เกษตรกรนครศรีธรรมราช ปลูกสะละได้คุณภาพ มีผลผลิตตลอดทั้งปี จำหน่ายได้ราคา

คุณเสาวณีย์ ขาวเสน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมทำสวนปาล์มน้ำมันจำนวนมาก และสวนยางพาราเป็นอีกพืชที่ทำกันมาอย่างยาวนานส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ต่อมาระยะหลังๆ เศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัวพืชผลทางการเกษตรบางชนิดมีราคาจำหน่ายได้ไม่ดีนัก จึงส่งผลให้ทางหน่วยงานในพื้นที่หาแนวทางการทำเกษตรแนวใหม่ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีการทำเกษตรที่ผสมผสานมากขึ้น เช่น การปลูกพืชแซมและปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำเกษตรให้หลากหลาย โดยไม่ปลูกพืชเชิงเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สะละผลผลิตคุณภาพพร้อมจำหน่าย

“ทุกวันนี้เกษตรกรเริ่มมีการตื่นตัวกันมากขึ้น ในเรื่องของการทำเกษตรผสมผสาน โดยมาปลูกพืชแซมบ้าง เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกไม้ผลแซมสวนยางพารา และเกษตรกรบางรายก็จะค่อยๆ มีการปรับพื้นที่มาปลูกไม้ผล สามารถทำรายได้ค่อนข้างดี จากการปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องการรวมกลุ่ม รวมการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ และสุดท้ายร่วมกันทำตลาด ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สามารถทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปได้” คุณเสาวณีย์ กล่าว

คุณธานินทร์ ใจห้าว อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 14 ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาปลูกไม้ผล ซึ่งสะละเป็นอีกหนึ่งพืชที่ให้ผลผลิตทำรายได้ให้กับเขาได้ดีทีเดียว โดยบำรุงรักษาต้นให้มีความสมบูรณ์ ส่งผลให้สะละที่ปลูกมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งทำสินค้าให้มีคุณภาพจำหน่ายได้ราคาอีกด้วย

คุณธานินทร์ ใจห้าว

จากพนักงานบริษัท

สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณธานินทร์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีนั้นเป็นพนักงานบริษัทอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยมีเหตุทำให้ต้องกลับมาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ยึดการทำสวนเป็นอาชีพให้กับตนเองในขณะนั้น เพราะวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรเห็นมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเด็ก เพราะครอบครัวมีอาชีพทางการเกษตรอยู่แล้ว จึงทำให้ความรู้ทางการปลูกพืชอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ เมื่อมีโอกาสจึงได้มาสานงานต่อและยึดเป็นอาชีพหลักต่อไป

“ช่วงที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เราก็ทำสวนทั่วไป ตอนมาเลยคิดว่าไม่น่าจะทำพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไป ประมาณปี 2539 จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำสวนสะละ โดยหาซื้อพันธุ์จากแหล่งที่มีคุณภาพ พันธุ์หลักๆ ก็จะมีสะละพันธุ์เนินวง พันธุ์สุมาลี ซึ่งพันธุ์เนินวงก็จะเป็นผลผลิตหลักที่ขาย จากวันนั้นมาถึงปัจจุบันขยายการปลูกสะละมาเรื่อยๆ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 12 ไร่ ลองผิดลองถูกมาจนประสบผลสำเร็จ ตอนนี้สะละในสวนทั้งหมดสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้มีรายได้จากการขายสะละทุกเดือน” คุณธานินทร์ บอก

Advertisement
พื้นที่ภายในสวน

บำรุงต้นให้สมบูรณ์

ส่งผลให้ต้นมีอายุยืนยาว

Advertisement

ในเรื่องของขั้นตอนการปลูกสะละให้ได้คุณภาพนั้น คุณธานินทร์ เล่าว่า จะเตรียมพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม โดยสมัยก่อนที่เริ่มใหม่ๆ จะเน้นปลูกรวมเข้าไปกับไม้ชนิดอื่นๆ ต่อมาเมื่อมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น จึงสร้างสวนให้มีความพร้อมและเหมาะสม โดยแสงแดดที่สะละได้รับต้องไม่มากจนเกินไป อย่างน้อย 60-70 เปอร์เซ็นต์ ต่อวัน จะช่วยให้ต้นและใบของสะละไม่ไหม้แดดและผลผลิตมีคุณภาพจำหน่าย

“ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูก จะใช้ต้นพันธุ์ที่มีอายุประมาณ 1 ปี ความสูงอยู่ที่ 1 เมตร มาปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 6×6 เมตร แต่ถ้านำมาปลูกแซมกับไม้อื่นๆ มีที่ว่างตรงไหนก็สามารถปลูกได้ โดยไม่ต้องกำหนดระยะห่างมากนัก การให้น้ำเป็นระบบสปริงเกลอร์ ในช่วงแรกที่ปลูกลงใหม่ๆ ต้องระวังด้วง เพราะด้วงจะกินยอดให้เกิดความเสียหาย เมื่อปลูกไปเรื่อยๆ จะดูแลด้วยการบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักทุก 2 เดือนครั้ง สลับกับใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 15-15-15 ทุก 1 เดือนครั้ง” คุณธานินทร์ บอก

ผลดกเต็มต้น ไม่นานเก็บส่งจำหน่ายได้

เมื่อต้นสะละภายในสวนปลูกได้อายุ 1 ปีครึ่ง จะเริ่มออกดอกมาให้เห็นบนต้น จากนั้นจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกตัวเมียที่บานออกมาภายใน 3 วัน ซึ่งเกสรตัวผู้จะได้จากต้นสะละตัวผู้ที่ปลูกควบคู่ไว้กับต้นตัวเมีย ในอัตราส่วน ต้นตัวผู้ 1 ต้น ต่อต้นตัวเมีย 10 ต้น ซึ่งการช่วยผสมเกสรจะทำให้การติดผลสมบูรณ์มากขึ้น โดยสวนของคุณธานินทร์จะช่วยผสมเกสรวันเว้นวัน

คุณเสาวณีย์ ขาวเสน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลังจากผสมเกสรติดแล้ว นับไปอีกประมาณ 1 เดือน ดอกที่ผสมเกสรติดสมบูรณ์จะเริ่มติดผลออกมาให้เห็น ดูแลผลต่อไปอีก 8-9 เดือน สะละจะมีผลแก่ที่พอดี สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ ซึ่งภายใน 1 ต้น จะมีผลที่แก่ไม่พร้อมกัน ทำให้เก็บช่อที่พร้อมก่อนไปจำหน่าย และดูแลผลที่อยู่บนต้นไปอีกเรื่อยๆ สลับแบบนี้ตลอดทั้งปี

“ช่วงติดผลก็บำรุงต้น ใส่ปุ๋ยให้น้ำเหมือนเดิม ส่วนช่วงออกดอกและมีผล ถ้าเห็นมีแมลงศัตรูพืชและโรคพืชเข้ามาก่อกวน ก็จะใช้สารชีวภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาฉีดพ่นเพื่อป้องกัน ซึ่งสารชีวภัณฑ์เหล่านี้จะให้มีประสิทธิภาพ ต้องฉีดพ่นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตั้งแต่มาใช้สารชีวภัณฑ์เหล่านี้ ก็ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง สุขภาพเราก็ดีตามไปด้วย เพราะการปลูกไม่ได้ใช้สารเคมี โดยการจัดการก็จะหมุนเวียนอยู่แบบนี้ตลอดทั้งปี” คุณธานินทร์ บอก

ผลใหม่ที่ยังแก่ไม่เต็มที่

ผลผลิตต่อเดือนอยู่ที่

1,000-1,500 กิโลกรัม

เมื่อมีการจัดการที่ดีและบำรุงรักษาต้นสะละภายในสวนอย่างสม่ำเสมอ คุณธานินทร์ บอกว่า จะทำให้ผลสะละมีเก็บจำหน่ายได้ทุกเดือน ถึงจะเก็บผลไปจากต้นแล้ว แต่ก็ยังมีผลที่ติดใหม่ให้ดูแลต่อ ดังนั้นในเรื่องของการบำรุงต้นให้สมบูรณ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ซึ่งผลผลิตที่ส่งจำหน่ายออกจากสวนจะเน้นแบบมีคุณภาพ สร้างความเป็นเอกลักษณ์ของสวน ทำให้ลูกค้านอกจากติดใจในรสชาติแล้ว ยังเชื่อมั่นในผลผลิตของสวนอีกด้วย โดยทำตลาดทั้งจำหน่ายส่งทางไปรษณีย์และลูกค้ามาซื้อถึงหน้าสวนกันเลยทีเดียว

คุณภาพทุกผล

“พื้นที่ปลูกของผม มีอยู่ประมาณ 12 ไร่ ผลผลิตต่อเดือนที่ขายได้ ก็ตกอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งตลาดจะเน้นสร้างจุดขายเป็นของตนเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทุกพวงทุกผลจะเน้นคุณภาพ ผลแก่พอดีพร้อมเก็บเกี่ยว เมื่อถึงมือลูกค้าแล้วทำให้มีรสชาติที่ดี เมื่อลูกค้าติดใจในรสชาติ ก็จะทำให้ทุกครั้งที่อยากทานสะละ ต้องนึกถึงสะละจากสวนเรา จึงทำให้กลับมาซื้อซ้ำและเป็นลูกค้ากันอยู่ประจำจนถึงทุกวันนี้ พร้อมทั้งมีการบริการส่งทางไปรษณีย์ ทำให้ลูกค้าที่อยู่ไกลยังจังหวัดอื่น สามารถทานสะละจากสวนที่ส่งตรงไปถึงบ้านได้อย่างง่ายๆ” คุณธานินทร์ บอก

การผสมเกสรให้กับสะละ

สำหรับการทำสวนสะละให้ประสบผลสำเร็จและเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้นั้น คุณธานินทร์ แนะนำว่า ผู้ที่จะเริ่มต้นปลูกต้องมีความพร้อมในเรื่องของความอดทน เพราะสะละต้องมีการใส่ใจดูแลในบางขั้นตอน เช่น การผสมเกสร การดูแลต้นให้มีความสมบูรณ์ เมื่อใจพร้อมมีความชอบงานด้านนี้จริงๆ ผลผลิตที่ได้ก็จะออกมามีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคา เกิดเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธานินทร์ ใจห้าว หมายเลขโทรศัพท์ (081) 956-2709