“มะงั่ว” ผลไม้สมุนไพรโบราณในคัมภีร์แพทย์ที่น่ารู้จัก

มะงั่ว เป็นไม้จำพวกส้มชนิดหนึ่ง ที่หาดูต้นของจริงได้ยาก แม้จะมีชื่อและข้อมูลปรากฏในตำราเก่าๆ อยู่บ้าง แต่จะหาภาพถ่ายจากต้นจริงไม่ค่อยได้ ดังนั้น จึงเป็นไม้ผลที่พวกเราควรจะมาทำความรู้จักให้มากขึ้น ใน “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฉบับนี้ จะได้เลิกคิดว่า มะงั่ว เป็นแต่เพียงผลไม้ในตำนานเสียที แล้วก็มาดูย้อนหลังกันว่า คนโบราณท่านใช้มะงั่วเป็นยาอย่างไรบ้าง

มะงั่ว เป็นไม้ผลที่มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละถิ่น แถบอีสาน เรียกว่า หมากเว่อ เชียงใหม่ เรียกว่า มะโว้ช้าง และในถิ่นอื่นๆ เรียกต่างไปอีกว่า มะนาวควาย มะนาวริปน ส้มนาวคลาน และส้มละโว้ เป็นต้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บันทึกเรื่องของมะงั่ว ไว้ว่า

“มะงั่ว น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็ก ชนิด Citrus ichangensis Swing. ในวงศ์ Rutacea ผลคล้ายส้มโอ รสเปรี้ยวจัด ใช้ประสมกับขมิ้นเพื่อย้อมผ้า” ทางภาคอีสานท่านจัดให้ มะงั่ว เป็นผลไม้พวกเดียวกับส้มซ่า

นอกจากจะใช้น้ำเป็นของเปรี้ยวแทนมะนาวแล้ว เราก็ได้ทราบเพิ่มเติมอีกว่า คนสมัยก่อนใช้น้ำมะงั่วในการย้อมผ้าสีเหลืองอีกด้วย เข้าใจว่าคงจะช่วยทำให้สีสดขึ้นหรือติดทนทานยิ่งขึ้นกระมัง?

การที่เราจะระบุว่าผลไม้หรือต้นไม้ชนิดใดเป็นไม้โบราณนั้น ทางหนึ่งคือ ตรวจดูว่าพรรณไม้ชนิดนั้นๆ ได้ถูกเอ่ยชื่อไว้ในตำรับยาในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่าหรือไม่ หากมีเอ่ยชื่อไว้ เราก็นับเอาไว้ในสมุนไพรโบราณได้

แต่หากไม่มีระบุไว้ก็อาจจะไม่นับเข้าเป็นต้นไม้โบราณก็ได้ (แต่ก็อาจจะนับเข้าเป็นไม้โบราณได้ หากมีชื่อปรากฏในตำรับยาที่เก่ารองลงมา โดยเฉพาะหากเป็นตำราที่แพทย์แผนไทยรุ่นเก่าที่น่าเชื่อถือได้บันทึกเอาไว้)

Advertisement

สำหรับมะงั่วนั้น เราเชื่อได้ว่าเป็นผลไม้โบราณอย่างแน่นอน เพราะมีระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่า อันได้แก่ พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์,-ธาตุวิภังค์,-มหาโชตรัต,-โรคนิทาน,-ธาตุวิวรณ์,-ธาตุบรรจบ และพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา แม้จะไม่ถูกระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ก็ตาม

จากพระคัมภีร์แพทย์ของเก่าที่เอ่ยชื่อมานั้น ท่านใช้ส่วนต่างๆ ของมะงั่วเข้าในตำรับยา อันได้แก่ เมล็ดในมะงั่ว ใบมะงั่ว รากมะงั่ว ผิวเปลือกผลมะงั่ว น้ำมะงั่ว และที่ระบุว่า มะงั่วเฉยๆ ก็มี และโรคที่ท่านระบุชื่อว่าแก้ได้ ได้แก่ โรคกุมารสำรอกและสะอึก โรคซาง โรคละอองแสงเพลิง โรคลมบ้าหมู โรคมูกเลือด โรคลม โรคป่วง โรคหืดหรือไอ โรคสันนิบาต โรคนอนไม่หลับ โรคเสมหะพิการ โรคริดสีดวง โรคเกี่ยวกับตับ และโรคกษัยที่เกิดเถาดานโลหิตในท้อง เป็นต้น

Advertisement

เมื่อย้อนกลับมาดูตำราแพทย์แผนไทยรุ่นหลังๆ เช่น สารานุกรมสมุนไพร ของ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ท่านระบุสรรพคุณของมะงั่ว ไว้ว่า น้ำในผล-รสเปรี้ยว ฟอกโลหิต ระดู แก้ไอ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และ ราก-รสปร่าจืด กระทุ้งพิษ แก้พิษผิดสำแดง แก้พิษฝีภายใน และแก้เสมหะเป็นโทษ

ในขณะที่หนังสือ ช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ ของ อาจารย์มัธยัสถ์ ดาโรจน์ ระบุสรรพคุณของน้ำมะงั่วและรากมะงั่วไว้ตรงกันกับที่อาจารย์วุฒิระบุไว้ แต่มีเพิ่ม ผิวจากผลมะงั่วว่า มีสรรพคุณแก้ลม และขับลมในลำไส้อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่พวกเราควรจะรู้เอาไว้

มะงั่ว เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา, ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 1 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะใบมีทั้งรูปไข่แกมรูปใบหอก และใบที่มี 2 ตอน คือ ปลายใบมนรี และมีโคนใบคอด (คล้ายกับใบมะกรูด แต่ส่วนโคนใบจะเล็กกว่าใบมะกรูด) แบ่งเป็น 2 ส่วน สีเขียวเข้มและมีจุดน้ำมัน, ดอกมีสีชมพูอมม่วง ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ, ผล-ค่อนข้างกลม ผิวขรุขระเล็กน้อยคล้ายส้มซ่า ส่วนหัวบุ๋มลงไปจากพื้นผิวเล็กน้อย เนื้อในเป็นเม็ดใส มีรสเปรี้ยว โดยที่ผลจะออกเดี่ยวๆ ก็มี หรือออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-5 ผล ก็มี ความยาวของเส้นรอบผล ประมาณ 27-28 เซนติเมตร

ผลของมะงั่วเมื่อผ่าออกมาจะคล้ายๆ กับส้มโอ คือ เปลือกหนา, มีเมล็ดจำนวนมาก รสของน้ำมะงั่วจะเปรี้ยวและหอมคล้ายน้ำมะนาว แต่รสอ่อนกว่ามะนาวเล็กน้อย ใช้แทนน้ำมะนาวได้ เมื่อนำไปปรุงโดยเติมเกลือกับน้ำตาลทรายก็มีรสกลมกล่อมชวนรับประทาน ปัญหาคงจะอยู่ที่ว่า น้ำมะงั่วสดเก็บไว้ได้ไม่นาน (แม้จะคั้นใส่ตู้เย็นไว้ก็ตาม) จึงขอฝากเป็น “การบ้าน” ให้นักโภชนาการหรือนักคหกรรมศาสตร์ไปลองคิดหาวิธีที่จะแปรรูปหรือถนอมน้ำมะงั่วให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานๆ ต่อไป เช่น อาจจะใช้กระบวนการพาสเจอไรซ์ (Pasteurization คือการฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีการใช้ความร้อนปานกลาง ราว 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที) เข้าช่วย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะงั่วต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน แหล่งต้นพันธุ์มะงั่วค่อนข้างจะหาได้ยาก จะพบได้ตามไร่ตามสวนสมรม (สวนไม้ผลโบราณ) หรือในสวนของผู้แสวงหาและนักสะสมพันธุ์ไม้หายากที่แท้จริงเท่านั้น และในรายที่มีต้นพันธุ์อยู่ ส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมเพาะหรือตอนกิ่งไว้เพื่อเผยแพร่ ทำให้ไม้ต้นนี้กลายเป็นไม้ที่ยังหายากอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งต่อวงการนักอนุรักษ์ไม้ผลหายากของเมืองไทย

ก่อนจบเรื่องราวของมะงั่วในฉบับนี้ ผู้เขียนใคร่ขอคัดลอกสรรพคุณของส่วนต่างๆ ของมะงั่วที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ที่รักไม้ต้นนี้ กล่าวคือ

น้ำมะงั่ว เป็นยาฟอกโลหิตระดู ขับโลหิตระดู กัดเสมหะ กัดเถาดานในท้อง แก้เลือดออกตามไรฟัน และแก้ไอ, เปลือก ผล-ใช้รักษาขี้กลาก แก้ลมเสียดแน่น และแก้ลมขึ้นเบื้องสูง, ผิวของเปลือกผล-เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมท้องขึ้นอืดเฟ้อ, เปลือกต้น-แก้พิษไข้ แก้พิษกาฬ แก้เสมหะเป็นโทษ, ราก-เป็นยากระทุ้งพิษ แก้เสมหะ แก้พิษฝีภายใน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ประดง และแก้น้ำเหลืองเสีย (ที่มา-สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน เรื่อง มะนาวควาย เรียบเรียงโดย พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา, 2549)

หนังสือ สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน ได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของมะงั่วต่างไปจากของราชบัณฑิตยสถาน โดยกล่าวว่า มะนาวควาย มีชื่อว่า Citrus medica Linn. Var medica วงศ์ RUTACEAE ตรงกัน ก็ขอนำมาบอกกล่าวเป็นการแถมท้ายไว้ และแล้ว เรื่องราวของ มะงั่ว หรือหมากเว่อ หรือหมากกินเกิ้ม (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน) หรือลีมากูบา (มลายู-ภาคใต้) ก็จบลงแต่เพียงแค่นี้ แลฯ