‘มะไฟกา-ลังแข’ ผลไม้ใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์ วันนี้ยังมีให้เห็น อยากรู้ไปดูกัน!

หนึ่งในความทรงจำที่แสนประทับใจของการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ที่อยากนำมาแบ่งปันผ่านตัวหนังสือ คือ ประสบการณ์เล็กๆ ที่มีโอกาสได้รู้จักกับ “ลังแข มะไฟกา” ผลไม้ป่าหายากประจำถิ่นภาคใต้ ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีและนิยมนำมากินกันมานานแล้ว เหตุที่ประทับใจก็เนื่องจาก “ลังแข มะไฟกา” เป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ทำให้เราไม่รีรอที่จะหยุดรถและเดินเข้าไปทำความรู้จักกับไม้ผลป่าชนิดนี้

มะไฟกา หรือ มะไฟแดง เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่พบขึ้นอยู่ตามป่า ตามธรรมชาติ พบขึ้นอยู่มากในป่าดิบชื้นของภาคใต้โดยทั่วไป มะไฟกาพบเห็นได้ง่ายในผืนป่าภาคใต้ตอนล่าง เช่น จังหวัดยะลา นราธิวาส ฯลฯ รวมทั้งภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดพังงาและพื้นที่ใกล้เคียง นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นผลมะไฟกาวางขายตามเพิงข้างถนนในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกๆ ปี

ลักษณะเด่นของมะไฟกาคือ ออกดอกติดผลตั้งแต่โคนต้นจากพื้นดินไปจนถึงปลายกิ่งเลยทีเดียว ผลที่สุกนั้นมีสีแดงสด เด่นสะดุดตา ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกมะไฟกาเป็นไม้ประดับสวนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มะไฟกาบางต้นก็มีรสชาติหวาน และบางต้นมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ต้นมะไฟกาที่มีขนาดใหญ่อาจให้ผลผลิตสูง 800-1,000 กิโลกรัมทีเดียว

มะไฟกา เป็นผลไม้ป่าที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในท้องถิ่นคือ มะไฟกาแดง ส้มไฟป่า ส้มไฟดิน มะไฟเต่า เป็นต้น ในทางพฤกษาศาสตร์ มะไฟกาเป็นไม้ยืนต้นในสกุล Baccaurea ตระกูลเดียวกับจำปูลิ่ง ลำต้นสูงประมาณ 6-10 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาอ่อนปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ บางๆ ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม ข้อต่อระหว่างโคนใบกับก้านใบบวมพอง ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า

ผลแก่มีสีแดง เปลือกหุ้มมีลักษณะเหนียวและหนา เมื่อแกะเปลือกจะเห็นผลแบ่งมี 3 ห้อง แต่ละห้องมี 1 เมล็ด ผลมีรูปร่างกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร (ซม.) เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีเหลืองอ่อน มะไฟกาขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ด้านการใช้ประโยชน์ ชาวบ้านทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันมักนำยอด ใบอ่อน หรือผลอ่อนของมะไฟ ที่มีรสเปรี้ยวใช้กินเป็นผัก เช่น ใส่ในแกงคั่ว แกงเลียง แกงส้ม ทางภาคใต้นิยมกินเป็นผักเหนาะ เรียกกันว่า “ส้มไฟอ่อน”

นอกจากนี้ ยังนิยมนำเปลือกผลสุกที่เป็นสีแดงไปยำกับหนังหมูและกุ้งแห้ง ส่วนชาวบ้านแถบปัตตานีนิยมนำเปลือกของผลมะไฟกามาใส่แกงส้มแทนส้มแขก หรือมะขาม สำหรับผลสุกมักกินเป็นผลไม้สดหรือทำน้ำมะไฟ

มะไฟกานับเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากมีวิตามินซีสูง ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อต่างๆ แข็งแรง รวมทั้งสารโพแทสเซียมที่มีบทบาทในการควบคุมการเต้นของหัวใจและควบคุมความดันโลหิต รวมทั้งสารแมกนีเซียมที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และมะไฟยังมีแคลเซียมและคาร์โบไฮเดรตอีกเล็กน้อย

มะไฟกาเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเสมหะ รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รากแก้พิษตานซาง แก้วัณโรค ฝี ดับพิษร้อนและเริม ลดอาการอักเสบ ในบางท้องถิ่นชาวบ้านนิยมใช้มะไฟกาเป็นพืชสมุนไพรกลางบ้าน โดยนำ “รากต้นมะไฟกา” มาต้มน้ำดื่ม เพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อย หรืออาหารเป็นพิษ ท้องเสีย เป็นต้น

ความจริง ในผืนป่าภาคใต้ของไทยสามารถพบเห็นพืชในสกุลมะไฟอีกหลายชนิด เช่น ละไม ลังแข จำไร มะไฟลี ฯลฯ ในพื้นที่ป่าดิบชื้น ตั้งแต่บริเวณที่ราบเชิงเขา หรือริมลำธาร พื้นค่อนข้างจะลาดชัน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าธรรมชาติในภาคใต้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตหากคนไทยไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ พืชในสกุลมะไฟอาจจะมีโอกาสสูญพันธุ์จากป่าเมืองไทยได้เช่นกัน

ชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า ลูกปุย ตามลักษณะเด่นของผลไม้ชนิดนี้ ที่ด้านในผลมีเนื้อสีขาวฟูๆ ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ ลังแขหรือลูกปุย เป็นผลไม้ป่าเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ของไทยที่เจริญเติบโตในดินร่วนซุยตามภูเขาและป่าพรุ ผลของลูกปุยจะติดเป็นพวง มีลักษณะกลมแบนคล้ายผลกระท้อน แต่ขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้  ลังแขยังมีขนาดของผลใหญ่กว่ามะไฟมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-6 เซนติเมตร

ผลลังแขโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ลังแขมีเปลือกหนา สีส้มหรือสีน้ำตาลแดง มีรสชาติเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อย คนใต้นิยมนำเปลือกลังแขไปปรุงอาหาร ส่วนเนื้อมีรสชาติหวาน นิยมกินเป็นผลไม้ ลังแขจะติดผลให้ได้กินกันปีละครั้ง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี

มองผ่านๆ อาจคิดว่าลังเเขคือกระท้อน เพราะมีสีสันเเละขนาดใกล้เคียงกัน

 

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354