แนะวิธีปราบ โรค-ศัตรูพืช ทุเรียน 

 1.โรคผลเน่าในทุเรียน

สภาพอากาศแปรปรวน ที่มีทั้งภาวะอากาศร้อนปนฝน เสี่ยงเจอโรคผลเน่าในทุเรียน พบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน ช่วง 1 เดือน ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน หรือในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนแล้ว อาจพบโรคผลเน่าในระหว่างการบ่มผลทุเรียนให้สุก โดยอาการเริ่มแรกจะพบเปลือกผลทุเรียนเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำ ต่อมาจุดแผลจะลุกลามขยายใหญ่มากขึ้นตามการสุกของผลทุเรียน กรณีที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง อาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบริเวณแผล ซึ่งสามารถพบอาการของโรคได้ตั้งแต่ผลทุเรียนที่ยังอยู่บนต้น ถ้าอาการรุนแรงมาก ผลทุเรียนจะเน่าและร่วงหล่นก่อนกำหนด

โรคผลเน่าในทุเรียน

แนวทางป้องกันโรคผลเน่า เกษตรกรควรหมั่นตรวจผลทุเรียนในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ควรตัดผลทุเรียนที่เป็นโรคและเก็บผลทุเรียนเน่าที่ร่วงหล่นใต้ต้นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมในแปลง หลีกเลี่ยงการนำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง อีกทั้งโรคผลเน่าจะมีเชื้อสาเหตุโรคชนิดเดียวกับโรครากเน่าและโคนเน่า เกษตรกรควรป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าไปพร้อมกัน เพื่อให้การป้องกันกำจัดโรคได้ผลดียิ่งขึ้น

ส่วนแปลงปลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง สืบเนื่องมาจากในแปลงมีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่ามาก รวมถึงมีฝนตกชุกหรือมีความชื้นในอากาศสูงในช่วงที่ทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต อาจส่งผลให้เชื้อสาเหตุโรคติดไปกับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการของโรค ดังนั้น การเก็บเกี่ยวผลทุเรียนต้องระมัดระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับพื้นดินโดยตรง ให้เกษตรกรปูพื้นดินด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาดเพื่อวางผลทุเรียนที่เก็บเกี่ยวแล้ว วิธีนี้จะช่วยลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับพื้นดินที่มีเชื้อสาเหตุโรคได้ และให้ระมัดระวังการขนย้ายไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นกับผลทุเรียน

หากพบการระบาดของโรคผลเน่า ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนอย่างน้อย 15 วัน

  1. โรคราสีชมพู

มักเกิดได้ง่ายในช่วงที่มีฝนตกชุกและน้ำท่วมขังในแปลงปลูกทุเรียน ทำให้เชื้อราเข้าทำลายกิ่งต้นทุเรียน โดยเฉพาะบริเวณง่ามกิ่ง ส่งผลให้ใบมีสีเหลืองร่วงหล่นไปคล้ายกับอาการกิ่งแห้งและใบร่วงที่เกิดจากโรคโคนเน่า โรคราสีชมพูจุดสังเกตอาการได้ง่ายคือ มีเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีชมพู ปกคลุมบริเวณโคนกิ่งที่มีใบแห้ง ทำให้เปลือกของกิ่งทุเรียนปริแตกและล่อนจากเนื้อไม้ เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเนื้อไม้ภายในมีสีน้ำตาล ถ้าเกิดรอบกิ่งจะทำให้กิ่งทุเรียนแห้งตายในที่สุด หากตรวจพบว่าต้นทุเรียนเกิดปัญหาโรคราสีชมพูอย่างรุนแรง ควรตัดและเผาทำลาย แล้วพ่นด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม หรือสารคาร์เบนดาซิม 60% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่ว โดยเน้นพ่นบริเวณกิ่งในทรงพุ่ม

 

  1. หนอนเจาะผลทุเรียน

ในภาวะอากาศร้อน และมีฝนตก มักพบการแพร่ระบาดของหนอนเจาะผลทุเรียนได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ขนาดผลทุเรียนเล็กจนถึงผลโตพร้อมเก็บเกี่ยว ทำให้ผลทุเรียนเป็นแผล ผลเน่าและร่วงหล่นเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ หากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล จะทำให้บริเวณนั้นเน่าเมื่อผลสุก โดยจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจนที่บริเวณเปลือกผลทุเรียน มีน้ำไหลเยิ้มเมื่อผลทุเรียนใกล้แก่ หนอนจะเข้าทำลายผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกันมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะผีเสื้อตัวเต็มวัยชอบวางไข่ในบริเวณรอยสัมผัสนี้ ถ้าผลทุเรียนที่มีรอยแมลงทำลาย จะส่งผลทำให้ผลผลิตทุเรียนขายไม่ได้ราคา

กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรหมั่นสังเกตตรวจดูผลทุเรียนภายในสวน หากพบรอยทำลายของหนอนเจาะผลทุเรียน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลายทิ้ง จากนั้น ให้ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกัน เกษตรกรควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย และควรเริ่มห่อผลทุเรียนตั้งแต่มีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป ด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่นที่เจาะรูบริเวณขอบล่าง เพื่อให้น้ำระบายออกมาได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายของผลทุเรียนได้

หากพบการระบาดรุนแรงของหนอนเจาะผลทุเรียน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ คือ สารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล สำหรับในแหล่งที่มีการระบาด ให้พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน โดยพ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน

  1. หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

มักพบการเข้าทำลายในช่วงที่ทุเรียนมีผลรุ่นที่ 2 อายุ 65-70 วัน หลังดอกบาน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนในระยะนี้ จะพบตัวเต็มวัยหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผลทุเรียนช่วงที่ผลยังอ่อน จากนั้น ตัวหนอนที่เพิ่งฟักจากไข่จะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผล และไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยการเข้าทำลายจากผิวผลภายนอกได้ เนื่องจากหนอนมีขนาดเล็กมากและเปลือกทุเรียนที่กำลังขยายจะปิดรูเจาะของหนอน

สำหรับทุเรียนที่ถูกทำลายส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว การทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะเข้าไปในเมล็ดกัดกินและถ่ายมูลออกมา ทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย หนอนจะอาศัยอยู่ภายในผลทุเรียนจนกระทั่งผลทุเรียนแก่ เมื่อหนอนโตเต็มที่ขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร หรือถ้าผลร่วงก่อนหนอนจะเจาะผลทุเรียนเป็นรูกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ออกมาภายนอกเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ในดินที่ชื้นนาน 1-9 เดือน (กรณีที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมหนอนอาจอยู่ในดักแด้นานกว่านั้น) จึงฟักเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งตรงกับช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน

หากพบการเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เกษตรกรควรติดตามตรวจดูภายในสวนทุเรียน และหมั่นทำความสะอาดสวนอย่างสม่ำเสมอ เก็บผลร่วงที่ถูกทำลายออกจากแปลงไปเผาทำลายทิ้งนอกสวน และควรเริ่มห่อผลทุเรียนเมื่ออายุได้ 6 สัปดาห์ ด้วยถุงพลาสติกสีขาวขุ่น ขนาด 40×75 เซนติเมตร ที่เจาะมุมก้นถุงด้านล่าง เพื่อให้น้ำระบายออกมาได้ ก่อนห่อผลควรตรวจสอบผลทุเรียนที่จะห่อให้ปราศจากเพลี้ยแป้ง ถ้ามีให้กำจัดโดยใช้แปรงปัดออก แล้วพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายของผลทุเรียนได้

เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก หากมีความจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ดหรือแช่เมล็ดทุเรียนด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนขนย้ายจะสามารถช่วยกำจัดหนอนได้

กรณีพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนตัวเต็มวัย 1 ตัว ในกับดักแสงไฟ ให้เกษตรกรสำรวจไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ร่องหนามผลทุเรียน แล้วเก็บทำลาย จากนั้นให้พ่นด้วยสารเคมีคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเดลตาเมทริน 3% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเริ่มพ่นเมื่อผลมีอายุ 6 สัปดาห์ และพ่นห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ งดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 14 วัน