เรือง ศรีนาราง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ปี 2562 ที่จังหวัดตราด

คุณมงคล จอมพันธุ์ เกษตรจังหวัดตราด กล่าวถึง คุณเรือง ศรีนาราง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562 ว่า คุณเรือง ศรีนาราง รู้จักนำประสบการณ์และเทคโนโลยีมาใช้ในการทำสวนทุเรียนจนกระทั่งได้ผลเป็นที่ยอมรับ เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพ ที่ลดต้นทุนผลิตปุ๋ยใช้เอง การใช้สารชีวภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมี การบริหารจัดการน้ำ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร เป็นรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราดและประธานแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับภาคตะวันออกปี 2561 และได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ปี 2562 จะเข้ารับพระราชทานโล่ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเดือนพฤษภาคมนี้

เลือกปลูกทุเรียนหมอนทอง

เล็งผลผลิตทำได้ง่ายกว่าชะนี กระดุม

คุณเรือง ศรีนาราง เกษตรกรวัย 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34/2 หมู่ที่ 6 ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประกอบอาชีพทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพหลัก ร่วม 25 ปี เดิมมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพิจิตร เมื่อเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพิษณุโลก แต่งงานกับ ดร.อัชญา ศรีนาราง เป็นคุณครูอยู่โรงเรียนคลองขวาง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จึงเริ่มต้นเรียนรู้อาชีพทำสวนทุเรียนที่จังหวัดตราดเมื่อ 30 ปีก่อน จากที่ดินของครอบครัวจำนวน 30 ไร่

กับลูกชาย “เป๊ก” ลูกสาว “รุ้ง” ทายาทเกษตรกรรม

“เริ่มทำสวนทุเรียนโดยไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน แม้จะจบสาขาเกษตรแต่เป็นพืชแถบภาคกลางไม่ใช่พืชสวน ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เริ่มด้วยการปลูกทุเรียน 3 สายพันธุ์อย่างละเท่าๆ กัน คือ หมอนทอง ชะนี กระดุม ทำไปเรียนรู้ไปจากการเข้าอบรม ดูงาน ขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร และการลองผิดลองถูกร่วม 10 ปีจึงเริ่มเข้าใจ และได้ข้อสรุปเลือกที่จะปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นรายได้หลัก เพราะเห็นว่า ชะนีกับกระดุมลงทุนเท่ากันแต่ชะนีติดลูกยากกว่า มีต้นทุนค่าแรงดูแลให้ติดผลสูง เมื่อชะนี หมอนทองได้ราคาดี จึงเลือกที่จะปลูกหมอนทองที่ติดลูกได้ดีกว่า

จากนั้นถึงปัจจุบันระยะเวลา 15-20 ปี ทยอยปลูกเฉพาะหมอนทองอย่างเดียว และขยายแปลงไปเรื่อยๆ จากแปลงที่ 1 ถึงแปลงที่ 4 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 180 ไร่ ผลผลิตรวมปีละประมาณ 300 ตัน” คุณเรือง เล่าถึงที่มาของอาชีพชาวสวนทุเรียนหมอนทอง 

วิกฤตเป็นโอกาส รอดภัยแล้ง

ปลดหนีสิ้น ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม

เป๊กกับทุเรียน 4 พูเต็ม เกรดส่งตลาดต่างประเทศ

คุณเรือง เล่าถึงตอนที่เริ่มทำสวนทุเรียนเมื่อปี 2531 ระยะแรกทำกันในครอบครัว เป็นแบบล้มลุกคลุกคลาน ด้วยที่ดิน 40 ไร่ ปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ได้ผลผลิตบ้างไม่ได้บ้าง พอปี 2539 มีปรากฏการณ์เอลนิโญ เกิดภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ทุเรียนของชาวสวนทั่วไปที่ปลูกไว้ไม่ได้ผล บางสวนต้องปล่อยให้ต้นตายเพราะไม่มีน้ำรด แต่ผมโชคดีที่มีแอ่งน้ำคลองขวางของตำบลทุ่ม อยู่ใกล้สวนจึงรอดวิกฤตนี้มาได้ และเป็นโอกาสที่ได้ผลผลิต ราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีรายได้มากพอที่จะปลดหนี้สิ้นในปีนั้น และมีทุนทำสวนทุเรียนปีต่อๆ มา และสามารถซื้อที่แปลงใหม่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น

“จากจุดเริ่มต้นปลูกทุเรียน 40 ไร่ประสบความสำเร็จ ปีที่เกิดวิกฤตเอลนิโญแต่รอดมาได้ จึงมีทุนที่จะขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนออกไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สะสมถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทองทั้งหมด 4 แปลง 180 ไร่ปลูกทุเรียนหมอนทอง 40,000 ต้น จากประสบการณ์ทำให้มีแนวคิดเรื่องของแหล่งน้ำในสวนทุเรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเกษตรกรควรจะมีแหล่งน้ำในสวนตัวเองอัตราส่วนในพื้นที่สวน 10 ไร่ ต่อแหล่งน้ำ 1 ไร่ และได้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองขวางร่วมกันกับชลประทานและเกษตรกรใกล้เคียงช่วยกันขุดลอกอ่างและคูคลองให้มีน้ำใช้ได้ทั้งปี ทำให้เกษตรกรบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งหนักๆ อีก” คุณเรือง กล่าว

กาแฟที่ปลูกแซมให้ผลขายได้แล้ว

ต่อยอดใช้นวัตกรรม ลดสารเคมี

ลดต้นทุน ลดแรงงาน

คุณเรือง เล่าต่อว่า แก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในสวนทุเรียนผ่านไปเปลาะหนึ่งแล้ว ต้องเผชิญกับโจทย์สำคัญที่ต้องผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพปลอดภัย ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระยะหลังๆ มีปัญหาเรื่องแรงงานเพิ่มขึ้นมาอีก จึงหาวิธีต่างๆ ที่จะลดต้นทุน ลดอันตรายจากการใช้สารเคมีที่จำเป็น และทำงานได้มีประสิทธิภาพ จึงออกแบบนวัตกรรมทดแทนแรงงานคนและช่วยประหยัดแรงงาน ต้นทุน เช่น วางระบบการให้ยา ปุ๋ย โดยทางน้ำ การพ่นยาป้องกันแมลงใช้รถพ่นยา (Air Bus) ลดปริมาณสารเคมีสารฆ่าหญ้า กำจัดแมลง และใช้สารชีวภาพให้มากขึ้น เช่น น้ำส้มควันไม้ ใช้ราเขียว เชื้อไตรโคเดอร์ม่าเพื่อกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า (เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า)

เชื้อไตรโคเดอร์ม่าที่ทำสต๊อกไว้ใช้

ใช้สารหมักจากเชื้อ พด.7 เพื่อกำจัดไรแดง ใช้สารชีวภาพจำพวกปุ๋ยอินทรีย์ สารอินทรีย์สังเคราะห์ ปลาหมัก ผสมปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนด้วย โชคดีที่ตอนปลูกทุเรียน เว้นระยะระหว่างแถวและต้นไว้ถึง 10×10 เมตร ทำให้พื้นที่กว้างพอสามารถใช้รถพ่นยาได้ ในขณะที่งานบางอย่าง เช่น การเดินหาหนอนเจาะต้นทุเรียน การโยงต้นทุเรียน การโยงลูกทุเรียน และมือตัดทุเรียน เป็นงานละเอียดอ่อนยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน

“เราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสวนทุเรียนด้วย ระหว่างแถวได้ปลูกหมาก กาแฟโรบัสต้าแซมเพื่อช่วยเพิ่มรายได้และยังให้ประโยชน์ที่ช่วยคลุมดินสร้างความชุ่มชื้นด้วย ส่วนความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมี เราตระหนักเป็นพิเศษ ล่าสุดที่คิดนำแก๊ส (ความร้อน) และเชื้อไตรโคเดอร์ม่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เป็นนวัตกรรมใหม่ใช้ได้ผลดีโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมี สวนทุเรียนทั้ง 3-4 แปลงได้รับการรับรองมาตรฐาน GPA หรือการผลิตที่ถูกหลักการเกษตรดีที่เหมาะสมมาตั้งแต่ ปี 2547 และครบ 3 ปีจะต่ออายุจนกระทั่งถึงปัจจุบัน” คุณเรือง กล่าว

ใช้ความร้อนฆ่าเชื้อรา

ตั้ง “กลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่”

ศูนย์เรียนรู้เพื่อสมาชิกเกษตรกร

คุณเรือง เล่าถึงกิจกรรมกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ว่า เพิ่งรวมกลุ่มก่อตั้งปี 2560 ผลงานของกลุ่มที่ทำให้สมาชิกเครือข่าย 40 คน พอใจเห็นประโยชน์ชัดเจนคือ การได้พูดคุยหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนช่วยการลดต้นทุนจากการผสมแม่ปุ๋ย ยาชีวภัณฑ์ใช้เอง ตัวอย่างปุ๋ยเร่งดอกผสมเอง 1 ตัน จะประหยัดได้ 300-400 บาท การทำฮอร์โมนบำรุงใบ ต้น ถ้าทำเอง 1 ลิตร ราคาไม่ถึง 20 บาท แต่ถ้าซื้อลิตรละ 200 บาท ส่วนการทำเชื้อไตรโคเดอร์ม่าใช้เอง ถ้าใช้สารเคมีจะแพงกิโลกรัมละ 3,00-1,000 บาท และรักษาไม่หายขาดถ้าทำเอง 250 กรัม ราคาไม่เกิน 15 บาท กิโลกรัมละ 60 บาทรักษาได้หายขาด

แก๊สที่ใช้พ่นเชื้อรา

การรวมกลุ่มจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรมีความสะดวกที่เข้ามาดูแล เช่น สถานีพัฒนาที่ดินช่วยตรวจดิน การสนับสนุนเงินกู้ของ ธ.ก.ส. หรือการช่วยสอนทำบัญชีของสหกรณ์จังหวัด ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ตอนนี้มีการระดมหุ้นจากสมาชิก 40 คน เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะทำปุ๋ยใช้เอง อนาคตอาจจะมีเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ให้สมาชิกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

“นอกจากเกษตรกรแล้วยังได้ขยายผลการเรียนรู้ให้นักเรียนโรงเรียนคลองขวางเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานเกษตรกรให้สนใจด้านการเกษตร เพื่อต่อยอดเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ยุค Thailand 4.0 จริงๆ แล้วการรวมกลุ่มเกษตรกรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน วันนี้เกษตรกรต้องรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการตลาด จะต่างคนต่างทำไม่ได้ เพราะจะช่วยทั้งลดต้นทุนการผลิต การสร้างอำนาจต่อรองในตลาด ต่อไปหากทุเรียนมีปัญหาด้านการตลาด อาจจะมีการรวมกลุ่มกันขาย ใช้วิธีการประมูลหรือทำสัญญาตกลงราคา แต่ปีนี้ทุเรียนถือว่าราคาดี รุ่นแรกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 110-120 บาท รุ่น 2 ที่จะออกกลางเดือนเมษายนที่มีผลผลิตมากยังได้ราคาอยู่ที่ 80 บาท สมาชิกจะขายกันเอง แต่ได้เริ่มสอนให้ทดลองทำตลาดออนไลน์ โดยให้สมาชิกเก็บทุเรียนพรีเมี่ยมไว้ต้นละ 1-2 ลูก เพื่อให้คุ้นเคย เผื่อเป็นทางเลือกเพราะได้มูลค่าสูง” คุณเรือง กล่าว

ผลผลิตปีละ 300 ตัน

ขยายช่องทางพรีเมี่ยมออนไลน์และแปรรูปปีละ 30-40 ตัน

คุณเรือง เล่าว่า เมื่อลูกชาย อิสระ ศรีนาราง “เป๊ก” วัย 30 ปี เรียนจบปริญญาตรี และลูกสาว รังสิมา ศรีนาราง “รุ้ง” อายุ 26 ปี กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ ทั้งสองคนได้ช่วยงานในสวนและเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer Yong) แรกๆ ให้เรียนรู้เรื่องสวนผลไม้ และเห็นว่าทุเรียนที่เหมาสวนแต่ละปี ประมาณ 300 ตัน มีทุเรียนตกไซซ์ เป็นทุเรียนที่แก่จัด คุณภาพดี รสชาติอร่อย เพียงแต่รูปทรงไม่สวยตามมาตรฐานการส่งออก 3-4 พูเต็ม จึงหาตลาดและรวบรวมทุเรียนตกไซซ์แต่ละปี ประมาณ 30-40 ตัน ขายส่งให้ลูกค้ารายย่อย เพื่อแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และแปรรูปมีแบรนด์ Mr.Ruang และ ALBOX เป็นของตนเองขายทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ให้ลูกค้าร้านขายของฝาก รวมทั้งลูกค้าที่สนใจทั่วไป ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก และอีกส่วนหนึ่งได้คัดทุเรียนพรีเมี่ยมหมอนทอง ส่งขายออนไลน์กับกลุ่ม YFS ของจังหวัดตราดอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

อ่างเก็บน้ำคลองขวาง เส้นเลือดของเกษตรกรตำบลท่ากุ่ม

คุณเรือง กล่าวทิ้งท้ายว่า รางวัลต่างๆ ที่ได้รับช่วงเวลาทำสวนทุเรียนมา 25 ปี ทุกรางวัลล้วนมีความสำคัญและมีคุณค่า ทำให้มีความภาคภูมิใจในอาชีพชาวสวน เช่น ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ซึ่งรวม 7 สถาบันหลักในภาคเหนือ และเป็นสถาบันที่เคยเรียนมา ส่วนรางวัลมิราเคิลออฟไลฟ์ รางวัล “คนดีศรีพิจิตร” เป็นรางวัลชาวพิจิตรภาคตะวันออกเสนอให้ ทำให้มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือบ้านเกิดจังหวัดพิจิตร และล่าสุดรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ปี 2562 เป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง

…เกษตรกรไม่ใช่ทำสวนเก่งอย่างเดียว ต้องมีใจเผื่อแผ่ ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเต็มที่และต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ฝากให้เกษตรกรรุ่นใหม่ช่วยกันสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้ยั่งยืน เพราะเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข…

คุณประทุม เสนกุล เกษตรอำเภอเมืองตราด กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ด้วยความเข้มแข็งและการเติบโตของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม เนินทราย ทำผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดร่วมกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด จัดกิจกรรม “วันผลไม้ของดีเมืองตราด” ที่บริเวณศูนย์เรียนรู้กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม เนินทราย ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายนนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ดี มีคุณภาพของอำเภอเมืองตราดอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด…นี่คือผลพวงจากการพัฒนากลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ภายใต้การนำทางของ คุณเรือง ศรีนาราง ประธานกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562

ใช้แก๊สผสมผสานไตรโคเดอร์ม่า

ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า

คุณเรือง ศรีนาราง กล่าวถึงโรคของทุเรียน คือโรครากเน่าโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า (Phatopthora) ทำให้ต้นทุเรียนตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดช่วงฤดูฝนที่อากาศชื้น ทั้งนี้ ได้ใช้ระยะเวลา 2 ปีคิดค้นทดลองใช้ได้ผลดี คือนำแก๊ส (ความร้อน) เผาฆ่าเชื้อไตรโคเดอร์ม่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เป็นนวัตกรรมใหม่โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้สารชีวภัณฑ์แทน ปัจจุบันได้เผยแพร่ให้เครือข่ายสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน วิธีการทำง่ายๆ ดังนี้

ขูดเปลือกที่มีเชื้อราออกก่อน
  1. ใช้จอบเล็กๆ หน้าบางๆ ขูดเปลือกลำต้นให้เห็นแผลเชื้อรา ใช้กระสอบพลาสติกรองรับเปลือกที่ขูดเชื้อราออกเพื่อนำไปเผาทำลาย ถ้าปล่อยให้ร่วงลงโคนต้นจะลาม ทำให้เกิดโรครากเน่าจากเชื้อราได้
  2. เตรียมอุปกรณ์พ่นแก๊ส ใช้แก๊สเป็นกระป๋องและใส่หัวสเปรย์ จุดไฟและให้แก๊สพ่นความร้อน เผาบริเวณที่เป็นแผลเชื้อรา โดยเฉพาะตรงขอบเพื่อไม่ให้ลุกลามประมาณ 3-5 นาที ทิ้งให้เย็นลงสักครู่
  3. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าผสมน้ำ อัตราส่วน 250 กรัม : น้ำ 1 ลิตร กวนผสมให้เข้ากัน (มีเกษตรกรบางรายใช้น้ำมังคุดหมัก อัตราส่วน 1 : 1 ได้ผลเช่นเดียวกัน)
  4. ใช้แปรงจุ่มน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าทาบริเวณที่เป็นแผลที่ลนความร้อนไว้ให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้จะช่วยป้องกันโรคโคนเน่า

หรืออาจจะใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรค “ใบติด” โดยให้ในระบบน้ำที่รดทุเรียน อัตราส่วนเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ได้ผลเช่นกัน

สนใจสอบถามแบ่งปันความรู้ติดต่อ คุณเรือง ศรีนาราง โทร. (089) 833-5199