“ยาสูบ” พืชทำเงิน สร้างอาชีพของเกษตรกรไทย ให้ผลตอบแทนดี

ปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนเมืองน่านอีกครั้ง ตามคำเชิญของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ในเครือฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงก์ (พีเอ็มไอ) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป้าหมายการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมชมกิจการใบยาสูบ พืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีบทบาทต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวจังหวัดน่าน

 

“ยาสูบ” พืชทำเงิน สร้างอาชีพของเกษตรกรไทย

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรไทยยึดอาชีพปลูกยาสูบ จำนวน 34,000 ครอบครัว เนื้อที่ปลูกยาสูบ จำนวน 132,000 ไร่ มีผลผลิต 40,700 ตัน ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง จำนวน 10 จังหวัด ปลูกใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย จำนวนเกษตรกร 5,800 ครอบครัว ผลผลิตรวม 12,000 ตัน ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14,900 ครอบครัว นิยมปลูกยาสูบพันธุ์โอเรียนทอล หรือเตอร์กิช มีผลผลิต 8,800 ตัน

ไร่ยาสูบ สายพันธุ์เวอร์จิเนีย จังหวัดน่าน

ทุกวันนี้ ยาสูบพันธุ์เบอร์เรีย มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 13,000 ครอบครัว มีผลผลิตปีละ 19,900 ตัน กล่าวได้ว่า “เบอร์เรีย” นับเป็นสายพันธุ์ยาสูบที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด มีผลผลิตมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่การปลูกยาสูบทั้งประเทศ

คุณพงศธร อังศุสิงห์

คุณพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์และผู้บริหารฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปี ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทางบริษัทได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคเกษตรยาสูบไทยที่ประกอบด้วยชาวไร่ยาสูบราว 34,000 ครอบครัว ซึ่งบริษัทในเครือของเราเป็นผู้รับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรไทยผ่านบริษัทผู้จัดหาใบยาเพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 3 ทศวรรษ และยังเป็นผู้ซื้อใบยาสูบรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นอกเหนือจากการรับซื้อใบยาสูบแล้ว ทางบริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรยาสูบไทยโดยเรามีการดำเนินงานในเรื่อง “Sustainable Tobacco Programmes” หรือแผนงานสร้างความยั่งยืนให้กับพืชยาสูบที่ให้ความสำคัญในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับใบยาตั้งแต่ต้นทาง คือ ไร่ยาสูบ ไปจนถึงกระบวนการในโรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพใบยาสูบไทยให้ได้ตามมาตรฐานของโลก และมีความสามารถในการแข่งขันได้เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น รวมถึงให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานในไร่และความปลอดภัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือการลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ต้นยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนีย

“หัวใจสำคัญของเราคือ ความยั่งยืนและการให้ความสำคัญกับชาวไร่ยาสูบ มูลค่าในการรับซื้อใบยาสูบ 6 ปี ย้อนหลังของเราอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท และในปี 2559 นี้ มูลค่าในการรับซื้อใบยาสูบไทยของเราอยู่ที่ 717 ล้านบาท นอกจากนี้ ฟิลลิป มอร์ริส ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับผู้จัดหาใบยาสูบและชาวไร่ยาสูบไทย โดยผลสำเร็จของโครงการที่เป็นไฮไลต์ อาทิ การกำจัดบรรจุภัณฑ์เคมีเกษตรราว 974,000 ชิ้น จากชาวไร่ยาสูบ แนวคิดแปลงเพาะกล้ากึ่งท่วมน้ำ ที่ช่วยลดเวลาทำงานชาวไร่ยาสูบได้ ร้อยละ 23 และการจัดเตรียมกล้าไม้กว่า 60,000 ต้น ให้กับชาวไร่เพื่อปลูกทดแทนไม้ที่ใช้ในโรงเรือนบ่มใบยาสูบ ฯลฯ”  คุณพงศธร กล่าว

 

“ยาสูบ” เมืองน่าน

คุณสกาวรัตน์ โลหะโชติ นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและค้าใบยาสูบจังหวัดน่าน ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ มีชาวน่านถึง 1,200 ครัวเรือน ที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจใบยาสูบ ทั้งตัวเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ พนักงานไร่ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้เรื่องการปลูกยาสูบแก่เกษตรกร รวมทั้ง โรงบ่ม ที่ทำหน้าที่สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ ฯลฯ  โดยโรงบ่มจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์ยาสูบจากต่างประเทศ เพราะเป็นกล้าพันธุ์ที่ต้านทานโรค แต่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่าแสนบาทมาเพาะเป็นต้นกล้า เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูก หลังจากนั้น จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในราคากิโลกรัมละ 6-7.50 บาท ตามราคาประกาศของโรงงานยาสูบ

คุณสกาวรัตน์ โลหะโชติ นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและผู้ค้าใบยาสูบ จังหวัดน่าน

ปัจจุบัน ยาสูบ เป็นพืชทางเลือกหลังฤดูทำนาของเกษตรกรชาวน่าน โดยปกติ เกษตรกรนิยมปลูกยาสูบในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยใช้เงินลงทุนปลูกยาสูบ ไร่ละประมาณ 7,000-8,000 บาท เกษตรกรจะใช้เวลาปลูกยาสูบ ประมาณ 60 วัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกประมาณ 90 วัน หลังขายผลผลิตจะมีรายได้เฉลี่ย ไร่ละ 10,000 บาท

วิธีการปลูกใบยาสูบทุกขั้นตอน เริ่มจากเตรียมดิน นำกล้าใบยาสูบลงปลูกในแปลงเพาะกล้า 45 วัน ใส่ปุ๋ย ใส่ยา ตามคำแนะนำของโรงบ่ม ทั้งนี้จะมีพนักงานไร่ไปตรวจสอบทุกขั้นตอน ว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ปฏิบัติตามคำแนะนำการปลูกหรือไม่ หากพบปัญหาจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เนื่องจากการเติบโตของต้นยาสูบมีผลต่อคุณภาพใบยาทั้งสิ้น

เมื่อใบยาแก่ ครบอายุพร้อมเก็บเกี่ยวจะสังเกตได้ง่าย เพราะใบยาสูบจะมีสีเหลือง เมื่อเกษตรกรนำใบยาสูบไปส่งให้กับโรงบ่ม ทางโรงบ่มจะนำใบยาสูบไปอบในอุณหภูมิที่ต่ำ ประมาณ 5-6 วัน ให้ใบยาสูบแห้ง พร้อมจำหน่ายให้กับโรงงานยาสูบ ตามโควต้าที่โรงบ่มได้รับ ผลผลิตบางส่วนจะขายให้กับเอกชนผู้ส่งออก

คุณสกาวรัตน์ กล่าวว่า ในอดีตเมืองน่าน มีพื้นที่ปลูกยาสูบมากกว่า 5,000 ไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยาสูบลดลงเหลือแค่ 3,000 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันเกษตรกรมีพืชทางเลือกอื่นมากขึ้น ทำให้ยาสูบได้รับความสนใจน้อยลง แต่ชาวน่านจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าวังผาและอำเภอปัวที่ยืนหยัดยึดอาชีพปลูกยาสูบหลังฤดูการทำนาข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะยาสูบเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย แถมเมืองน่านได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ต้นยาสูบเจริญงอกงาม ใบใหญ่ หนา ได้น้ำหนักดี ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตต่อกิโลกรัมได้มากกว่าเดิม ที่สำคัญยาสูบเป็นพืชที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะขายได้ในราคาประกันและมีตลาดรับซื้อแน่นอน

 

ยาสูบ ให้ผลตอบแทนที่ดี

“คุณสังข์ทอง แพงจีน” เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบมานานกว่า 30 ปี เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ เกษตรกรในท้องถิ่นยึดอาชีพปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ พืชผัก เช่น ข้าวโพด พริก ผักกาด สลับกันไป ขึ้นอยู่กับภาวะราคาผลผลิตแต่ละช่วง หากพืชตัวใดมีราคาดี ก็สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดนั้นก็มาก อย่างไรก็ตาม ยาสูบนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพราะมีต้นทุนการผลิตต่อไร่ อยู่ที่ 8,000 บาท หลังเก็บผลผลิตออกขายสร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการทำนาปลูกข้าวในขณะนี้

คุณวีระชัย ไชยสุวรรณ เจ้าของโรงบ่มใบยาสบหนอง

ด้าน คุณวีระชัย ไชยสุวรรณ ผู้จัดการโรงบ่มใบยาสบหนอง ตั้งอยู่เลขที่ 189 หมู่ที่ 10 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันโรงบ่มแห่งนี้มีเกษตรกรลูกไร่ปลูกยาสูบส่งให้โรงงาน ประมาณ 100 ราย เนื้อที่ปลูกยาสูบ จำนวน 380 ไร่ เกษตรกรแต่ละรายจะมีพื้นที่ปลูกยาสูบเฉลี่ย รายละ 5-7 ไร่ ทางโรงบ่มจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตทุกอย่างให้กับเกษตรกรลูกไร่ตั้งแต่ต้นกล้ายาสูบ ปุ๋ย ยา

ทางโรงบ่มจะเริ่มเตรียมเพาะกล้าใบยาสูบ ตั้งแต่ปลายฝนต้นหนาว หรือประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี ก่อนส่งต้นกล้ายาสูบให้เกษตรกรลูกไร่นำไปปลูกตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคมที่ผ่านมา ทางโรงบ่มจะแนะนำให้เกษตรกรปลูกยาสูบ ในลักษณะแปลงยกร่อง ปลูกต้นยาสูบในระยะห่าง 60x60 เซนติเมตร ดูแลใส่ปุ๋ย ใส่ยา ตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 250-300 กิโลกรัม ต่อไร่ เกษตรกรเมืองน่านที่มีฝีมือดีในการปลูกยาสูบ บางรายมีรายได้จากการขายใบยาสูบคุณภาพดีให้แก่โรงบ่ม เฉลี่ยไร่ละ 20,000 บาท ทีเดียว