คนร้อยเอ็ด มีวิธีทำไร่นาสวนผสม จนได้เป็นเกษตรกรดีเด่น

นางสำรวย บางสร้อย อายุ 50 ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สมรสกับ นายแสงจันทร์ บางสร้อย บุตร 2 คน

ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 12 บ้านสวนปอ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์ (061) 109-4549

ถึงแม้ปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสมนัก แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียร มีความคิดริเริ่มและปฏิบัติจริง ทำให้นางสำรวย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสมปี 2562

ความคิดริเริ่ม 

– พ.ศ. 2525 เริ่มประกอบอาชีพทำนาและค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดตลาดนัดในอำเภอ

– พ.ศ. 2534 เริ่มป่วย

– พ.ศ. 2538 ป่วยหนักตามองไม่เห็น 8 เดือน ตั้งปณิธานกับพระฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากหายป่วย เริ่มปลูกมะนาวบนคันนา 50 ต้น 9 เดือนมีรายได้ 100,200 บาท และขุดบ่อเลี้ยงปลา จำนวน 2 บ่อ

– พ.ศ. 2559 ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

– พ.ศ. 2560 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายฐปน สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหาร ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ได้ลงมาติดตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และได้ให้คำแนะนำแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และการทำไร่นาสวนผสมให้มีกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการทำประมง ให้เกิดความหลากหลาย เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพพืชผัก

ความพยายามฟันฝ่าอุปสรรค

– เดิมทำนาใช้ปุ๋ยเคมีมาก ต้นทุนการผลิตสูง หน้าดินแข็ง ดินขาดอินทรียวัตถุ

– ปี 2538 นางสำรวย บางสร้อย หายป่วยเริ่มทำการเกษตรแบบลองผิดลองถูก โดยไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากตระหนักในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

– เริ่มศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้น้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

– เริ่มทำไร่นาสวนผสมโดยทดลองปลูกในพื้นที่น้อยก่อน มีกิจกรรมปลูกมะนาว ปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อให้มีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี มีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ และขยายพื้นที่ปลูกพืชเพิ่ม จำนวน 6 ไร่ และปัจจุบันนี้ขยายพื้นที่เพิ่ม จำนวน 20 ไร่ โดยเน้นปลูกพืชไม่ใช้สารเคมี มีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น แตงกวา ข้าวโพด พืชผักหลายชนิด พืชอาหารสัตว์ เลี้ยงโค เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา มีกิจกรรมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัว

– เริ่มอบรม ศึกษาดูงาน และนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง ปรับปรุงบำรุงดิน โดยปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ทำปุ๋ยอินทรีย์ และทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง

– ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพืชแต่ละชนิด

– ศึกษาระบบการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

– ศึกษาความต้องการของตลาดในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตพืช

– ได้นำแนวคิดของโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

1. ใช้ทรัพยากรที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
2. วางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมทางกายภาพของดิน
3. บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งปี
4. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ โดยไม่ใช้สารเคมี
5. ปลูกพืชหมุนเวียน
6. นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ และนำฟางมาเป็นอาหารสัตว์

– ปัจจุบันพื้นดินที่เคยขาดความอุดมสมบูรณ์และแห้งแล้ง ได้รับการปรับปรุงเข้าสู่ความสมดุลทางธรรมชาติ มีกิจกรรมหลากหลายสามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรได้

การพัฒนาการเกษตร
การจัดการที่ดิน

– มีการจัดระบบการปลูกพืช คือ ข้าว + พืช + สัตว์ + ประมง มีกิจกรรมดังนี้

1. ปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์หอมมะลิ 105
2. ปลูกพืชผัก ได้แก่ ขึ้นฉ่าย แตงกวา ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ถั่วลิสง กะหล่ำปลี มะนาว เพาะกล้าไม้
3. ไม้ผล อินทผลัม
4. เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ เป็ด โคพื้นเมือง
5. ประมง ได้แก่ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก เพาะลูกปลา กบ

การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

– ขุดบ่อน้ำ จำนวน 5 บ่อ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และเลี้ยงปลาไว้บริโภคและจำหน่าย

เลี้ยงไก่

การปรับปรุงบำรุงดิน

– ปลูกพืชหมุนเวียนหลังฤดูทำนา ได้แก่ แตงกวา ข้าวโพด ถั่วลิสง
– ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ
– เลิกใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีทุกชนิด และผลิตสารไล่แมลง ฮอร์โมนชนิดต่างๆ ใช้เอง
– ไถกลบตอซังข้าว
– พืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพล้า (ขายเมล็ดพันธุ์)

การลดต้นทุนการผลิต

– เลิกใช้สารเคมีทุกชนิด
– ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และฮอร์โมนชนิดต่างๆ ใช้เอง

การลดความเสี่ยงด้านรายได้/การตลาด

– ปลูกพืชหลากหลายชนิด ตามความต้องการของตลาด และลดความเสี่ยง และใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการขาย เช่น ช่องทางเฟซบุ๊ก ทางไลน์
– ศึกษาความต้องการของตลาด
– ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และผลิตพืชขายได้ตลอดเวลา
– แปรรูปผลผลิตจำหน่ายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

การลดรายจ่ายในครัวเรือน

– ใช้หลักการประหยัดในการดำรงชีพกินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน
– ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
– ขยายโอกาส
– จัดระบบการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้อย่างเหมาะสมในพื้นที่

การจัดการด้านแรงงาน

– ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก มีแรงงานทั้งหมด 4 คน

การจัดการด้านการเงิน

– จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายต้นทุนการผลิตต่างๆ ไว้สม่ำเสมอ จึงทำให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านการตลาดเวลา
– ลดต้นทุนในการผลิต เช่น ยกเลิกการใช้สารเคมีปุ๋ยเคมี ทำนาหยอดเพื่อประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้แรงงานในครัวเรือน
– คัดเลือกเมล็ดพันธุ์และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์เอง
– ลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก
– สามารถชำระหนี้สินที่เกิดจากการเจ็บป่วย จำนวน 2 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือหนี้ จำนวน 5 แสนบาท จากการทำไร่นาสวนผสม 3 ปี

ทำบัญชี

การนำเทคโนโลยีมาใช้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

– เอาดินไปตรวจวิเคราะห์ พบว่า ดินขาดธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแคลเซียม

– ยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิด ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับปรุงดิน และผลิตสารไล่แมลง ฮอร์โมนชนิดต่างๆ ใช้เอง

– ไม่เผาตอซัง ใช้วิธีไถกลบตอซัง และพื้นที่บางส่วนเลี้ยงปลาดุกหลังเก็บเกี่ยวข้าว

– ใช้ตลาดนำการผลิตโดยการศึกษาราคาสินค้า และความต้องการสินค้าของตลาดจากอินเตอร์เน็ต เพื่อวางแผนการผลิต เน้นสินค้าปลอดภัย จำหน่าย ช่องทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และตลาดท้องถิ่น ตลาดอำเภอปทุมรัตน์ โรงพยาบาลปทุมรัตน์

– ปลูกผักไฮโดรโปนิก จำนวน 2 โรงเรือน แต่ละโรงเรือนขนาดพื้นที่กว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร โดยวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ว่าผักบางชนิดมีราคาแพง แต่บางฤดูไม่สามารถปลูกบนพื้นดินได้ จึงนำมาทำเป็นผักไฮโดรโปนิกแทน โดยใช้น้ำจากบ่อใหญ่ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร ลึก 150 เซนติเมตร ที่เลี้ยงปลาเบญจพรรณ สูบลงบ่อซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยงปลาดุกขนาดวงบ่อกว้าง 80 เซนติเมตร ลึก 150 เซนติเมตร จำนวน 8 บ่อ และใช้น้ำหมักจากหน่อกล้วยผสมกับน้ำหมักจากน้ำซาวข้าวใส่ในบ่อเลี้ยงปลาดุก บ่อละ 2-3 ลิตร ทุกๆ 4 วัน เป็นการให้ปุ๋ยทางน้ำแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ขณะเดียวกัน ก็มีรายได้จากการเลี้ยงปลาดุก โดยไปอบรมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาดูงานจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจังหวัดยโสธรและจากอินเตอร์เน็ต

– บ่อที่เลี้ยงปลาดุกจะนำฟางมาหมักที่มุมบ่อ เพื่อให้เกิดไรแดงและแพลงก์ตอนเป็นอาหารปลา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา

– ทำนาโดยวิธีการหยอด

– ปกติใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำนาหยอดใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 10 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จำนวน 1,125 บาท ต่อไร่

– มีเทคนิคการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว

1. ใช้รถบรรทุกปุ๋ยขับหว่านปุ๋ยไปตามแปลงนา เพื่อประหยัดแรงงานโดยจะหว่านปุ๋ยในช่วงเวลาเช้า เนื่องจากช่วงเช้าจะไม่ร้อนแดดและลมไม่แรง ทั้งนี้ ต้องดูทิศทางลมประกอบด้วย

2. หว่านปุ๋ยคอกจำนวน 800 กิโลกรัม ต่อไร่ เสร็จแล้วไถแปร หลังจากนั้น ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ และหว่านทับด้วยปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อเสร็จแล้วจึงหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว เมื่อข้าวเจริญเติบโตได้ขนาด 1 ศอก จะทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้ง จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ และคอยดูแลกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ ผลผลิตข้าวที่ได้รับเฉลี่ย 1 ตัน ต่อไร่

– ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 2 ชุด ครอบคลุมพื้นที่ 100 ไร่ มีกลุ่มสมาชิกผู้ใช้น้ำสามารถทำนาและปลูกพืชผักหลังฤดูกาลทำนา เช่น แตงกวา ข้าวโพด ถั่วลิสง

– เพาะพันธุ์ปลาไว้เลี้ยงเอง เพื่อเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และจำหน่าย และแจกลูกปลาให้กับเกษตรกรที่ต้องการ จำนวน 265,000 ตัว เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน โดยได้รับการอบรมจากประมงจังหวัด

ปุ๋ยหมัก

ผลงานและความสำเร็จ

ผลงาน

  1. พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 20 ไร่ มีกิจกรรมดำเนินการดังนี้

ส่วนที่ 1 พื้นที่ 1 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย เก็บอุปกรณ์การเกษตร โรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผสมผสาน
ส่วนที่ 2 พื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงสัตว์
ส่วนที่ 3 พื้นที่ 2 ไร่ ขุดบ่อ 5 บ่อ เลี้ยงปลาตะเพียน ปลาดุก ปลานิล และเพาะขยายพันธุ์ปลา
ส่วนที่ 4 พื้นที่ 10 ไร่ ปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์หอม 105 หลังเก็บเกี่ยวปลูกพืชหมุนเวียน ปุ๋ยพืชสด และปลูกพืชผักหมุนเวียน
ส่วนที่ 5 พื้นที่ 6 ไร่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น (อินทผลัม) พืชผักต่างๆ และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์

  1. มีกิจกรรมการผลิตอาหารที่หลากหลาย ทั้งข้าวพืชผัก เลี้ยงสัตว์ และประมง
  2. แปลงมีความอุดมสมบูรณ์
  3. ผลผลิตด้านพืช ปศุสัตว์ ด้านประมง ดังนี้

ด้านพืช
– ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ 10 ไร่ เดิมผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่
– ขึ้นฉ่าย พื้นที่ 2 งาน ผลผลิต 1.2 ตัน
– แตงกวา พื้นที่ 2 งาน ผลผลิต 2.1 ตัน
– ถั่วฝักยาว จำนวน 50 หลุม ผลผลิต 102 กิโลกรัม
– ข้าวโพด พื้นที่ 1 ไร่ ผลผลิต 450 กิโลกรัม
– ถั่วลิสง พื้นที่ 2 ไร่ ผลผลิต 600 กิโลกรัม 
– กะหล่ำปลี พื้นที่ 1 งาน ผลผลิต 20 กิโลกรัม
– มะนาว จำนวน 50 ต้น ผลผลิต 400 กิโลกรัม
– เพาะกล้าไม้ พื้นที่ 1 งาน จำนวน 11,300 ต้น แจกฟรี (เพื่อปลูกป่าชุมชน)

ด้านปศุสัตว์
– ไก่พื้นเมือง จำนวน 360 ตัว ต่อปี
– ไก่ไข่ จำนวน 20 ตัว
– เป็ด จำนวน 10 ตัว
– โคพื้นเมือง จำนวน 13 ตัว ได้ลูก 6 ตัว ต่อปี

ด้านประมง
– ปลานิล จำนวน 5,000 ตัว
– ปลาตะเพียน จำนวน 2,000 ตัว
– ปลาดุก จำนวน 5,000 ตัว
– ผลิตลูกปลา จำนวน 350,000 ตัว ต่อปี
– กบ จำนวน 1,000 กิโลกรัม ต่อปี

  1. ใช้วิชาการในการปรับปรุงการผลิต ได้แก่ การปรับปรุงดิน การเพาะพันธุ์ปลา การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้สื่อออนไลน์จำหน่ายผลผลิต การใช้น้ำเลี้ยงปลาดุกมาทำผักไฮโดรโปนิก การลดต้นทุนการผลิตข้าว และการยกเลิกใช้สารเคมี
  2. นำผลผลิตไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม คือแปรรูปข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ทำปั้นขลิบ ทำเค้กจำหน่าย
  3. นำสิ่งเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และฮอร์โมนต่างๆ

การจัดการ

  1. มีผังฟาร์ม/แผน และงบประมาณฟาร์ม ปฏิทินการปลูกพืช สัตว์ ประมง
  2. มีการจดบันทึกบัญชีฟาร์ม และแยกเป็นรายพืช ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี
  3. มีการจัดการผลผลิต/การจำหน่าย/การตลาด โดยขายในตลาดชุมชน ตลาดนัดอำเภอ โรงพยาบาล และขายช่องทางออนไลน์ ทางเฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นสินค้าอินทรีย์
  4. ใช้แรงงานที่สอดคล้องกับกิจกรรมและขนาดของพื้นที่
  5. มีการผสมผสานเกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันและกัน
  6. ผลตอบแทน/การลงทุน (ย้อนหลัง 3 ปี)
รายการ รายรับ/รายจ่าย (บาท)
  2559 2560 2561
ต้นทุน 88,314 117,384 151,817
รายรับ 171,120 412,269 419,431
กำไร 82,806 294,885 267,614

 

รายได้รายวัน ได้แก่ พืชผัก ขึ้นฉ่าย มะนาว ผักบุ้ง
รายได้รายสัปดาห์ ได้แก่ มะเขือ พริก โหระพา ไข่ไก่ ถั่วฝักยาว
รายได้รายเดือน หรือตามฤดูกาลผลิต 2-4 เดือน ได้แก่ พืชผัก กบ เป็ด ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลานิล
รายได้รายปี ได้แก่ พืชผัก แตงกวา ถั่วลิสง ข้าวนาปี โค

  1. ได้นำผลตอบแทนไปลงทุนในการปรับปรุงกิจกรรมต่อในฟาร์ม
แผนผังการผลิต

ความยั่งยืนด้านการประกอบอาชีพ

– มีกิจกรรมทำหลากหลาย ทั้ง ข้าว พืช สัตว์ ประมง ทำให้นางสำรวย บางสร้อย มีรายได้ต่อเนื่องตลอดปีทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ชุมชนยอมรับ สามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชน มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในไร่นา และมีบุตรชายสืบทอดกิจกรรมต่างๆ ในฟาร์ม

ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

– ความเป็นผู้นำและเสียสละเพื่อส่วนรวม

  1. เป็นเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
  2. เป็นจุดเรียนรู้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับอำเภอ
  3. เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานราชการและเอกชน
  4. ชนะเลิศการประกวดสมาชิกการพัฒนาบทบาทสตรีดีเด่นระดับจังหวัดประจำปี 2560
  5. ชนะเลิศการประกวดประมงอาสาดีเด่นระดับจังหวัดปี 2561
  6. รองชนะเลิศเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์มระดับภาคปี 2562
  7. เป็นประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่เกษตรผสมผสานบ้านสวนปอ โดยการจัดทำแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105
  8. เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคบ้านสวนปอ
  9. จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ มีสมาชิก 36 ราย มีหุ้นทั้งหมด 160 หุ้น ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียน 26,000 บาท ใช้หลักบริหาร “การบริหารจัดการต้องซื่อสัตย์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้”
  10. ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม คือเพาะพันธุ์ปลาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้มีอาหารโปรตีนบริโภคอย่างเพียงพอ
  11. เป็นผู้มีความสามารถในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในชุมชนได้เป็นอย่างดี
  12. มีการขยายผลให้กับเกษตรกรที่ต้องการรับองค์ความรู้

–  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  1. พื้นที่การเกษตรมีเอกสารสิทธิแบบโฉนดที่ดิน (น.ส.4จ.) เลขที่ 7041 ซึ่งไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
  2. ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด และปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน
  3. ยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยปลูกข้าวอินทรีย์และพืชอินทรีย์ทุกชนิด เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว
  4. ปลูกพืชคลุมดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว
  5. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยวิธีการผสมผสาน เช่น เขตกรรมการใช้สารชีวภาพ
  6. มีการจัดการคอกสัตว์เลี้ยง และโรงเรือน บ่อปลา/สัตว์น้ำ กิจกรรมพืชในแปลงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสุขลักษณะ มีอากาศถ่ายเท มีการจัดสรรระบบน้ำในบ่อเลี้ยงปลาแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ ปลูกผักไฮโดรโปนิก ไม่มีกลิ่นรบกวน
  7. ไม่เผาตอซัง ใช้วิธีไถกลบตอซัง