ที่มาขนุนมหามงคล “ไพศาลทักษิณ” จากขนุนกว่าร้อยปีหลังพระที่นั่งฯ สู่เกษตรกรไทย

การปลูกต้นขนุนในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ทิศหรดี โดยมีความเชื่อกันว่า จะหนุนให้ผู้ปลูกนั้นมีบุญบารมี เงินทองไหลมาเทมา จะมีคนเกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล (แก้ว) นำมาซ้อนกัน แล้วนำไปไว้ในยุ้งข้าว ตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปี และตลอดไป

ทั้งนี้ ยังมีต้นไม้มงคลที่คนไทยนิยมปลูกในบ้านตามคติความเชื่อ โดยทั่วๆ ไป หน้าบ้านจะปลูก มะยม เอาชื่อเป็นเคล็ดว่า จะเป็นที่นิยมของคนอื่นเขา บางบ้านปลูก มะขาม เอาชื่อเป็นเคล็ดถึงความเกรงขาม หลังบ้านปลูก ขนุน บางบ้านปลูก มะดัน ก็เอาเคล็ดอีกว่า จะมีคนเกื้อหนุน ผลักดันให้เจริญก้าวหน้า และยังเชื่อกันว่า การปลูกขนุนจะให้ดีนั้น ต้องปลูกทุกบ้าน นอกจากความเชื่อตามโบราณแล้ว ยังสามารถนำมากินเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี

การพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรโครงการหนึ่งของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.เลย ที่ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างมาก คือ โครงการเพาะขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณ

โครงการนี้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธ.ค. 2554 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเลย (พืชสวน) จึงได้ดำเนินการผลิต และขยายพันธุ์ ไม้ผลพันธุ์ดี โดยเฉพาะ ขนุนพระราชทาน พันธุ์ไพศาลทักษิณ

ที่มาขนุนมหามงคล
“ไพศาลทักษิณ”

ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ เดิมขนุนพันธุ์นี้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต้นมีอายุมากแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตอยู่

ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 “กษัตริย์เกษตร” ที่ได้ปลูกพืชพันธุ์มหามงคล เพราะมีการขยายพันธุ์เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เมื่อปี 2534

ที่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวังมีขนุนขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง คุณสมบัติที่พบดีเด่นมาก ปลูกโดยเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีอายุกว่า 140 ปี

ขนุนต้นดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกขานกันต่อมาว่าพันธุ์ไพศาลทักษิณ เนื่องจากตำแหน่งที่ขนุนต้นนี้ขึ้นอยู่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จึงคงความสำคัญ

ในพิธีสรงน้ำพระพุทธมนต์หลังพระราชพิธีต่างๆ และทรงหลั่งทักษิโณทกแล้ว ชาวพนักงานราชพิธีสงฆ์นำน้ำหลังพิธีมาเททานราดที่โคนขนุนต้นนี้ พระราชพิธีสำคัญนี้ยังคงดำรงต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นับได้ว่าขนุนไพศาลทักษิณเสมือนเอกลักษณ์คู่พระราชฐาน ตามคติโบราณนิยม ที่ปลูกต้นไม้ไว้เป็นมงคลแห่งสุขสถาน ให้ปลูกขนุนหลังนิวาสสถานบ้านเรือน เพื่อหนุนเนื่องด้วยบุญวาสนา ปราศจากทุกข์ ถือเป็นคติประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้จะมีอายุมากคือ 140 ปีเศษ แต่ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณยังให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2535 ให้ผลผลิตถึง 36 ผล ลักษณะของผลทรงเกือบกลม ขนาดเท่ากระออมน้ำ ผิวเหลืองทอง หนามเล็ก เปลือกบาง ยางน้อย ไส้เล็ก ซังซ้อนห่าง ยวงสีเหลือง รสหวาน เป็นเอกรสไอศวรรย์ ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การกระจายพันธุ์ของขนุนสายพันธุ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2534 กองทัพบก โดยศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศชร.) ได้ขอพระราชทานพันธุ์ เพื่อนำออกปลูกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา12 สิงหาคม 2535โดยการเผยแพร่พันธุ์สู่แต่ละจังหวัด จำนวน 999,999 ต้น แบ่งแล้วทั่วประเทศจะได้ประมาณจังหวัดละ 1,200 ต้น

ต้นขนุนไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

การขยายพันธุ์

สำหรับการขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณของทางศูนย์ ใช้วิธีการทาบกิ่ง คนงานภายในศูนย์ช่วยกันทาบกิ่งพันธุ์ทั้ง 10 ต้น ประมาณ 45-50 วัน ก็สามารถนำย้ายลงถุงปลูกได้แล้ว หลังจากนั้น นำมาอนุบาลให้รากงอกเต็มถุง อีกประมาณ 20-30 วัน จึงนำออกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้

วิธีการปลูกต้นขนุน เหมือนกับการปลูกต้นไม้ทั่วไป เพียงแต่ต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่า เพราะเป็นพันธุ์ที่หายาก

เริ่มจากการขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือมูลวัวรองไว้ก้นหลุม นำต้นขนุนออกจากถุงเพาะชำ ปลูกลงไปในหลุม แล้วนำดินผสมปุ๋ยอินทรีย์กลบลงไป หลังจากนั้น ใช้หญ้าแห้งหรือฟางแห้งโรยรอบๆ ต้นขนุน หนาประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้ดินแห้ง หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม

หากลำต้นขนุนสูง ควรที่ใช้ไม้ปักทำเป็นหลักแล้วใช้เชือกยึดไว้ให้แน่นกันลมพัดลำต้นหัก ควรที่จะรดน้ำเช้าเย็น รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่ถึงกับแฉะ ประมาณ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 1/1 ขุดแซะรอบๆ ทรงพุ่ม ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยที่เตรียมไว้ในหลุมที่ขุด เสร็จแล้วกลบหลุมขุด แล้วรดน้ำให้ชุ่มเพื่อปุ๋ยจะได้ละลาย รากจะได้ดูดซึมไปใช้งานในการบำรุงต้นให้แข็งแรงและเจริญเติบโต

ลักษณะประจำพันธุ์

การติดผล ผลมักติดมากกว่า 1 ผล ต่อก้าน ช่อดอกหรือติดผลเป็นพวง ลักษณะผล ผลเกือบกลม ส่วนของผลบริเวณขั้วผลมักบุ๋ม ผลใหญ่ หนักประมาณ 5 กิโลกรัม/ผล ผิวเปลือกผลเป็นสีเหลืองทอง หนามเล็ก เปลือกบาง ยางน้อย เนื้อยวง ขนาดปานกลาง ทรงค่อนข้างยาว เนื้อยวงสีเหลือง สวยงาม มีรสหวานจัด มีความหวานถึง 21 องศาบริกซ์ รสอร่อย มีกลิ่นหอม ไส้เล็ก มีซังน้อย มีขนาดเล็ก