กระจับเขาควาย พืชน้ำกินได้ ลงทุนหลักพัน ทำเงินหลักหมื่นต่อรอบ เก็บผลผลิตได้ใน 4 เดือน

สมัยก่อน “กระจับเขาควายเป็นวัชพืชเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้ไม่น้อย ใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 4 เดือนก็ได้ผลผลิตจำหน่าย สามารถเก็บขายได้ 2-3 รอบเลยทีเดียว 

กระจับเป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู มีอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นกอลอยน้ำ ชอบน้ำนิ่ง มีรากหยั่งยึดดินและมีไหล ใบเดี่ยวมี 2 แบบ ใบที่ลอยน้ำมีก้านยาว อวบน้ำและพองเป็นกระเปาะตรงกลาง ทำให้ลอยน้ำได้ดี แผ่นใบมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือรูปพัด ใบจะเรียงรอบลำต้นเวียนเป็นเกลียวถี่ๆ ทำให้ดูเหมือนใบแผ่เป็นวงรอบต้น ใบอีกแบบหนึ่งอยู่ในน้ำ เป็นเส้นฝอยๆ คล้ายราก

ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกที่โคนก้านใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ บานอยู่เหนือน้ำ เมื่อติดผลแล้วก้านดอกจะงอกลับลงน้ำและผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ ผลอ่อนสีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง 2 ข้าง เจริญมาจากกลีบเลี้ยง ผลหรือฝักกระจับมีสีดำขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งงอโค้งคล้ายเขาควาย เมื่อกะเทาะเปลือกนอกที่แข็งออก จะได้เนื้อในสีขาว มีแป้งมาก

กระจับเขาควาย พืชน้ำกินได้ ลงทุนหลักพัน ทำเงินหลักหมื่นต่อรอบ เก็บผลผลิตได้ใน 4 เดือน
กระจับเขาควาย พืชน้ำกินได้ ลงทุนหลักพัน ทำเงินหลักหมื่นต่อรอบ เก็บผลผลิตได้ใน 4 เดือน

สำหรับประโยชน์ของกระจับมีมากมาย ซึ่งส่วนมากและการใช้ประโยชน์จากกระจับจะนิยมนำฝักกระจับ มากิน เนื้อของฝักกระจับสามารถนำเอามาทำอาหารหวานและอาหารคาวได้มากมาย ส่วนต้นกระจับหลายคนนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เหมือนบัว ต้นกระจับนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ นำมาทำยาแก้ปวดท้อง นอกจากนั้น ต้นกระจับที่เหลือจากการนำมาใช้ประโยชน์นั้นนิยมนำมาทำปุ๋ยหมัก เหมาะแก่การปลูกพืช

นิยมนำมาต้มกิน

คุณสุนัน พละเจริญ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรกรผู้ปลูกกระจับ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า กระจับเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ปัจจุบัน มีปลูกมากในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี

กระจับ ปลูกไม่ยาก แต่ต้องเอาใจใส่ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรือแล้ง เนื่องจากอยู่ในน้ำอยู่แล้ว มีน้ำแค่เพียง 60 เซนติเมตร ก็อยู่ได้แล้ว ที่สำคัญยังปลูกขายฝักหรือขายต้นทำเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

“กระจับ ให้ผลผลิตดี แต่ไม่แนะนำให้ปลูกกระจับอย่างเดียวตลอดไป เพราะพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอด ไม่นานจะเกิดสาหร่าย ซึ่งเป็นปัญหาในการปลูกกระจับ จริงๆ ควรปลูกในพื้นที่นาสลับ หรือควบคู่กับการทำนา  โดยการทำนากระจับ มักจะเริ่มดำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และเก็บผลผลิตในเดือนตุลาคมของทุกปี” คุณสุนัน เล่าให้ฟัง และได้เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดต่างๆ อีกดังนี้

ขั้นตอนการปลูก

วิธีการ เหมือนกับการดำนา เอายอดพันธุ์มาดำ โดยนำยอด 1-2 ยอด ฝังลงไปในพื้นดิน ระยะห่างระหว่างต้นและแถว (1.1×1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ = 1,000 กอ)

และหลังจากปลูก 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 24-8-8

ต้นกล้าเริ่มตั้งตัวและทอดยอด

จากนั้นให้เริ่มเติมน้ำเข้าแปลงเป็นระยะๆ (น้ำคลอง ค่า pH 6.5-7.0) จนระดับความสูงขั้นต่ำ 60 เซนติเมตร

พอต้นแข็งแรงเริ่มแตกกอและตั้งยอด บำรุงด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 24-8-8 อีกครั้ง

ร่วมกับปุ๋ยน้ำหรือสารสกัดสมุนไพร ฉีดพ่นทางใบ ทุกๆ 15-20 วัน

การลงทุน

สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เงินลงทุน 4,000-6,000 บาท (ค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าแรง)

เมื่ออายุต้นครบ 4 เดือน จะเริ่มเก็บผลผลิตชุดแรก โดยต้นกระจับ 1 กอ จะให้ผลผลิต 2-3 ฝัก

เฉลี่ย 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่

ส่วนการขาย ขายให้กับแม่ค้าในพื้นที่ที่ไปต้มขาย หากจะเข้าโรงงานต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งโรงงานที่ว่าอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เปลือกสกัดเป็นยา นอกจากนี้ มีบางส่วนส่งร้านขนมหวาน

พื้นที่ปลูกในปัจจุบัน

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูก ที่ตำบลศรีประจันต์ มีปลูกประมาณ 100-200 ไร่ ก็ขยับสลับไปเรื่อย ในอดีตทำกันบ้านละ 1-2 ไร่ พอใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ แต่ปัจจุบัน ปลูกในเชิงการค้ากันมากขึ้น

“นี่เราไปดีล กับสำนักงานอุตสาหกรรมภาค 8 ในการผลิตแป้งกระจับ หรือจะนำไปทำเป็นแป้งอะไรได้บ้าง ซึ่งหากมีการแปรรูปได้ ก็จะสามารถมีช่องทางการขายได้มากขึ้น”

การปลูกกระจับสามารถทำได้สองวิธีคือ

การปลูกด้วยเมล็ด

จะใช้เมล็ดแก่เท่านั้น เป็นเมล็ดที่ได้จากต้นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยการเพาะจะเริ่มจากการนำดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วน 1 : 1 บรรจุใส่กระถาง แล้วฝังลงในกระถางตรงกลางให้ลึกพอดินกลบพอดี หลังจากนั้นเทน้ำใส่กระถางให้ท่วมและปล่อยทิ้งไว้ หลังจากนั้น 1 เดือน ก็สามารถย้ายปลูกในแปลง ขณะเพาะเมล็ดต้องคอยให้น้ำท่วมหน้าดินในกระถางตลอด

การปลูกด้วยเถา

จะใช้เถาอ่อน ด้วยการนำเถามัดรวมกัน 2-3 เถา แล้วกดเถาส่วนต้นที่มัดรวมกันลงหน้าดินใต้น้ำให้ลึกประมาณที่เถาไม่ลอย ระยะห่างระหว่าง 2.5-3 เมตร

กระจับเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำขัง ซึ่งมีระดับความลึกแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ บางแห่งอาจพบกระจับเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ลึกได้มากกว่า 3 เมตร โดยพื้นที่ปลูกกระจับมักจะเลือกแหล่งที่มีระดับน้ำไม่ลึก ประมาณ 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าเก็บฝัก และควรเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้เกิดร่มเงา

การเก็บฝัก 

กระจับจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และจะเริ่มติดเป็นฝักประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ฝักจะเริ่มแก่เต็มที่ในเดือนที่ 5 ช่วงที่เริ่มเก็บฝักกระจับจะอยู่ในช่วงที่ใบกระจับเริ่มเหลือง โดยจะทยอยเก็บเป็นระยะ ทุกๆ 8-10 วันต่อครั้ง โดยกระจับ 1 กอ จะเก็บฝักได้ประมาณ 5-6 ครั้ง

รายได้

ผลผลิตต่อฤดู หากมีการผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะเสี่ยงโดนฝน แต่จะได้ราคาดี กิโลกรัมละ 18-20 บาท ถ้าปลูกช้าไปกว่านั้น ราคาจะตกมาที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม

เช่น ใน 1 ไร่ ได้ 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 18 บาท ก็จะได้ 18,000 บาทต่อไร่

ตอนนี้มีเรื่องการขายยอดสวยงามเข้ามาอีก 1 ยอด 1-1.20 บาท สามารถทำยอดขายได้อีก ฉะนั้น 1 ไร่ ผลผลิตเกือบๆ 20,000 บาทต่อรอบการผลิต

การเก็บผลผลิต

กระจับอ่อน มีสีน้ำตาลอ่อน กระจับแก่ มีสีน้ำตาลเข้ม คนเก็บมือใหม่ ใช้วิธีกดเขา ถ้าเขาแก่ แข็ง ไม่หัก หากนำไปต้มกิน ต้องใช้กระจับแก่ แข็งๆ

ต้องบอกว่าผลของมันจะมีสีดำขลับขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งงอโค้งคล้ายเขาควาย เมื่อกะเทาะเปลือกออกจะเจอกับเนื้อในสีขาว นิยมนำมาทำอาหารคาว หวาน นอกจากนี้ ต้นกระจับสามารถใช้ทำเป็นยาแก้ปวดท้อง ส่วนเหลือทิ้งจะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักนั่นเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก โดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ.2562