กรมการข้าวรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ 5 พันธุ์

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 2/2562 ได้มีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 81, ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 83 (หนองคาย 62), ข้าวเจ้าพันธุ์ขะสอ 62, ข้าวเจ้าพันธุ์เม็ดฝ้าย 62 และข้าวเจ้าพันธุ์หอมใบเตย 62 โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่น ดังนี้

.คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 81

วัตถุประสงค์

ปรับปรุงพันธ์ข้าวเมล็ดขนาดปานกลาง ให้มีปริมาณอะมิโลส ระหว่าง 15-24 เปอร์เซ็นต์ และมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพองอบกรอบ (Rice crispy)

ประวัติพันธุ์

ฤดูนาปี 2556 นำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์รักษาความเป็นหมัน (B line) IR95760-36-9 ซึ่งคัดเลือกจากประชากรชั่วที่ 4 ของโครงการความร่วมมือพัฒนาข้าวลูกผสม (Hygrid Rice Development Consortium : HRDC) ที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) มาปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติ (pedigree selection) ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในปี 2557 ถึงปี 2558 ตั้งแต่ประชากรชั่วที่ 5 ถึง 8 โดยคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีเมล็ดขนาดปานกลาง คือสายพันธุ์ IR95760-36-9-PTT-1-1-1-1 และสายพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวน 21 สายพันธุ์ ระหว่างฤดูนาปรังถึงฤดูนาปี 2559 ได้นำสายพันธุ์เหล่านั้นปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงที่สำคัญ และวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี ต่อมาในระหว่างฤดูนาปี 2559 ถึงนาปรัง 2560 นำสายพันธุ์ IR95760-36-9-PTT-1-1-1-1 ไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ และศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงที่สำคัญ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี และระหว่างฤดูนาปรัง 2560 ถึงนาปี 2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร ในนาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี กาญจนบุรี นครสวรรค์ และจังหวัดชัยนาท ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงที่สำคัญ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี และในฤดูนาปี 2560 และฤดูนาปรัง 2561 ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน และในปี 2561 ทดสอบคุณสมบัติของวัตถุดิบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพองอบกรอบ

ต้นข้าว กข 81

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีเมล็ดขนาดปานกลาง โดยมีความยาวข้าวกล้อง 5.70 มิลลิเมตร กว้าง 2.60 มิลลิเมตร หนา 1.86 มิลลิเมตร มีอายุเก็บเกี่ยว 106-109 วัน (โดยวิธีปักดำ) ความสูง 111-115 เซนติเมตร ผลผลิตเฉลี่ยในฤดูนาปรัง 917 กิโลกรัม ต่อไร่ และฤดูนาปี 686 กิโลกรัม ต่อไร่ ทรงกอตั้ง ใบสีเขียว ตั้งตรง ใบธงตั้งคอรวงสั้น รวงค่อนข้างแน่น ระแง้ถี่ รวงยาว 26.7 เซนติเมตร จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 275 เมล็ด เมล็ดไม่มีหาง เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว มีท้องไข่น้อย และมีปริมาณอะมิโลสต่ำ 16.45 เปอร์เซ็นต์ แป้งสุกอ่อน อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวสุกนุ่ม และค่อนข้างเหนียว มีระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ 8 สัปดาห์

ลักษณะเด่น

เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ที่มีเมล็ดขนาดปานกลาง มีปริมาณอะมิโลสต่ำ ร้อยละ 16.45 และมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นข้าวพองอบกรอบ

ข้าวกล้อง กข 81
ข้าว กข 81 กับผลิตภัณฑ์แปรรูป

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

พื้นที่แนะนำ

พื้นที่นาชลประทาน ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง

ข้อเสนอแนะ

พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการของผู้ประกอบการที่สามารถเชื่อมโยงผลผลิตไปสู่การแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อทำผลิตภัณฑ์ข้าวพองอบกรอบ และเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกแน่นอน เช่นในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) หรือการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี โทร. (02) 577-1688-9

 

ต้นข้าว กข 83

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 83 (หนองคาย 62)

ประวัติ

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 83 ได้จากการคัดเลือกในประชากรพันธุ์ผสมรวม (Composite population) ของข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำสายพันธุ์ผสมชั่วที่ 3 ของ 3 ประชากรที่มีพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 สายพันธุ์กลาย สุรินทร์ 1 หอมสุโขทัย และข้าวเหนียวดำ เป็นพันธุ์พ่อแม่ โดยพัฒนาประชากรพันธุ์ผสมรวมที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ในพ.ศ. 2553 จากนั้น พ.ศ. 2554-2556 นำไปปลูกคัดเลือกข้าวสายพันธุ์ผสมชั่วที่ 4 ถึง 7 ที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย จนได้สายพันธุ์ SRNComp.10001-B-NKI-B-1-3-1 พ.ศ. 2556 ปลูกศึกษาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย พ.ศ. 2557 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย พ.ศ. 2558-2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ขอนแก่น หนองคาย สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี พ.ศ. 2558-2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนคัดเลือกได้สายพันธุ์ดีเด่น SRNComp.10001-B-NKI-B-1-3-1 คณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์กรมการข้าว มีมติให้เป็นพันธุ์รับรองชื่อ กข 83 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีม่วงดำ ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน ทรงกอตั้ง ความสูงประมาณ 112 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง รวงยาว 28.9 เซนติเมตร ลักษณะรวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 117 เมล็ด น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 26.0 กรัม เปลือกสีดำ ข้าวเปลือกมีความยาวเฉลี่ย 10.58 มิลลิเมตร กว้าง 2.73 มิลลิเมตร หนา 1.98 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีม่วงดำ มีความยาวเฉลี่ย 7.37 มิลลิเมตร กว้าง 2.26 มิลลิเมตร หนา 1.78 มิลลิเมตร จัดเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาว รูปร่างเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 3.26) ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว ร้อยละ 50.8 ปริมาณอะมิโลสต่ำ ร้อยละ 15.3 อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวสวย นุ่ม มีกลิ่นหอม ระยะพักตัวของเมล็ด 8 สัปดาห์

ข้าว กข 83

ลักษณะเด่น

1.เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ ไม่ไวต่อช่วงแสงที่มีผลผลิตค่อนข้างสูง

  1. 2. มีสารต้านอนุมูลอิสระ กรดเฟอรูลิก แกมมาออไรซานอล วิตามินอี ฟินอลิก และฟลาโวนอยด์ และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูง
  2. คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เมื่อหุงสุกข้าวสวย นุ่ม มีกลิ่นหอม
  3. 4. ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง
  4. ต้านทานต่อโรคถอดฝักดาบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พื้นที่แนะนำ

แนะนำให้ปลูกในพื้นที่นาชลประทานและนาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโรคไหม้ระบาด หรือพื้นที่ที่ต้องการข้าวคุณภาพพิเศษ ซึ่งมีตลาดเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ

ผลผลิต

ผลผลิตเฉลี่ย 542 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตสูงสุง 864 กิโลกรัม ต่อไร่

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย โทร. (086) 485-7310

รวงข้าว ขะสอ 62

ข้าวเจ้าพันธุ์ขะสอ 62

ประวัติ

ขะสอ เป็นพันธุ์ข้าวนาที่สูงพันธุ์พื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ (มูเซอ) โดยได้มีการเก็บรวบรวมพันธุ์จากบ้านนามะอึ้น หมู่ที่ 12 ตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ให้รหัสรวบรวมเป็น ขะสอ (SMGC02001) ปี พ.ศ. 2546-2549 นำมาปลูกขยายและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่อำเภอเวียงแห และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2552 เก็บรวบรวมและคัดเลือกรวงพันธุ์ขะสอ (SMGC02001) จากแปลงนาเกษตรกรบ้านนาเกียน ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2553 ปลูกคัดเลือกแบบรวงต่อแถว ได้ข้าวนาที่สูง สายพันธุ์ขะสอ (SMGC02001-NGN-112 ปี พ.ศ. 2554-2560 ได้ปลูกศึกษาพันธุ์ ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ระหว่างสถานี และในนาเกษตรกร พร้อมทั้งศึกษาลักษณะต่างๆ ที่สำคัญ

ลักษณะประจำพันธุ์

  1. 1. เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง วันสุกแก่ (เก็บเกี่ยว) ประมาณวันที่ 4 พฤศจิกายน
  2. 2. ความสูง 148 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง ลำต้นแข็งปานกลาง
  3. ใบสีเขียว ลิ้นใบสีขาว มี 2 ยอด มุมปลายใบตั้งตรง
  4. รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว

ลักษณะทางกายภาพ

  1. เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ยาวxกว้างxหนา = 10.60×3.06×2.21 มิลลิเมตร
  2. 2. เมล็ดข้าวกล้องสีขาว ยาวxกว้างxหนา = 38×2.55×1.98 มิลลิเมตร
  3. คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 41.0 เปอร์เซ็นต์
  4. ปริมาณอะลิโลส 16.82 เปอร์เซ็นต์
  5. อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ลักษณะข้าวสุกขาวนวล เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม
  6. ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 4 สัปดาห์
เมล็ดข้าว ขะสอ 62

ลักษณะเด่น

1.เป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตดี มีศักยภาพให้ผลผลิตสูงสุดถึง 648 กิโลกรัม ต่อไร่ ในสภาพนาที่สูงที่มีความสูง 1,000-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

  1. ค่อนข้างต้านทานต่อโรคใบไหม้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผลผลิต

เฉลี่ยในนาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ 541 กิโลกรัม ต่อไร่ และมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงสุดถึง 648 กิโลกรัม ต่อไร่

การใช้ประโยชน์ ข้าวคือชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ไม่เพียงแต่เพื่อใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ข้าวคือวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่ยึดถือสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น จากพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันอย่างยาวนานตั้งแต่เตรียมแปลง เริ่มปลูกจนกระทั่งขนข้าวเก็บในยุ้งฉาง ข้าวขะสอ จัดเป็นข้าวเจ้าใช้เพื่อการบริโภค หากแต่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ยึดถือสืบต่อกันมาของกลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอ ที่ต้องแบ่งข้าวเพื่อนำมาแปรรูปทำเครื่องดื่มที่ชื่อว่า “ชิวา” (เหล้าขาว) เพื่อใช้ในพิธีกรรมตลอดจนเพื่อดื่มในประเพณี หรือโอกาสต่างๆ ที่มีขบวนการในการทำที่แตกต่าง โดยทั่วไปจะนิยมใช้ข้าวเหนียวในการทำ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอจะใข้ข้าวเจ้าในการทำ “ชิวา” โดยใช้วิธีการหมัก และต้มกลั่นในหม้อดินที่มีลักษณะเฉพาะ ได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง โทร. (053)  378-093-4

 

ข้าวเมล็ดฝ้าย

ข้าวเจ้าพันธุ์เม็ดฝ้าย 62

ประวัติพันธุ์

ได้จากการรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองในพื้นที่บ้านทุ่งควาย ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 นำมาปลูกศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์

ลักษณะประจำพันธุ์

– เป็นพันธุ์ข้าวไร่ ข้าวเจ้าพื้นเมือง สูงประมาณ 150 เซนติเมตร

– ไวต่อช่วงแสง

– อายุเก็บเกี่ยว ถ้าปลูกต้นเดือนมิถุนายน เกี่ยวปลายเดือนตุลาคม (อายุประมาณ 140-150 วัน)

– ข้าวเปลือกสีฟาง

– ข้าวกล้องสีม่วงดำ

– ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 4 สัปดาห์

– ปริมาณอะมิโลส 20.9%

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 10.3×2.93×1.97 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา =7.32×2.41×1.74 มิลลิเมตร

– คุณภาพข้าวสุก (ข้าวกล้อง) ไม่มีกลิ่นหอม ผิวมันเล็กน้อย ค่อนข้างเหนียวนุ่ม

ลักษณะเด่น

เป็นข้าวไร่ เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

ผลผลิต

ประมาณ 411 กิโลกรัม ต่อไร่

นิทรรศการข้าวเมล็ดฝ้าย

พื้นที่แนะนำ

ปลูกในสภาพไร่ทั่วไป ปลูกเป็นพืชแซมยาง และปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ อายุ 1-3 ปี ในภาคใต้

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้ และอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช โทร. (075) 399-012

ข้าวหอมใบเตย

ข้าวเจ้าพันธุ์หอมใบเตย 62

ประวัติ

หอมใบเตย เป็นข้าวนาน้ำฝนพันธุ์ดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เรียกชื่อข้าวพันธุ์นี้ว่า C85 มาตั้งแต่ก่อนปี 2534 จนถึงปัจจุบัน และจากการที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตค่อนข้างดี คุณภาพการสี และคุณภาพเมล็ดดีมาก เมื่อหุงสุกได้ข้าวสวย นุ่ม รสชาติอร่อยและมีกลิ่นหอม จึงมีการนำไปปลูกขยายและกระจายไปในหลายพื้นที่ที่มีการส่งต่อเมล็ดพันธุ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบัน ข้าวพันธุ์นี้ยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ประกอบการโรงสีหลายรายที่เห็นถึงคุณค่า ได้นำข้าวพันธุ์นี้ไปผลิตเพื่อการค้าและจัดจำหน่ายในท้องตลาด โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้จักกันในรูปข้าวสารบรรจุถุงที่ใช้ชื่อว่า “หอมใบเตย” นั่นเอง

ลักษณะประจำพันธุ์

หอมใบเตย 62 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง อายุเบา เก็บเกี่ยวประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ลำต้นและใบมีสีเขียว ใบกว้าง ต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย รวงใหญ่ ความสูงเฉลี่ย 166 เซนติเมตร น้ำหนักข้าวเปลือก 11.4 กิโลกรัม ต่อถัง ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 35.0 กรัม เปลือกเมล็ดสีฟาง รูปร่างเรียว เมล็ดข้าวกล้อง ยาว 8.23 มิลลิเมตร ท้องไข่น้อย ระยะพักตัว 8 สัปดาห์

ลักษณะเด่น

ให้ผลผลิตเฉลี่ย 578 กิโลกรัม ต่อไร่ สูงกว่าขาวดอกมะลิ 105 (466 กิโลกรัม ต่อไร่) ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์

วันเก็บเกี่ยวไม่ตรงกับ ขาวดอกมะลิ 105 เนื่องจากออกดอกเร็วกว่าประมาณ 10 วัน

เป็นข้าวที่มีปริมาณอะมิโลสต่ำ 15.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหุงสุกแล้วได้ข้าวสวย นุ่ม และมีกลิ่นหอม

คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 55.1 เปอร์เซ็นต์ สามารถทำเป็นข้าวสาร 100 ชั้น 1 ได้

พื้นที่แนะนำ

เหมาะสำหรับพื้นที่นาน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ที่ต้องการปลูกข้าวอายุเบา คุณภาพดี เพื่อการบริโภค

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมถึงอ่อนแอต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท โทร. (056) 019-771