เกษตรจังหวัดเชียงราย เผยแผนเชิงรุก ให้ตลาดนำ ดึงนวัตกรรมหวังลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม

ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และความแตกต่างทางทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลต่อกิจกรรมทางการเกษตรของจังหวัดเชียงรายที่เกิดขึ้นมากมายครบทุกชนิด ไม่ว่าเป็นด้านพืช ผัก ผลไม้ ที่ล้วนแต่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รวมทั้งยังมีตลาดรองรับที่มั่นคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการทุ่มเท ใส่ใจ ตลอดจนวางแผน ของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย สร้างเป้าหมายงานเกษตรกรรมจากแหล่งปลูกไปจนถึงตลาดผู้บริโภคได้อย่างสอดคล้องกับยุค 4.0

คุณพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงภาพรวมกิจกรรมเกษตรในส่วนต่างๆ โดยกำหนดแผนงานในเรื่องต่างๆ พื้นที่เป้าหมายไว้ 114 แปลง มีเกษตรกร 7,929 ราย พื้นที่ 84,509.73 ไร่ จำแนกเป็นแปลงข้าว 81 แปลง พืช 18 แปลง ประมง 10 แปลง ปศุสัตว์ 4 แปลง และหม่อนไหม 1 แปลง ด้วยการยกระดับมาตรฐานข้าว GAP และข้าว GAP Seed รวมถึงด้านพืช ผัก ผลไม้ ประมง และปศุสัตว์

คุณพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย

ให้ความสำคัญกับงานเกษตรทุกกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้มีแผนและกำหนดเป้าหมายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และปศุสัตว์อินทรีย์อย่างละ 1 แห่ง ประมงอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer และ Young Smart Farmer โดยส่งเสริมและยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีแผนธุรกิจ แผนการตลาด การสร้างนวัตกรรม นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลาดสินค้าเกษตร

เกษตรจังหวัดเชียงรายเพิ่มเติมว่า พื้นที่ทำเกษตรกรรม 3.72 ล้านไร่ หรือ 51.47 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา ชา กาแฟ และสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร และสัตว์ปีก ส่วนสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ปลานิล

แนวทางดำเนินงานในระยะเริ่มแรก สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า ในรูปแบบของกลุ่มแม่บ้านเกษตร และสนับสนุนให้กลุ่มดำเนินการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนยังสนับสนุนโรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ดำเนินการติดตามให้คำแนะนำ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับ

เกษตรแปลงใหญ่ คือความสำเร็จที่ยั่งยืน

คุณพรศักดิ์ กล่าวว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่ต้องมีขอบเขตและกรอบแนวทางในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตปุ๋ยใช้เอง อย่างกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่อำเภอแม่จัน ซึ่งแต่เดิมปลูกข้าวแบบนาหว่าน ทำให้มีต้นทุนสูง สูญเสียเมล็ดพันธุ์เปล่าประโยชน์ อีกทั้งข้าวยังมีคุณภาพตกต่ำ

จึงลองเปลี่ยนวิธีมาปลูกแบบนาดำ ช่วยลดต้นทุนได้มาก เพราะใช้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่า ใช้ปุ๋ยลดลง ลดการใช้ยาปราบศัตรู จึงทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากกว่าเดิม

นอกจากรวมกลุ่มกันแล้ว ยังขยายผลไปสู่การรวมตัวกันขาย ตัวอย่าง กลุ่มลำไยแปลงใหญ่ ที่ทำสัญญากับภาคเอกชนเพื่อมารับซื้อลำไย แล้วยังมีการเจรจาต่อรองราคาซื้อ-ขาย ที่เป็นธรรม กำหนดคุณภาพผลลำไยที่ส่งขายเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐาน

ดังนั้น จึงสรุปว่าการเกษตรแปลงใหญ่มีข้อดีในเรื่องการลดต้นทุน สร้างผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีอำนาจในการต่อรองราคา ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เชื่อมโยงการตลาดได้ง่าย รวดเร็ว สร้างรายได้ที่มั่นคง แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานเกษตรในทุกระดับยังต้องเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวบ้านในเรื่องการให้ความรู้ ทักษะ เสริมสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามา รวมทั้งยังต้องมีหน้าที่รับนโยบายจากรัฐบาลเพื่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นการปฏิบัติที่เล็งผลเลิศ

ดึงชุมชนท้องถิ่น

พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

เกษตรจังหวัดชี้ว่า พื้นที่ของชุมชนเกือบร้อยแห่งมีการทำเกษตรกรรมในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้มาตรฐาน สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ ในรูปแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านปลูกผักสวนครัวปลอดภัย การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต

ความสำเร็จของชาวบ้านทำให้พวกเขาสามารถผลักดันครอบครัวและกลุ่มเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานการผลิต หรือ GAP ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสาร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่บ้านแม่สาด บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง, หมู่บ้านบ้านปง ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย หรือหมู่บ้านรักแผ่นดิน ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง  เป็นต้น

สินค้า GI

นอกจากนั้น ผลผลิตทางการเกษตรเด่นของจังหวัดเชียงรายยังถูกนำไปจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ด้วย คุณพรศักดิ์ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งในแง่การขายและการชักชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในชุมชน

สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จดทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว ได้แก่

  1. สับปะรดภูแล ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านขนาดผล รสชาติ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะประเทศจีน สับปะรดภูแลปลูกได้ดีเฉพาะที่ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด ตำบลบ้านดู่
  2. สับปะรดนางแล เป็นสับปะรดดั้งเดิมที่เคยได้รับความนิยมสูงสุด ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอยู่ แต่น้อยกว่าภูแล มีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนางแลยังปลูกได้ดี
  3. กาแฟดอยตุง ใช้พันธุ์อาราบิก้า จากผลกาแฟสดที่ปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง บนเทือกเขานางนอนแล้วจึงนำมาผลิตเป็นสารกาแฟ และแบบคั่วเม็ด
  4. กาแฟดอยช้าง เป็นกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์หลัก คาทูรา คาติมอร์ และคาทุย ที่ได้ผลกาแฟสดจากหุบเขาดอยช้าง เป็นกาแฟที่ปลูกกันมากที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย
  5. ชาเชียงราย เป็นผลิตภัณฑ์ชาเขียวและชาอู่หลง พื้นที่ปลูกในเขตอำเภอเมือง อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงรุ้ง และอำเภอเชียงแสน

เป็นจังหวัดที่ติดชายแดนเพื่อนบ้านหลายประเทศ

ต้องวางแผนแข่งขันอย่างไร

ต้องใช้นโยบายการตลาดนำเกษตรก่อน ขณะเดียวกันต้องกลับมาดูศักยภาพทางด้านการเกษตรของจังหวัด ว่ามีความพร้อมด้านใด มีอะไรเป็นจุดแข็งและจุดขาย อย่างที่เห็นภาพชัดคือ เรื่องอินทรีย์และอาหารปลอดภัยที่กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมุ่งวางแผนในเชิงบูรณาการ ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตสินค้าปลอดภัย

ขณะเดียวกันพบว่า มีสินค้าทางการเกษตรของเพื่อนบ้านนำเข้ามาขายในแถบพื้นที่ชายแดนและหลายแห่งในจังหวัด ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องการสัญญาการค้าเสรี แต่ถ้าสินค้าของเรายึดมั่นในมาตรฐาน ผลิตให้มีคุณภาพ ผู้บริโภคก็ยังคงอุดหนุนอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะรูปแบบการเกษตรแนวใหม่ที่เปลี่ยนยุคสมัยโดยคนรุ่นใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ “Young Smart” โดยคนเหล่านี้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี การบริหาร หรือการตลาด อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก จึงมองว่ายุคเกษตรที่มีกลุ่ม Young Smart เข้ามาคงได้นำพาความสำเร็จของภาคเกษตรกรรมไปได้อย่างดี

ต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ขายส่งตลาดออนไลน์

แผนและแนวทางการทำงานเชิงรุก ได้แก่ การตลาดนำการผลิต นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดต้นทุนแล้วสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างตลาดผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนั้น ยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อหาตลาดที่มั่นคง ยั่งยืนในการวางรากฐานขายสินค้าในระดับเกรดพรีเมี่ยมต่อไป

“สินค้าของจังหวัดเชียงรายนับได้ว่ามีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย จึงขอให้ผู้อ่านทุกท่านเชื่อมั่น รวมถึงมีความไว้วางใจถึงความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรชนิดใด ทั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดได้สร้างคุณภาพทุกอย่างให้แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ GAP, QC เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่บริโภค” เกษตรจังหวัดกล่าว