เกษตรกรหญิงแกร่งเมืองปราจีน ผลิตทุเรียนเน้นคุณภาพ ผลผลิตมีรสชาติดี ลูกค้าติดใจ เข้าซื้อถึงสวนทุกปี

“ทุเรียนปราจีน” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) อย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งการทำสวนทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ ไม่ได้เน้นการทำสวนแบบจำนวนมาก โดยเกษตรกรแต่ละรายจะมีสวนทุเรียนที่สามารถดูแลกันเองได้ภายในครอบครัว จึงทำให้ผลผลิตที่ได้แต่ละปีมีการดูแลอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งมีการใส่ใจในเรื่องของการผลิตให้ได้มาตรฐาน จีเอพี (GAP) ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณธัญญรัตน์ ชาญยงค์

คุณธัญญรัตน์ ชาญยงค์ อยู่บ้านเลขที่ 127/1 หมู่ที่ 2 ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ได้ทำสวนทุเรียนปลูกอยู่รอบบริเวณบ้านรวมกับพันธุ์ไม้อื่นๆ เมื่อถึงหน้าฤดูกาลทุเรียนออกผลก็จะดูแลอย่างดี ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีรสชาติดี ผลผลิตได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของลูกค้า และเมื่อทุเรียนหมดฤดูกาลไปก็จะได้ผลผลิตจากไม้อื่นทำรายได้แทน เธอจึงมีรายได้จากพืชหลากหลายชนิดทำรายได้ตลอดทั้งปี

ต้นทุเรียนใหม่ที่นำมาปลูกเพิ่มแทนต้นเก่าที่ตาย

คุณธัญญรัตน์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เธอจำความได้ตั้งแต่สมัยเด็ก ครอบครัวของเธอก็มีสวนไม้ผลอยู่รอบบริเวณบ้าน โดยเน้นเป็นทุเรียนพันธุ์โบราณเป็นหลัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ทุเรียนเหล่านั้นตายไปจนหมดสวน ครอบครัวของเธอจึงได้หาต้นทุเรียนใหม่ๆ เข้ามาปลูกเพิ่มในพื้นที่บริเวณที่ตายไป พร้อมทั้งปลูกไม้ชนิดอื่นๆ เข้ามาแซมเป็นการเพิ่มผลผลิตให้มีหลากหลายมากขึ้น

“พื้นที่รอบบ้านมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 12 ไร่ จะปลูกทุเรียนอยู่ที่ 500 ต้น โดยทำเป็นสวนแบบผสมผสาน แต่ทุเรียนเป็นผลผลิตหลักของสวน ซึ่งผลผลิตทุเรียนทำเงินรายปี พืชผักพลูกินใบเป็นรายได้รายวันและรายเดือน จึงทำให้ในแต่ละปีถึงไม่มีผลผลิตจากทุเรียน เราก็ยังมีผลผลิตชนิดอื่นที่สามารถสร้างรายได้อีกหลายๆ ช่องทาง ซึ่งอายุทุเรียนของสวนมากสุดอยู่ที่ 20 ปีขึ้น พอต้นไหนที่ตาย เราก็จะหาต้นใหม่เข้ามาปลูกอยู่เสมอ จึงทำให้ทุเรียนในสวนมีหลากหลายอายุ ปลูกเต็มทั่วทุกพื้นที่ที่จะจัดการได้” คุณธัญญรัตน์ บอก

ใช้แรงงานในครอบครัว

ทุเรียนที่ปลูกภายในสวนทั้งหมด คุณธัญญรัตน์ บอกว่า จะให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 6-7 เมตร สายพันธุ์หลักที่นำมาปลูกจะมีทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์ชะนี หากเป็นต้นที่นำมาปลูกใหม่ๆ จะดูแลรดน้ำป้องกันโรคและแมลงให้เป็นอย่างดี ดูแลใช้เวลาประมาณ 4 ปี ต้นทุเรียนก็จะเริ่มให้ผลผลิตจำหน่ายได้

พื้นที่ภายในสวน

โดยทุเรียนที่เก็บผลผลิตจำหน่ายจนหมดปลายสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว หลังจากนั้นจะบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์ด้วยการใส่ปุ๋ยคอกและใส่ปุ๋ยสูตรเสมอสลับกัน พร้อมทั้งตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนภายในสวนทั้งหมด ดูแลไปเรื่อยๆ ต้นทุเรียนจะเริ่มออกดอกอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคมเมื่อเข้าสู่เดือนมกราคมดอกจะเริ่มบาน ดูแลรดน้ำให้กับต้นทุเรียนตามปกติพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกเสริมเข้าไป หลังจากนั้นไม่นานก็จะได้ผลผลิตที่สามารถเก็บจำหน่ายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม

“ผลทุเรียนที่เราไว้ต่อต้น ก็จะประมาณ 20-30 ผล จะไม่เน้นให้มีผลมาก เพราะต้องการให้แต่ละผลมีคุณภาพ ผลที่เราเห็นว่าไม่ดีไม่สมบูรณ์ก็จะเด็ดออกทันที ในช่วงที่ต้นมีผลแล้วก็จะดูแลป้องกันแมลงศัตรูพืชเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ผลเกิดความเสียหาย โดยในอนาคตมองไว้ว่า จะปรับเปลี่ยนทำสวนทุเรียนให้เป็นระบบอินทรีย์มากขึ้น จะไม่ใช้สารเคมีในการผลิต ก็จะยิ่งช่วยให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” คุณ        ธัญญรัตน์ บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายทุเรียนภายในสวนนั้น คุณธัญญรัตน์ บอกว่า จังหวัดปราจีนบุรีมีการจัดงานเกษตรของจังหวัดขึ้นทุกปี เมื่อผลผลิตภายในสวนมีก็จะนำไปออกร้านจำหน่ายภายในงาน จึงทำให้ลูกค้าที่มาเที่ยวงานได้ลองชิมและติดใจในรสชาติ เมื่อแต่ละปีทุเรียนในสวนเริ่มมีผลผลิต ลูกค้าก็จะมาติดต่อสั่งจองถึงหน้าสวน จึงทำให้ผลผลิตในสวนจำหน่ายได้หมดโดยไม่ต้องออกร้านเหมือนเช่นสมัยก่อน

“ปัจจุบัน สื่อโซเชียลมีการพัฒนามากขึ้น เราก็จะทำช่องทางการขายออนไลน์ด้วย ให้ลูกค้าที่ติดตามสวนเราได้รู้ว่าช่วงนี้เรามีสินค้าอะไรบ้าง เราก็จะโพสต์อยู่เสมอๆ พอเขาสนใจ ก็จะสั่งจองเข้ามา และมารับถึงที่สวน พร้อมทั้งเดินท่องเที่ยวสวนไปด้วย ได้รับทั้งความรู้และทานทุเรียนจากสวนโดยตรง ซึ่งทุเรียนหมอนทองขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ทุเรียนก้านยาว กิโลกรัมละ 250 บาท และทุเรียนชะนีขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ผลผลิตเฉลี่ยต่อปี รวมๆ กันก็อยู่ที่ 1.5 ตัน ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่อยู่ได้ เป็นสวนที่เราทำเองและใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก” คุณธัญญรัตน์ บอก

สำหรับการทำเกษตรให้ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียน คุณธัญญรัตน์ แนะนำว่า สิ่งที่ต้อง เตรียมพร้อมเป็นอย่างมากคือ เรื่องของใจรัก เพราะการทำเกษตรไม่ได้เห็นผลในระยะสั้นๆ แต่ต้องดูแลและใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร ดังนั้น ต้องมีการทำให้ผสมผสานหลากหลาย มีพืชหลายๆ ชนิดอยู่ด้วยกัน เพื่อให้มีเงินนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่รอผลผลิตจากทุเรียนภายในสวน

ผลผลิตเตรียมนำส่งลูกค้าที่สั่งจองไว้

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธัญญรัตน์ ชาญยงค์ หมายเลขโทรศัพท์ 080-642-1212, 081-354-3410

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564