ทุเรียนมูซังคิง ยังขายดีในมาเลย์ สวนใหญ่สุดในเบตง การันตี

ราว 3-4 ปีก่อน ทุเรียนมูซังคิง หรือ เหมาซานหวัง ขึ้นชื่อลือชาอย่างที่สุด เพราะความนิยมบริโภคของชาวเอเชีย ส่งผลให้ราคาทุเรียนสายพันธุ์นี้พุ่งขึ้นสูงไปถึง กิโลกรัมละ 500-1,000 บาท

ด้วยตัวเลขราคาซื้อขายเช่นนี้ ทำให้ชาวไทยหลายคนที่มีพื้นที่ทำสวนและมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงสามารถปลูกทุเรียนได้ โค่นพืชบางชนิดที่ไม่ทำกำไร หันมาปลูกทุเรียนมูซังคิง หรือเริ่มต้นลงแปลงปลูกใหม่ โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง

คุณศักดิ์ศรี สง่าราศรี

ถึงวันนี้ ผลผลิตออกสู่ตลาดในจำนวนที่มากขึ้น แต่ไม่ถึงกับล้นตลาด และไม่ทำให้ราคาทุเรียนมูซังคิงตกลงถึงขั้นน่าเป็นห่วง

อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขา สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิต่ำ มีความใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศของมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นกำเนิดของทุเรียนราคาแพงอย่างมูซังคิง

คุณศักดิ์ศรี สง่าราศรี เกษตรกรรุ่นใหม่ในเบตง ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำสวนยางพารามาปลูกไม้ผล เป็นทุเรียนหมอนทอง พวงมณี และก้านยาว มาตั้งแต่ 12 ปี ที่ผ่านมา และทำสวนส้มอีกจำนวนหนึ่ง แต่สวนส้มเกิดภาวะโรคระบาด ประกอบกับเพื่อนของคุณพ่อที่อยู่มาเลเซีย บอกว่า ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง เป็นพันธุ์ที่มีราคาขายดีมากในมาเลเซีย ราคาสูงถึง 200 บาท ต่อกิโลกรัม จึงเป็นแรงจูงใจให้รื้อแปลงส้มทิ้งทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็นทุเรียนมูงซังคิงแทน

ลักษณะภายนอกของทุเรียนมูซังคิง

เมื่อรื้อแปลงส้มออกทั้งหมด 8 ไร่ จึงปลูกทุเรียนพื้นบ้านไว้เป็นต้นตอ เมื่ออายุได้ 1 ปี จึงนำยอดทุเรียนมูซังคิงมาเสียบ ระยะปลูก 8×9 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น

ผลผลิตจากทุเรียนก้านยาว หมอนทอง และพวงมณี ที่มีอยู่ก่อนหน้า เกินกว่าครึ่งถูกส่งไปขายในมาเลเซีย ซึ่งการจัดการภายในสวน คุณศักดิ์ศรี บอกว่า อำเภอเบตง มีสภาพภูมิอากาศดี มีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงไม่ต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ แต่หลังจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจึงหันมาดูแลรดน้ำบ้าง

ใบที่เป็นโรค แต่ไม่มีผลต่อต้นและผล

ต้นทุนที่เห็นในการทำสวนทุเรียนคือ การให้ปุ๋ย การราดสาร การทำน้ำหมักจากผลผลิตที่เหลือใช้ภายในสวน มีน้ำที่ใช้รดในช่วงที่สภาพอากาศแล้งนานเท่านั้น

สวนของคุณศักดิ์ศรี เป็นสวนแรกๆ ที่นำทุเรียนพันธุ์มูซังคิงเข้ามาปลูกในพื้นที่อำเภอเบตง แต่เพราะไม่ได้ใส่ใจในการบริหารจัดการภายในสวน ปล่อยให้เจริญเติบโตจากธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตก็เจริญเติบโตตามธรรมชาติไปด้วยเช่นกัน

กระทั่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนมูซังคิงสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 500 บาท ทำให้คุณศักดิ์ศรีเริ่มหันกลับมาดูแลสวนทุเรียนมูซังคิงจริงจัง

กิ่งพันธุ์จำนวนมาก

คุณศักดิ์ศรี บอกว่า ทุกๆ 2 เดือน ต้องใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ หมั่นระวังโรคและแมลงด้วยการฉีดยาป้องกัน เมื่อถึงช่วงที่ทุเรียนให้ดอก จะเริ่มให้อาหารเสริมในกลุ่มธาตุอาหารที่จำเป็นกับทุเรียน เช่น แมกนีเซียม โบรอน เมื่อดอกเริ่มบาน ต้องให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24

การให้น้ำ ก็จัดการระบบน้ำด้วยสปริงเกลอร์ ช่วงที่ทุเรียนยังไม่ให้ดอก รดน้ำ 40 นาที ต่อต้น วันเว้นวัน แต่ถ้าอยู่ในช่วงติดดอกให้ลดปริมาณน้ำลงมาครึ่งหนึ่ง เพราะการจำกัดปริมาณน้ำจะช่วยให้ขั้วทุเรียนมีความเหนียวมากขึ้น

หากสามารถบริหารจัดการทำให้ดอกทุเรียนติดอยู่ได้นานจนได้ผลผลิต ก็จะได้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ

หลังดอกบาน 100-110 วัน ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวไปจำหน่ายได้

ดอกทุเรียน

ส่วนใหญ่ผลผลิตทุเรียนมูซังคิงที่ได้ จะมีน้ำหนัก 1.5-2.2 กิโลกรัม ต่อลูก มีบ้างที่เป็นผลใหญ่ น้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม ต่อลูก ซึ่งลูกค้าไม่ได้กำหนดเจาะจงเรื่องของขนาดผลทุเรียน ไม่ว่าจะได้ขนาดไหนมา ก็ขายออกสู่ตลาดได้ราคาดีเหมือนกัน

ทุเรียนมูซังคิง เป็นทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเบตง สภาพอากาศทำให้ทุเรียนให้ผลผลิตราวเดือนสิงหาคมของทุกปี

“ปีที่แล้วทุเรียนมูซังคิงที่ได้ส่งไปขายที่มาเลเซีย ราคากิโลกรัมละ 350 บาท ถ้าผลผลิตที่ไทยออกมากในช่วงที่มาเลเซียยังมีน้อย ราคาจะสูง แต่ถ้าตรงกับช่วงที่ผลผลิตทางมาเลเซียมีมาก ราคาจะถูกลง แต่ไม่ถูกมาก อย่างน้อยก็ได้กิโลกรัมละ 200 บาท”

ในช่วงที่ทุเรียนมูซังคิง ได้รับความนิยมแพร่หลาย เป็นผลให้คนจำนวนหนึ่งต้องการปลูกทุเรียนมูซังคิง คุณศักดิ์ศรีจึงทำกิ่งพันธุ์ทุเรียนมูซังคิงขาย และเริ่มขายทางออนไลน์ได้ผลดีตั้งแต่นั้นมา ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีผู้สนใจซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมูซังคิงไปปลูกเรื่อยๆ

เนื้อในทุเรียนมูซังคิง

คุณศักดิ์ศรี ขายในราคา 150 บาท ต่อกิ่ง ไม่รวมค่าขนส่ง

เมื่อถามถึงจำนวนผลผลิตที่ได้ ทุกๆ ปี ต้นทุเรียนเจริญเติบโตขึ้น แต่อย่างที่คุณศักดิ์ศรีบอกว่า ไม่ได้ดูแลจริงจังมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพิ่งมาบริหารจัดการภายในสวนเมื่อ 3-4 ปี ที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้น จำนวนทุเรียนมูซังคิงในสวนทุเรียนแห่งนี้ก็ถือเป็นแปลงทุเรียนมูซังคิงที่ใหญ่ที่สุดที่ให้ผลผลิตแล้วในอำเภอเบตง

“ตอนนี้ ทุเรียนมูซังคิงในสวนผม ให้ผลผลิตแล้ว 75 ต้น ถือว่าน้อย เพราะที่ผ่านมาผมไม่ได้ดูแลจริงจัง แต่คาดว่าปีนี้น่าจะได้ไม่น้อยกว่า 7 ตัน”

กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตงที่เป็นคนรุ่นใหม่ เริ่มมีจำนวนมากขึ้น และแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ก็ถูกนำกลับมาใช้อีก

ระบบน้ำภายในสวน

คุณศักดิ์ศรี ก็เป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตร ต้องการนำอินทรีย์เข้ามาแทนที่สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่เพราะรอบข้างยังทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีอยู่ ทำให้การปรับเปลี่ยนทำได้ยาก แต่อย่างน้อยการปลูกทุเรียนมูซังคิงตอนนี้ ก็ค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีลงไปได้มากแล้ว

ทุกฤดูกาลของทุเรียนมูซังคิง คุณศักดิ์ศรี ลงขายผ่านออนไลน์ มีคนจองและสั่งตลอดฤดูกาล แต่เกือบทั้งหมดส่งขายไปยังมาเลเซีย มีจำนวนน้อยที่ขายในพื้นที่เบตงบ้าง

สนใจติดต่อ คุณศักดิ์ศรี สง่าราศรี โทรศัพท์ 098-016-2806 หรือเดินทางไปชมสวนด้วยตนเองได้ที่ บ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา