พะเยา ลดต้นทุน นำน้ำหมักชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้อากาศยานไร้คนขับฉีดพ่น

คณะผู้บริหารคลังประจำจังหวัดพะเยา เปิดโครงการคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดพะเยา (คบจ.) ร่วมใจส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ด้วยน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้โดรน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพลดต้นทุนการผลิต

คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดโครงการ คบจ. ร่วมใจส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ด้วยน้ำหมักชีวภาพ ที่บ้านจำป่าหวาย ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

โดรนกำลังฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ

คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดพะเยา หรือ คบจ. ประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะผู้บริหารการคลัง ประจำจังหวัดพะเยา สอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัด ด้านการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย และการค้าการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจังหวัดพะเยามีพื้นที่เกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้น พื้นที่เพาะปลูก 975 ไร่ ได้รับผลกระทบราคาใบยาสูบตกต่ำ จากโครงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของทุกภาคส่วน

บรรยากาศภายในงาน

ดังนั้น สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่พะเยา และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดพะเยา ได้คิดค้นสูตรน้ำหมักชีวภาพ กำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ผลิตจากสุราพื้นบ้านผสมใบยาสูบ และสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปฉีดพ่นในพืชได้ทุกชนิด และมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืช หากเก็บน้ำหมักชีวภาพไว้เป็นเวลานาน น้ำหมักจะกลายเป็นปุ๋ยน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สำหรับวิธีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ จะใช้นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดการสูญเสียน้ำหมัก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิม หรือการใช้คนเดินฉีด สอดรับกับนโยบายเกษตรยุค 4.0 ของรัฐบาล ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่มีสารพิษตกค้าง ทำให้ปลอดภัยกับตัวเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค

คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวเปิดงาน โดยมีเกษตรจังหวัดพะเยาร่วมงาน

เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ โดรน (Drone) หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังถูกหลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ เพราะทำหน้าที่ในการบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์ ทั้งนี้ บทบาทของ โดรน หรือเรียกอีกอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในวันนี้ ต่างจากอดีตที่โดรนถูกใช้ในการทหารและภารกิจป้องกันประเทศเป็นหลัก โดยผลการศึกษาที่ผ่านมา ระบุว่า 64% ของผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) จะยิ่งถูกนำมาผนวกอยู่ในรูปแบบการทำธุรกิจและถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายครอบคลุมแทบทุกสายอุตสาหกรรม

ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้านแล้ว โดรน คือ เครื่องบินอัตโนมัติที่เราเห็นคุ้นตาบนท้องฟ้าในเวลานี้  เช่น การใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพหรือเหตุการณ์จากมุมสูง การสำรวจพื้นที่การเกษตรและชลประทาน การสำรวจท่อส่งก๊าซ การเก็บข้อมูลสภาพอากาศ สภาพการจราจร และการลำเลียงขนส่ง เป็นต้น ตามปกติหลักการทำงานของโดรนใช้เพื่อเป็นตัวตรวจจับ ขนส่ง วิจัย โจมตี ค้นหา และช่วยเหลือ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

โดรนที่ใช้ในการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ

ประเภทที่ 1 Multirotor UAVs เป็นประเภทที่พบเห็นบ่อยมากที่สุด เคลื่อนตัวได้รวดเร็วและคล่องแคล่ว เนื่องจากมีทั้งแบบ 4, 6 และ 8 ใบพัด ไม่ต้องใช้รันเวย์ในการบิน แต่มีข้อเสียคือ ขีดความเร็วของการบินน้อยกว่าโดรนประเภทอื่นๆ จึงทำให้บินได้ช้ากว่า ในปีที่ผ่านมา โดรนประเภทนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 77%

ประเภทที่ 2 Fixed-wing drones มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับเครื่องบิน จึงต้องมีรันเวย์ ซึ่งโดรนประเภทนี้สามารถบินได้นานกว่าและเร็วกว่า เหมาะกับการใช้งานเพื่อสำรวจในพื้นที่กว้างใหญ่ แถมยังบรรทุกของหนักได้ในระยะไกล และใช้พลังงานน้อย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รับมอบของที่ระลึก

ประเภทที่ 3 Hybrid model (tilt-wing) สามารถบินได้เร็วกว่า ไกลกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบที่ 2 แถมไม่ต้องใช้รันเวย์ แต่โดรนประเภทนี้มีอยู่น้อยในตลาดโลก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบัน โดรนถูกพัฒนาให้ใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบินสำรวจพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการการตรวจสอบและดูแล นอกจากนี้ หลายคนอาจจะคุ้นตาและรู้จักโดรนเฉพาะด้านที่ใช้ในการถ่ายวิดีโอ สารคดี และบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูง ยิ่งไปกว่านั้น โดรนยังมีความสามารถในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ภาพหรือข้อมูลนั้นๆ เช่น วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impacts) ในบริเวณนั้นๆ และยังวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นต้น

ด้วยประโยชน์ของโดรนที่มีมากมายมหาศาลนี่เอง ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกนำโดรนมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น ใน สหราชอาณาจักร มีการใช้โดรนในอุตสาหกรรมระบบรถไฟในประเทศเพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าผ่านดิจิทัล และการวิเคราะห์แบบสามมิติ (3D) หรือ บริษัทใน ญี่ปุ่น คิดค้นโดรนสำหรับการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สะพาน ทางเดินรถ โดยมีจุดเด่นในการบินราบไปกับในแนวเสาทำให้สำรวจและตรวจสอบความเสียหายได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โดรนยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่ใช่เพียงแต่การหว่านเมล็ดพันธุ์แทนการใช้คนเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบคุณภาพของพืชพันธุ์ ตรวจสอบการเพาะปลูก วิเคราะห์ดินและพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงสำรวจหาพื้นที่ขาดน้ำด้วยระบบเซนเซอร์ได้อีกด้วย ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่าง Amazon ก็กำลังทดสอบเทคโนโลยีโดรนสำหรับใช้ขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าภายใต้ชื่อว่า Amazon Prime Air โดยต้องการร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าให้เหลือเพียง 30 นาที หลังได้รับออเดอร์

คุณสมบัติที่โดดเด่นของโดรนที่สามารถทำงานแทนมนุษย์ในหลากหลายด้าน ทั้งสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล อีกทั้งประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้โดรนเป็น 1 ใน 8 ของเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต ขณะที่การใช้งานของโดรนจะเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่าง ปี 2558 ถึง 2563 อยู่ที่ 19% เทียบกับทางทหารมีเพียง 5% เท่านั้น

โดยการจัดโครงการในครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่การปลูกกระเจี๊ยบเขียวของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตกระเจี๊ยบเขียวจังหวัดพะเยา ดำเนินการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) จำนวน 20 ไร่

มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในพื้นที่บ้านจำป่าหวาย หมู่ที่ 3 ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อสารเคมีที่มีราคาแพง สนับสนุนให้มีการใช้สารอินทรีย์ ประชาชนมีสุขภาพดี และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น