ทำไร่นาสวนผสมแบบคนขี้เกียจ ทำน้อยแต่ได้มาก

ธรรมชาติ มีความหลากหลายของพืชพรรณที่ขึ้นปะปนกันไป อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ร่วมกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ก็สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดฤดูที่ผ่านไป การเลียนแบบธรรมชาติในการทำไร่นาสวนผสม ด้วยการปลูกพืชหลายชนิดปะปนกัน โดยคำนึงถึงชนิดของพืชแต่ละชนิดว่ามีจะเจริญโตได้ดีในสภาพเช่นใด ซึ่งการวางแผนและระบบนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการตลอดไปทุกระยะตั้งแต่การปลูก การดูแลบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการขนส่ง การจัดทำไร่นาสวนผสมแต่คนจะมีความแตกต่างกัน

เช่น “สวนธรรมพอดี” เป็นสวนที่อยู่ท่ามกลางกลางทุ่งนามีพืชหลากหลายปลูกปะปนกัน หลายคนมองเห็นแล้วนึกเสียดายพื้นที่และตำหนิในเริ่มแรกที่พบเห็นสวนที่รกรุงรัง คิดว่าเจ้าของสวน “ขี้เกียจ” ไม่ดูแล แต่พบว่า เจ้าของสวนนี้ มีผลผลิตพืชหลายชนิดวางจำหน่ายในตลาดนัดเป็นประจำ

คุณนิตยา บุญจันทร์ และ คุณวัชระ ยี่สุ่น สามี

คุณนิตยา บุญจันทร์ เกษตรกรต้นแบบการบริหารจัดการศัตรูพืช ประจำศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรอำเภอหันคา (ศพก.) บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้ทำงานกับบริษัทดังใน กทม. แต่เมื่อพบกับสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจใน ปี 2540 จึงคิดได้ว่าเป็นสภาพที่ไม่มั่นคงเพราะกิจการไม่ใช่ของตัวเอง

จึงหันกลับคืนสู่บ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพทำนา เริ่มแรกทำเหมือนกับเพื่อนเกษตรกรทั่วไป แต่เมื่อตรวจสอบรายรับจากการจัดทำบัญชีฟาร์ม พบว่า มีรายได้เกือบขาดทุน ไม่ได้ค่าแรงที่ทำลงไป แต่เมื่อได้ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เนืองๆ กอปรกับการมีภาระหนี้สินสะสม จึงเล็งเห็นประโยชน์และแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นทางออกให้กับการลดภาระหนี้สิน เพราะเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบคิดซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้

พื้นที่นาลดการเผาตอซังและฟางข้าว ปล่อยให้ย่อยในทุ่งนา

รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน ส่วน คำว่า พอเพียง คือการดำเนินชีวิตแบบสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลัก 3 ประการ ในแผนภูมิเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นั่นคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี และต้องประกอบด้วยความรู้และคุณธรรม ซึ่งแนวคิดนี้คือการไม่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้และเผื่อแผ่ไปถึงสังคมรอบข้างเราและเมื่อเราสามารถทำตัวเป็นตัวอย่างได้แล้ว เราก็จะสามารถพาคนรอบข้างเราผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้อย่างมีความสุขในแบบทำให้ดู อยู่ให้เป็น เพื่อทำให้ทุกคน “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”

สภาพทั่วไปของไร่นาสวนผสม มีพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็น ทำนา จำนวน 8 ไร่ ทำสวนแบบผสมผสาน จำนวน 5 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้

1. กิจกรรมที่ทำรายได้ ได้แก่ ข้าว โดยทำนาปีละ 2 ครั้ง ทำนา ข้าวพันธุ์ กข 43 ในฤดูนาปรังและทำข้าวหอมมะลิในฤดูนาปี ในพื้นที่ 8 ไร่ เก็บข้าวไว้แปรรูปเพื่อบริโภคและจำหน่าย

2. สวนแบบผสมผสาน พื้นที่ 5 ไร่ ประกอบไปด้วย ผักเก็บยอดอ่อนที่สามารถเก็บจำหน่ายรายสัปดาห์ เช่น ใบชะมวง มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ และมีไม้ตัดใบเพื่อขายร้านดอกไม้ เช่น ยางอินเดีย และใบพุด ร่องสวนเลี้ยงหอยขม และไก่บ้านที่เลี้ยงไว้กินไข่และกินเนื้อ และพืชสมุนไพรต่างๆ เช่น ขมิ้น ไผ่กิมซุ่ง ไว้ใช้สอย อีกทั้งปลูกไม้มรดก ได้แก่ ประดู่ ต้นแดง ยางนา พะยูง ฯลฯ

หอยขมในร่องสวน

การทำไร่นาสวนผสม ปัญหาที่พบคือ สภาพของดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ได้ปลูกหญ้าแฝก

โดยประโยชน์ของการปลูกหญ้าแฝกคือ

1. การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ เนื่องจากระบบรากของหญ้าแฝกค่อนข้างมาก และหนาแน่น มีมวลชีวภาพสูง และเจริญแทรกลงไปในดิน ด้วยลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เมื่อรากบางส่วนตายไป สำหรับส่วนของใบพบว่า หญ้าแฝกเจริญได้ค่อนข้างเร็ว มวลชีวภาพสูง ดังนั้น การตัดใบคลุมดินจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และยังช่วยเร่งการแตกหน่อของหญ้าแฝกด้วย

2.การเพิ่มปริมาณความชื้นในดิน ในระบบที่มีการปลูกหญ้าแฝกจะพบว่า ดินเก็บความชื้นได้ยาวนานกว่า เนื่องจากส่วนของรากหญ้าแฝกที่ประสานกันเป็นร่างแห จะช่วยดูดยึดน้ำไว้ในดิน ซึ่งเห็นได้จากไม้ผล หรือพืชไร่ที่เจริญใกล้แถวหญ้าแฝก จะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าพืชที่ไม่ได้ปลูกใกล้หญ้าแฝก ปัจจัยหนึ่งคือ ระดับความชื้นในดินมีมาก และยาวนานกว่า

3.การเพิ่มอัตราการระบายน้ำและอากาศระบบรากของหญ้าแฝกที่แพร่กระจาย มีส่วนช่วยให้ดินมีการระบายน้ำ และอากาศได้ดีมากขึ้นกว่าการไม่มีรากหญ้าแฝก

4.การเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน บริเวณรากหญ้าแฝกพบว่า มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่มีผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารพืชในดิน ช่วยดูดธาตุอาหารจากดิน และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมของเชื้อจุลินทรีย์ในบริเวณราก ลักษณะดังกล่าวส่งผลดีต่อการเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในดิน

การทำไร่นาสวนผสม ในพื้นที่เล็กน้อย เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน จะต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การนำหน่อไม้กิมซุ่ง มาแปรรูปโดยการหมักดองเพื่อจำหน่ายในรูปหน่อไม้ดอง และการใช้วัสดุในไร่นามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำหน่อกล้วยมาหมักเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพไว้ฉีดบำรุงดินและผลผลิตทางการเกษตร

การดำเนินงานฟาร์ม ทุนเริ่มแรกใช้เงินทุนส่วนตัว และเมื่อไม้บางส่วนให้ผลผลิต สร้างรายได้เกิดผลตอบแทนจากการทำไร่นาสวนผสม จากการจำหน่ายข้าวและผัก และสมุนไพรในรอบการจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ดังนี้

– การทำพืชผัก สมุนไพร สามารถจำหน่ายได้ประมาณวันละ 400 บาท และเก็บผลผลิตจำหน่ายตลาดนัดทั่วไป ประมาณสัปดาห์ละ 1,500 บาท

– การปลูกข้าว สามารถทำรายได้ ปีละ 300,000 บาท

รายได้ดังกล่าว นับเป็นรายได้ที่พอเพียง เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์ม ใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน มีต้นทุนไม่สูงนัก ปัจจัยต่างๆ ผลิตโดยใช้ปัจจัยที่หาได้จากไร่นาและหาได้จากท้องถิ่น นำมาผสมขึ้นมาใช้ในไร่นา มีการนำรายได้มาลงทุนพัฒนาปรับปรุงสวนให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำไร่นาสวนมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนต่างๆ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติ การปลูกพืชแบบผสมผสานทำให้มีรายได้ทุกวัน ด้วยความตระหนักอยู่เสมอว่า “เกษตรกรต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น มานะอย่างแท้จริง จึงจะประสบความสำเร็จได้”

ยอดชะมวง เก็บยอดจำหน่ายสร้างรายได้ทุกวัน

คุณนิตยา บอกว่า  การประกอบอาชีพไร่นาสวนผสมเป็นการตอบสนองต่อการบริโภค และลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตและภัยธรรมชาติ เพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก โดยพึ่งพาทรัพยากรในไร่นามากขึ้น

โดยการปลูกพืชระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ทำให้มีรายได้เป็น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี การปลูกพืชที่หลากหลาย ทำให้มีแหล่งอาหารไว้บริโภคที่หลากหลายชนิดจนดูเหมือนรกรุงรัง ให้วัชพืชคลุมดินบ้างจนดูเหมือน “ทำสวนแบบขี้เกียจ”

มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในสวนไร่นาอย่างคุ้มค่า ลดรายจ่ายจากภายนอก ในระยะยาวจะเป็นการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศเกษตรชุมชนดีขึ้น ดังคำชื่อสวนนี้ว่า “สวนธรรมพอดี” ให้ทุกอย่างเจริญเติบโตอย่างธรรมชาติ ทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความพอดีอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ หรือเกษตรกรที่สนใจ นำไปปฏิบัติเป็นตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ต่อไป

เกษตรกรหรือผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 081-039-7540 ยินดีต้อนรับ


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

 

ใบยางอินเดีย เก็บใบจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354