“หมากซู่ลูด” พืชผักไทใหญ่อายุกว่าร้อยปี ที่ใกล้สูญพันธุ์

ปาย เป็นเมืองสำคัญของล้านนา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย เนื่องจากเมืองปายตั้งอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีทุนทางธรรมชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมุนไพร พันธุ์พืช สัตว์ป่า เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่อาศัย ทั้งคนไทยวน (คนเมือง) ชาวไทใหญ่ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ

ทุกวันนี้ อำเภอปาย กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก พื้นที่ทำการเกษตรใกล้เทศบาลอำเภอเมืองปายถูกขายให้นักธุรกิจทำรีสอร์ท ชาวบ้านเปลี่ยนไปรับจ้างเป็นแรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเมืองปายเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นระบบและไร้ทิศทาง ส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาจเกิดปัญหาการล่มสลายทางวัฒนธรรมและสังคมติดตามมาได้ หากขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนในท้องถิ่น

“ป้าแหลง – คุณอาภรณ์ แสงโชติ” ประธานเครือข่ายคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเป็นแกนนำชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณี รวมทั้งพืชผักท้องถิ่นเมืองปาย เช่น “หมากซู่ลูด” พืชผักไทใหญ่อายุกว่าร้อยปี ที่ใกล้สูญพันธุ์

หมากซู่ลูด มีลักษณะคล้ายผลฝรั่งและผลฟัก

“หมากซู่ลูด” มีลักษณะภายนอกดูผิวเผินคล้ายลูกฝรั่งผลใหญ่ จับดูใกล้ๆ คล้ายกับผลฟักแฟง เป็นผักสวนครัวพื้นบ้านไทใหญ่ เป็นมรดกแห่งแผ่นดิน ที่บรรพบุรุษชาวไทใหญ่ปลูกติดต่อกันมานานกว่าร้อยปี  กินได้ทั้งผลดิบและผลสุก

ป้าแลง เคยเก็บหมากซู่ลูดไปสับให้เป็นเส้นยาว และนำไปตำส้มตำแทนเนื้อมะละกอ ปรากฏว่า มีรสชาติอร่อยกว่า ส้มตำจากเนื้อมะละกอเสียอีก!

ผลเป็นรูปกลมยาวขนาดปานกลาง เปลือกสีเขียว ผลดิบ เนื้อในจะมีสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ ตรงกลางมีเมล็ด ผลสุก จะมีเนื้อสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปลูกได้ในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี   หมากซู่ลูด เป็นผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย และลงทุนน้อยโดยไม่พึ่งปุ๋ยหรือสารเคมี

โดยทั่วไป ชาวไทใหญ่นิยมนำผลดิบของหมากซู่ลูด ที่มีลักษณะคล้ายเนื้อฟัก ไปปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก เมื่อนำผลดิบของหมากซู่ลูดไปผ่าภายในผลจะมีเมล็ดสีดำ ที่หุ้มด้วยรกสีขาว มีรสเปรี้ยวเช่นเดียวกับเสาวรส

แปลงปลูกต้นหมากซู่ลูด

ต้นหมากซู่ลูด สามารถเจริญเติบโตได้ข้ามปี อยู่ในกลุ่มไม้เถาเลื้อยตระกูลแตง ลักษณะลำต้น ใบ และยอด คล้ายกับแตงกวา ผสมกับฟักเขียว มีระบบรากที่มีการสะสมขนาดใหญ่ ใบมีสีเขียวเป็นหยักใบหยาบ  ดอกสมบูรณ์เพศ มีชั้นของเกสรตัวผู้ เกสรตัวเมียครบถ้วน และมีกลีบดอกสีม่วงเข้ม

ดอกต้นหมากซู่ลูด

ป้าแหลง เล่าว่า ชาวบ้านนิยมนำเมล็ดหมากซู่ลูดไปคลุกกับเกลือก่อนรับประทาน เพื่อเพิ่มรสชาติ เชื่อว่า หมากซู่ลูดน่าจะมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาปรับสมดุลในร่างกาย ให้ความสดชื่นเช่นเดียวกับเสาวรส

นอกจากนี้ ชาวบ้านนิยมปล่อยให้ผลหมากซู่ลูดสุกเหลืองคาต้น จึงค่อยเก็บมารับประทานแทนผลไม้ โดยผ่าผลแล้วใช้ช้อนตักเมล็ดภายใน เมล็ดสีดำ ที่มีเยื่อใสหุ้มเช่นเดียวกับเสาวรสมารับประทาน จะได้รสชาติหวาน ชื่นใจ และอร่อยมาก ส่วนผลสุกที่มีเนื้อเหลืองเละ ชาวบ้านจะไม่นำมารับประทาน

สำหรับเมล็ดที่ได้จากผลสุกนั้น ชาวบ้านนิยมเก็บใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ เพื่อปลูกขยายพันธุ์ ป้าแหลง เล่าว่า จะใช้เวลาเพาะเมล็ดประมาณ 2-3 เดือน จึงได้ต้นกล้าสำหรับเพาะปลูกต่อไป ต้นหมากซู่ลูดปลูกและดูแลง่าย เพียงสร้างค้างให้ต้นหมากซู่ลูดเลื้อยเกาะ และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีผลผลิตให้เก็บได้ตลอดทั้งปี แต่ละครั้งป้าแหลงสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ไม่ต่ำกว่า 70 -80 ผล โดยขายให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่สนใจในราคาลูกละ 20 บาท

ผลอ่อนหมากซู่ลูด

หมากซู่ลูด นอกจากเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายได้หลายขนาน เช่น เป็นยาฟอกเลือด ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยรักษาโรคเบาหวาน และล้างพิษในตับ  ในสมัยโบราณปู่ย่าตายายนิยมปลูกหมากซู่ลูดเป็นผักสวนครัว เพื่อนำผลมาทำเป็นอาหารประจำบ้านสำหรับบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง

ป้าแหลง เล่าว่า หมากซู่ลูด ใกล้สูญพันธุ์เต็มที่แล้ว ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวไทใหญ่ไม่รู้จักพืชชนิดนี้  ป้าแหลงจึงนำมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ต้นหมากซู่ลูดไม่ให้สูญหายจากแผ่นดิน  และเป็นมรดกสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต

ปัจจุบัน ต้นหมากซู่ลูด ที่ป้าแหลงปลูก จะเก็บผลมาทำอาหารรับประทานในครัวเรือน ที่เหลือก็จำหน่ายให้ผู้สนใจ หากใครสนใจชมแปลงปลูกต้นหมากซู่ลูด สามารถแวะชมได้ที่บ้านป้าแหลง หากสนใจ อยากได้เมล็ดพันธุ์ไปปลูก ก็ขอแบ่งปันจากป้าแหลงได้ ลองสอบถามราคากันเอง บ้านป้าแหลงตั้งอยู่ เลขที่ 212 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58130  โทรศัพท์ 081-893-3649 และ 053-698-149 ให้เป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มเครือข่าย และวิสาหกิจชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562