ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แรกๆ ใครก็หาว่าบ้า มีที่ดินดีๆ เอามาปลูกสวนป่า ปลูกไปเมื่อไร จะโต เชื่อสิยังไงก็ไปไม่รอด”
คำพูดเหล่านี้หญิงแกร่งคนนี้ ไม่เคยลืม แต่ ณ ปัจจุบัน คำพูดสบประมาทเหล่านี้ ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง หากคนเรามุ่งมั่น และมีแบบแผน อย่างไรแล้วความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล
คุณธวัลรัตน์ คำกลาง เกษตรกรดีเด่น ปี 2561 อยู่บ้านเลขที่ 91/1 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกะทะ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หญิงผู้รักต้นไม้ รักป่า ชอบสีเขียวเป็นชีวิตจิตใจ เล่าถึงความเป็นมาของสวนป่าว่า แรกเริ่มพื้นที่ตรงนี้พ่อกับแม่อพยพมาจากอำเภอสูงเนิน แล้วมาได้งานเฝ้าสวนที่ตำบลวังกะทะ แต่เวลาผ่านไปเจ้าของที่จะย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นจึงเอ่ยปากขายที่ให้กับพ่อแม่ของตน พ่อกับแม่จึงตกลงซื้อ แต่ตอนนั้นซื้อแบบเงินผ่อน โดยมีพ่อแม่และพี่น้องช่วยกันผ่อน ที่ดินจำนวน 100 ไร่ และเมื่อตนมีครอบครัวพ่อแม่ก็แบ่งสันปันส่วนที่ให้กับเราและพี่น้องอีก 6 คน คุณธวัลรัตน์ ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมา 24 ไร่ เพื่อนำมาปลูกป่าที่ตนเองรักและสร้างครอบครัวต่อไป
แรกเริ่มปลูกสวนป่า
เพราะความชอบไม่ได้คิดอะไร
คุณธวัลรัตน์ เป็นคนชอบป่า ชอบสีเขียว ชอบความสงบของป่า อยู่แล้วตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อมีพื้นที่จึงไม่ลังเลที่จะปลูก ปลูกอะไรก็ได้ที่เป็นสีเขียว ปลูกแบบไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดถึงกำไรขาดทุน เริ่มจากการปลูกสวนป่ากับสามี คือ คุณชัชนรินทร์ อ่อนราษฎร์ ช่วยกันทำสองคน เริ่มจากเงินทุนน้อย อะไรที่ได้มาฟรีก็นำมาปลูกก่อนเลย ไปขอจากกรมป่าไม้บ้าง หรือหาซื้อไม้หอมราคาถูกมาปลูก เริ่มปลูกสะสมมาเรื่อยๆ เมื่อทำจนลงตัว ตนทั้งคู่จึงค่อยเริ่มแบ่งงานกันชัดเจนขึ้น คือเรามีลูกสองคน เราเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ขายของ สามีทำสวน ถ้าว่างเราก็ไปช่วยสามีทำ
ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ทำน้อย แต่ได้มาก
ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พูดง่ายๆ คือ
ประโยชน์ที่ 1 คือ สามารถกินได้
ประโยชน์ที่ 2 นำมาใช้งาน ตัดเป็นฟืน หรือใช้สร้างบ้านเรือน
ประโยชน์ที่ 3 ขายสร้างรายได้
ประโยชน์ที่ 4 คือ การช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ สังเกตได้ง่ายๆ จากตอนเริ่มมาอยู่ใหม่ตรงนี้ยังไม่มีลำธาร ไม่มีน้ำ แต่พอป่าอุดมสมบูรณ์ลำธารก็เกิดขึ้นมาเอง
“คำว่า ‘สวนป่า’ คือเน้นความหลากหลายเพื่อฟื้นฟูระบบดิน ตอนที่เริ่มมาอยู่ใหม่ๆ คือดินไม่มีคุณภาพ เป็นดินที่เสีย มีแต่หิน เราต้องปลูกป่า ปลูกต้นไม้ยืนต้น หยุดการไถ ต้องเริ่มปลูกป่าเน้นระบบนิเวศมากที่สุด คือ
1. ปลูกแบบไม่เป็นแถวเป็นแนวเพื่อป้องกันดินชะล้าง
2. ต้นไม้แต่ละชนิดจะไม่ซ้ำประเภทกัน ปลูกสลับกันไป ต้องมีไม้โตเร็ว โตช้า ทรงพุ่ม สลับกันไป และต้องมีไม้รุ่นที่สองคือไม้เรี่ยดิน”
เจ้าของบอกและเล่าต่ออีกว่า
“โดยที่สวนป่าของเราปลูกไม้มากกว่า 200 ชนิด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ไม้โตเร็ว
2. ไม้โตปานกลาง
3. ไม้โตช้า ย่อยออกมาเป็นไม้กินได้ ไม้ใช้งาน และไม้เศรษฐกิจ แยกออกมาเป็น 2 ชนิด คือ
ชนิดที่ 1 ไม้ต้นทุน คือไม้ที่ลงแรงปลูกหรือไม้ที่ต้องใช้งบประมาณ
ชนิดที่ 2 ไม้กำไร คือไม้ที่โตขึ้นมาเองจากการทิ้งเมล็ดจากไม้อื่นๆ ถือเป็นไม้พลังงาน ทำถ่าน ทำฟืน สร้างบ้าน ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้ต่างกัน เริ่มต้นที่
ไม้โตช้า ตะเคียนทอง มะค่าโมง ลำดวน พะยูง ชิงชัน
ไม้โตปานกลาง สัก ประดู่ ยางนา คือไม้ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป
ไม้โตเร็ว ขี้เหล็ก สะเดา ตะกู กระถินเทพา กระถินณรงค์
ไม้กินผล ขนุน มะม่วง ลำไย สะตอ ชมพู่ ละมุด เหลียง มะนาว มะกรูด มะพร้าว กล้วย มะละกอ ลูกเนียง ส้มโอ มะเฟือง ขนุน น้อยหน่า
ไม้พลังงาน ไผ่หวาน ไผ่บง ไผ่กิมซุ่ง ไผ่เลี้ยง กระถิน ตัดไปทำฟืน หรือสร้างบ้าน”
การนำไม้ที่ปลูกมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้
ต้องบอกก่อนเลยว่า ไม้ที่สวนป่าของคุณธวัลรัตน์ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เน้นธรรมชาติ และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง โดยการเก็บเศษใบไม้ที่ร่วงมารวมกัน แล้วหมักมาใช้ประโยชน์ใส่ในแปลงผักบ้าง โคนต้นไม้บ้าง ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีพอสมควร ดังนั้น ที่สวนจึงมีต้นทุนต่ำ สร้างรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ขัดสน
ประโยชน์ที่ได้คือ
1. การใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกระยะแรก จะใช้ประโยชน์จากไม้กำไรที่ขึ้นมาเอง อย่าง กระถิน ถ้าต้องการใช้งานเราก็ตัดไปเผาถ่าน สร้างรายได้ กระสอบละ 300 บาท หากแบ่งขายเป็นถุงเล็ก ถุงละ 30 บาท คือที่นี่จะมีรายได้จากการขายถ่านทุกวัน และนอกเหนือจากการขายถ่าน เราก็ยังสามารถมีรายได้จากการขายน้ำส้มควันไม้จากถ่าน ถ่านผลไม้ และทำเป็นผงถ่านมาทำปุ๋ยก็ได้
2. สร้างรายได้จากการเก็บไม้ผล ไม้โตเร็ว มาขาย อย่างเช่น ขายหน่อไม้สด หรือหน่อไม้ดอง มีรายได้จากการขายสะตอ ขายมะนาว หรือผลไม้แช่อิ่มที่ทางสวนนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผลผลิตที่มีน้อย อย่างเช่น หน่อไม้มีแค่ วันละ 40-50 กิโลกรัม แทนที่เราจะขายได้เงินกิโลกรัมละ 8 บาท เราก็เอามาแปรรูปทำเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้นึ่ง เพิ่มมูลค่า หรือถ้าตัดไม่ทันก็ปล่อยให้ขึ้นลำ เราก็ใช้ประโยชน์จากลำได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดด้วย
3. ใช้ประโยชน์จากไม้โตช้า คือ ไม้พะยูง ไม้มะค่า ไม้ชนิดนี้เราจะนำมาใช้ตอนที่ลูกโต ขายเป็นทุนการศึกษา เพราะเป็นไม้ที่มีราคาสูง
เป็นเกษตรกรก็สามารถมีเงินส่งลูกเรียนจบปริญญาได้
หากมีการวางแผนที่ดี
อย่างที่เกริ่นไว้ว่า เป็นเกษตรกรก็สามารถหารายได้ส่งลูกเรียนจบสูงๆ ได้อย่างสบาย หากมีการวางแผนที่ดี ยกตัวอย่างพี่ธวัลรัตน์ และพี่ชัชนรินทร์ ได้บอกเล่าถึงแผนจัดการเรื่องการศึกษาของลูกทั้ง 2 คน ให้ผู้เขียนฟังก็ต้องอึ้งความคิดของพี่ทั้งสอง พี่ทั้งสองบอกว่า ก่อนจะทำอะไร ทุกอย่างต้องมีการวางแผน ไม่ใช่แค่เรื่องการทำเกษตร เรื่องครอบครัวก็เช่นกัน หลายคนมองว่าอาชีพเกษตรกรรมได้เงินน้อย แต่เหนื่อย ซึ่งก็จริงแต่ไม่ทั้งหมด เราต้องคิดแล้วว่าหากอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่เรารัก เราจะทำอย่างไร ให้อาชีพที่เรารักสามารถเลี้ยง ครอบครัวเราได้ อย่างแรกคือ
1. ทั้งสองคนเริ่มจากการศึกษา การศึกษาที่ดีที่สุดคือ โรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด เพราะสามารถใกล้ชิดหรือคุยกับคุณครูของลูกได้ แต่ถ้าเราเห่อตามกระแส คิดว่าลูกต้องเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด โรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่งอยู่ไกลจากบ้าน 50-60 กิโลเมตร เด็กจะเหนื่อย และถือเป็นการลงทุนที่ไม่เห็นผล
2. วางแผนปลูกป่าเพื่ออนาคตลูก ที่นี่มีพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด 24 ไร่ แบ่งเป็น 6 แปลง แปลงละ 4 ไร่
แปลงที่ 1 พื้นที่บนสุดเป็นพื้นที่ลาดชัน คือ เป็นป่าปล่อย เอาไว้เก็บกำไรกิน คือได้ไม้ที่ไม่ต้องปลูก ใช้หลักการของศาสตร์พระราชา ปลูกในที่บนที่สุดก่อน เสร็จแล้วให้ลูกไม้หล่นมาขึ้นใหม่ ไว้เก็บกินรายวัน หรือตัดมาเผาถ่านทำฟืน
แปลงที่ 2 ถัดลงมาเมื่อลูกเกิดเราจะปลูกแปลงนี้ก่อน 4 ไร่ ปลูกไม้โตช้า ไร่ละ 200 ต้น 4 ไร่ เท่ากับ 800 ต้น ถ้าลูกโตมา จบ ม.6 อายุ 18 ปี เท่ากับต้นไม้มีอายุ 18 ปี ต้นนี้จะตีราคา สักต้นละ 5,000 บาท 800 ต้น เขาจะมีเงิน 4 ล้านบาท เงิน 4 ล้านบาทนี้ ก็เก็บไว้ให้เขาเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกคนที่ 1
แปลงที่ 3 ปลูกไม้โตช้าไว้อีก 4 ไร่ ให้ลูกสาวคนที่ 2 จัดสันปันส่วนให้เท่ากับลูกคนที่ 1 ทุกอย่าง
แปลงที่ 4 และแปลงที่ 5 เป็นแปลงด้านล่าง แบ่งไว้ให้อีกคนละ 4 ไร่ คนละ 800 ต้น ส่วนนี้เก็บไว้ให้สำหรับการแยกเรือน หรือใครอยากจะขายและนำเงินไปเรียนต่อก็ได้ หรือเก็บไว้สร้างเรือนก็แล้วแต่ลูกทั้งสอง
แปลงที่ 6 แปลงสุดท้าย คือส่วนของสามีและภรรยา แบ่งไว้ปลูกผักสวนครัว ทำนา ป่าปล่อย เก็บกินรายวันไป “แค่ 4 ไร่ ก็เหนื่อยแล้วสำหรับคนแก่ 2 คน” นับว่าเป็นการวางแผนครอบครัวและตัวอย่างเกษตรกรดีเด่นมากๆ
สำหรับท่านที่สนใจการปลูกสวนป่า หรืออยากได้แง่คิดการใช้ชีวิตที่ดี สามารถโทร.ปรึกษาหรือเข้าไปเยี่ยมชมที่สวนคุณธวัลรัตน์ คำกลาง และ คุณชัชนรินทร์ อ่อนราษฎร์ โทร. 082-141-5474
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561