแปลงข้าวโพดอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ข้าวโพดงอกจนถึงอายุ 40 วัน เพื่อเก็บกลุ่มไข่และหนอนที่เพิ่งฟักออกจากไข่ทำลายทิ้ง ปล่อยแตนเบียนไข่ ไตรโคแกรมมา เอสพีพี (Trichogramma spp.) หรือแมลงหางหนีบ

ระยะหนอน หากพบการระบาดของหนอนให้ดำเนินการป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร สารเคมีที่ใช้พ่น ได้แก่

1.สารสไปนีโทแรม (Spinetoram) 12 SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (สารในกลุ่ม 5) หรือ

  1. สารคลอแรนทรานิลิโพรล (Chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูเบนไดอะไมด์ (Flubendiamide) 20% WG อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (สารในกลุ่ม 28) หรือ
  2. สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (Chlofenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (สารในกลุ่ม 13) หรือ
  3. สารอินดอกซาคาร์บ (Indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (สารในกลุ่ม 22)

วิธีพ่น ให้พ่นสารฆ่าแมลงทุกๆ 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงจรชีวิต) เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

– ควรพ่นสารฆ่าแมลงในช่วงเวลาเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่หนอนออกจากที่หลบซ่อน

– สำหรับข้าวโพดอายุ 30 วัน ขึ้นไป หนอนที่เริ่มโตจะเจาะเข้าไปอยู่ในยอด ให้พ่นสารฆ่าแมลงเข้าไปในกรวยใบ หลังจากนั้นให้ใช้การป้องกันกำจัดโดยชีววิธีในฤดูกาลต่อไป

การใช้ชีววิธี ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเจนซิส (Bt) สายพันธุ์โอซาโว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน เมื่อพบการระบาดหรือปล่อยแมลงตัวห้ำ เช่น มวนพิฆาตและมวนเพชฌฆาต

สุดท้าย หากพบการระบาดรุนแรงจนไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ให้ทำลายแปลงข้าวโพดโดยไถพรวนเพื่อทำลายตัวดักแด้ที่ฝังตัวอยู่ในดินเพื่อไม่ให้ระบาดต่อไป

คุณศรุต กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้ตรวจพบการระบาดของหนอนกระทู้ดังกล่าวในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรก็ได้เตรียมแผนปฏิบัติงานฉุกเฉิน คอยรับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด โดยเปิดสายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม โดยมีกลุ่มงานที่รับผิดชอบคือ กลุ่มงานเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อให้ทุกฝ่ายรายงานเข้ามาเมื่อพบตัวหนอน หรือแม้จะพบการทำลายข้าวโพดเพียงเล็กน้อยก็ตามก่อนที่หนอนจะระบาดออกไปอย่างรวดเร็ว โดยแจ้งทางโทรศัพท์หมายเลข (02) 579-8561 โทรสาร (02) 561-0744 หรือ (061) 415-2517 อี-เมล [email protected].

ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งดำเนินการวิจัยเร่งด่วนเพื่อหาวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม ที่เหมาะสม ทั้งการใช้วิธีชีวภาพ การใช้สารเคมี และวิธีป้องกันกำจัดอื่นที่มีประสิทธิภาพ สำหรับข้าวโพดทุกประเภทที่ปลูกในประเทศไทย เพื่อแนะนำแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ในฤดูการปลูกข้าวโพดรุ่นต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-5583, (02) 579-3704 ต่อ 102, 164 ทุกวัน ในเวลาราชการ