ปลูกเมล่อนลงดิน อย่างไรให้หวาน เทคนิคง่ายนิดเดียว อยู่ที่การให้น้ำ

คุณประเสริฐ บางแดง เจ้าของสวนเมล่อน “น้ำเพชรฟาร์มเมล่อน” อยู่บ้านเลขที่ 3/3 หมู่ที่ 7 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 641-5176, (061) 469-8262

เมล็ดพันธุ์เมล่อน

คุณประเสริฐ บางแดง เล่าว่า ตอนนี้ปลูกเมล่อนอยู่ 2-3 สายพันธุ์หลักๆ แต่จะเน้นสายพันธุ์ที่ปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ในบ้านเราแล้ว เพราะจะมีการปรับตัวและความแข็งแรงดีกว่าสายพันธุ์เมล่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยตรง ส่วนราคาเฉลี่ยแล้วจะตกเมล็ดละ 4-5 บาท (แล้วแต่สายพันธุ์) ยกตัวอย่าง พันธุ์ “กรีนเน็ต 99” เนื้อเขียว เนื้อนุ่มหอมหวาน ผิวมีตาข่ายเส้นเล็ก มีลักษณะทนโรคและปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 65-70 วัน เท่านั้น เหมาะสำหรับมือใหม่ ตลาดยอมรับทั่วไป อีกพันธุ์ คือ “กาเลีย” ผิวผลสีเหลือง เนื้อเขียว หอมหวาน โดยจะเน้นปลูกเมล่อนสายพันธุ์การค้าทั่วไปและเป็นพันธุ์ที่ได้ปรับปรุงพันธุ์ในบ้านเราแล้ว

คุณประเสริฐ บางแดง กับสวนเมล่อนที่ทำรายได้ให้กับครอบครัว

การเพาะกล้าเมล่อน

เหมือนการเริ่มต้นที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง การเพาะเตรียมกล้าเมล่อนก็เช่นกัน โดย คุณประเสริฐ อธิบายว่า ตนเองมักจะแช่เมล็ดเมล่อนด้วยน้ำอุ่น ราว 4 ชั่วโมง ในช่วงเวลาเช้า ช่วงเวลาบ่ายก็จะเอาขึ้นจากน้ำที่แช่ มาบ่มในผ้าสะอาดหมาดน้ำ (หรือวางบนกระดาษทิชชู) ใส่ในกล่องพลาสติก กล่องโฟม หรือกระติกน้ำปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้รากเมล่อนแทงออกมาจากเมล็ดเล็กน้อย เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะนำเมล็ดไปเพาะต่อในดินมีเดีย (พีทมอสส์) หรือวัสดุเพาะสำเร็จซึ่งเป็นวัสดุปลูกสูตรสำเร็จ เหมาะสำหรับต้นกล้าทุกชนิด อุ้มน้ำได้ดีแต่ไม่แฉะ ช่วยรักษาระดับความชื้นให้ต้นกล้า (pH เป็นกลาง) สะอาด ปราศจากเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุโรคพืช ปราศจากวัชพืช

หลังจากนำดินใส่ถาดเพาะแล้ว รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นก่อน 1 รอบ แนะนำให้ใช้ฟ็อกกี้สเปรย์รดน้ำต้นไม้หรือว่าฟ็อกกี้ฉีดน้ำรีดผ้าก็ได้ เพื่อไม่ให้น้ำแรงจนทำให้ดินเพาะหลุดออกจากถาดเพาะ จากนั้นใช้ไม้จิ้มทำหลุมที่กลางหลุมเพาะลึกลงไป ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เวลาเราหยอดเมล็ด เมล็ดจะได้อยู่ตรงกลาง ต้องระวังไม่ให้รากอ่อนเสียหาย และกลบด้วยดินมีเดียบางๆ พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่มชื้น หลังจากนั้น นำถาดเพาะกล้าไปเก็บในที่ที่มีแสงแดด หรือเก็บที่โรงเรือนเพาะที่ได้รับแสงแดดเต็มที่

การมัดต้นเมล่อนขึ้นเชือก ต้องใช้ความประณีตเพื่อไม่ให้ต้นเสียหาย

ต้นกล้าเมล่อนอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ซึ่งมักจะอยู่ในระยะ 10-15 วัน ต้องรดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดทุกวัน แต่ที่สวนของตนเองจะย้ายกล้าเร็ว คือ ประมาณ 8-10 วัน คือต้นกล้างอกขึ้นมา มีใบเลี้ยง 2 ใบ และมีใบจริง 1 ใบ ก็จะย้ายกล้าปลูกลงแปลงเลย เพราะคิดว่าอยากให้กล้าเมล่อนมันไปเจริญเติบโตต่อในแปลงจะดีกว่าที่โตในถาดเพาะ เนื่องจากสังเกตว่าเมื่อย้ายปลูกเร็ว ต้นกล้ามีการปรับตัว ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้าคือ ช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน ความกว้างของหลุมปลูก ควรมีขนาดพอๆ กับหลุมถาดเพาะกล้า กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว หลังจากนั้น ก็จะให้น้ำทุกๆ วัน วันละ 1-3 เวลาตามความเหมาะสมและสภาพอากาศ

 

ระยะปลูกของเมล่อน

คุณประเสริฐ อธิบายว่า อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูการปลูก ยกตัวอย่าง

ช่วงหน้าร้อน ก็ปลูกระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร

ส่วนหน้าหนาว ก็ต้องปลูกระยะให้ห่างมาเล็กน้อย ก็ปลูกระยะระหว่างต้น 35 เซนติเมตร เพื่อให้แสงแดดส่องถึง อากาศหรือลมถ่ายเทได้เร็ว ไม่ให้สภาพแวดล้อมมันเย็นจนเกินไป

ถ้าเราปลูกถี่อากาศไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสะสมสูง ก็จะมาสู่เรื่องของโรคเชื้อราตามมา หลังย้ายกล้าปลูกลงแปลงได้ 2 วัน ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ ซึ่งอัตราที่ให้ คุณประเสริฐ อธิบายการให้ปุ๋ยว่า เราจะคิดคำนวณแบบง่ายๆ คือ 1 ต้น จะต้องได้ปุ๋ยประมาณ 1 กรัม  ถ้าเมล่อนใน 1 โรงเรือน เรามีต้นเมล่อน จำนวน 600 ต้น ตนเองก็จะผสมปุ๋ยเกล็ด คือ ปุ๋ยสูตร 30-20-10 ที่จะใช้ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต เพราะมีไนโตรเจน (N) สูง โดยจะชั่งปุ๋ยเกล็ดมา 600 กรัม (6 ขีด) นำมาผสมน้ำสัก 40 ลิตร (น้ำใช้กี่ลิตรก็ได้) ผสมกวนให้ปุ๋ยเกล็ดละลาย แล้วปล่อยไปพร้อมระบบน้ำได้เลย การให้ปุ๋ยผ่านน้ำที่สวนเน้นการให้น้อยแต่บ่อยครั้ง

มัดต้นเมล่อนขึ้นเชือกให้ต้นตั้งตรง

ดังนั้น การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำจะให้แบบวันเว้นวัน โดยจะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 ที่จะมีสูตรตัวหน้าหรือไนโตเจน (N) สูง เพื่อเน้นการเจริญเติบโตของใบกับยอด ให้ประมาณ 5 ครั้ง การให้ปุ๋ยจะให้แบบวันเว้นวัน ก็จะใช้ระยะเวลา 10 วัน สำหรับการใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 จากนั้นก็จะต้องปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ดให้เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของเมล่อน โดยจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ คือ สูตร 20-20-20 มาผสมร่วมในอัตราผสม 1 ต่อ 1 ส่วน

วิธีการใช้ จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ผสมกับปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ให้ผ่านระบบน้ำแบบวันเว้นวันเหมือนเดิม จะใช้สูตรนี้ไปจนกว่าเมล่อนจะติดเป็นผลอ่อน (ผลโตเท่าไข่ไก่) หรือราวๆ 35-40 วัน หลังปลูก ก็จะมาปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ด โดยยังคงใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 ยืนพื้นอยู่ แต่จะใช้ปุ๋ยเกล็ดที่มีสูตรตัวท้ายสูง คือ โพแทสเซียม (K) เพื่อช่วยเรื่องของการสร้างเนื้อและเรื่องของความหวาน คือ สูตร 10-20-30 มาผสมร่วม ในอัตราผสม 1 ต่อ 1 ส่วน

วิธีการใช้ จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ผสมกับ ปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-20-30  จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ปล่อยเข้าระบบน้ำแบบวันเว้นวันจนเกือบจะเก็บเกี่ยว

 

การฉีดพ่นทางใบ

จะกำหนดคร่าวๆ คือ ฉีดป้องกันกำจัดโรคและแมลง และปุ๋ยฮอร์โมนต่างๆ จะฉีดทุกๆ 5-10 วัน (พิจารณาตามความเหมาะสมและการระบาด) โดยจะใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ โพรพิเนบ เป็นต้น จริงๆ สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงนั้น ครั้งแรกก่อนการปลูกเราจะฉีดโรงเรือนคล้ายๆ การอบหรือรมควัน การฉีดก็จะพ่นให้ทั่วจากด้านหลังโรงเรือนมาหาด้านหน้าแล้วเดินออก ปิดโรงเรือนอบทิ้งไว้ก่อนการปลูก เพื่อฆ่าหรือป้องกันแมลงศัตรูต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงเรือน วิธีนี้ช่วยได้มากทีเดียว ส่วนยาฉีดป้องกันกำจัดแมลงก็จะเน้นกลุ่มเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาวที่เป็นศัตรูสำคัญของการปลูกเมล่อน ส่วนฮอร์โมนก็จะเน้นกลุ่มแคลเซียม-โบรอน โดยประมาณ 15 วัน หลังปลูกก็จะใช้ฉีดร่วมทุกครั้ง ปุ๋ยเคมีทางใบก็จะใช้สูตรเดียวกับที่ใช้ทางดิน เพื่อให้สอดคล้องกันตามระยะการเจริญเติบโต

 

ตัดแต่งเด็ดแขนงออกเป็นประจำ

หลังปลูกได้ประมาณ 8-10 วัน ต้นเมล่อนเริ่มจะมีแตกแขนงข้างเล็กๆ ออกมา แขนงมีขนาดเล็ก (เท่าหัวไม้ขีด) ก็จะเด็ดออกก่อน ไม่ปล่อยให้ยาวมากถึงค่อยเด็ดออก เพราะถ้าเราสามารถเด็ดออกได้เร็ว ต้นก็จะโตทางยอดได้เร็ว แผลที่เกิดก็จะมีขนาดเล็กตาม เชื้อราก็เข้าไปทำลายได้น้อยลงตาม แต่แนะนำว่าควรเด็ดแขนงในช่วงเวลาเช้าถึงเวลาเที่ยงจะดีที่สุด
อายุต้นได้ประมาณ 15 วัน ก็จะต้องเริ่มมัดต้นให้ต้นตั้งตรงเลื้อยขึ้นเชือก คุณประเสริฐ อธิบายว่าการมัดต้นถ้าทำได้เร็วต้นจะตรง เถาไม่บิดงอ แต่ถ้าจับต้นมัดช้า ต้นงอ เมื่อดึงต้นมัดขั้นเชือก ยอดหรือต้นอาจจะหักเสียหายได้ง่าย ขั้นตอนนี้ควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง ประณีตเป็นพิเศษ ส่วนการเลือกใช้เชือกสำหรับการผูกต้นเมล่อน เชือกที่เลือกใช้จะเป็นเชือกที่เขาเอาไว้ใช้สานเสื่อ โดยสังเกตว่ามีความทนทาน ใช้ได้นานมาก ราคาถูก ไม่ดูดซับน้ำที่อาจจะมีปัญหาหรือเป็นแหล่งสะสมโรคเชื้อราต่างๆ ได้ ถ้าใช้เชือกสีขาวที่นิยมใช้กันอยู่ตามสวนเมล่อนต่างๆ

ต้นเมล่อน ควรจะต้องมีใบ 25-30 ใบ เพื่อให้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงผลให้ได้คุณภาพ

หลังจากที่เด็ดแขนงข้างออกในทุกๆ เมื่อต้นเมล่อนมีใบหรือช่วงข้อหรือใบที่ 8-12 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ติดผลและเลี้ยงผลได้มีคุณภาพที่สุด (จริงๆ จะปล่อยให้มีแขนงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ใบที่ 8 ขึ้นไป จนกว่าจะผสมดอกติดผลอ่อนจนพอใจ ว่าต้นเมล่อนติดผลแน่นอน) เราจะเริ่มปล่อยไว้แขนง ไม่เด็ดออกเพื่อปล่อยให้แขนงออกดอกตัวเมียเพื่อผสมเกสร ช่วยให้ (ดอกตัวเมียจะเกิดที่ส่วนของแขนง ส่วนดอกตัวผู้จะออกที่ซอกใบของลำต้นหลัก)

จากที่สังเกตต้นเมล่อนหลังปลูกแล้ว หลังมีการปล่อยไว้แขนงเพื่อให้เกิดดอกตัวเมียที่กิ่งแขนง ราวๆ 28-30 วัน หลังปลูกดอกตัวเมียจะเริ่มบาน ส่วนดอกตัวผู้จะออกมาตลอดทุกๆ ข้อ ตามลำต้น ตั้งแต่ 20 วันหลังปลูก เมื่อสังเกตว่าดอกตัวเมียเริ่มบาน ก็จะต้องมาช่วยผสมเกสรทุกๆ เช้า ช่วงเวลาประมาณ 07.00-11.00 น. ของทุกๆ วัน เนื่องจากดอกตัวเมียจะบานในช่วงเวลาเช้า วิธีการผสมก็จะนำละอองเกสรตัวผู้มาแต้มบนเกสรตัวเมีย

เมื่อคัดเลือกผลเสร็จ ใบมีจำนวนที่ต้องการ ต้องตัดปลายยอดทิ้งไป

ซึ่งคุณประเสริฐ เล่าว่า ตนเองถนัดที่จะใช้ดอกต่อดอกเลย คือเด็ดดอกตัวผู้ที่สวย ดูสมบูรณ์ มาใช้มือฉีกเด็ดกลีบดอกตัวผู้ทิ้งไปให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการผสม จากนั้นก็จะนำเกสรไปแต้มให้ทั่ว เขี่ยวนไปสัก 2-3 รอบ ส่วนคุณพ่อจะถนัดในการใช้พู่กันขนาดเล็กในการช่วยผสมเกสร วิธีการเหมือนเดิมคือเลือกดอกตัวผู้ เด็ดกลีบดอกออกให้หมด ใช้พู่กันเขี่ยละอองเกสรตัวผู้อย่างเบามือ ซึ่งคุณพ่อจะใช้ดอกตัวผู้ 2 ดอก ต่อการผสมดอกตัวเมีย 1 ดอก เพื่อความมั่นใจให้ติดผลดี

หลังจากที่ผสมเกสรเสร็จ ผู้ผสมเกสรก็จะใช้กรรไกรตัดปลายยอดของแขนงที่ผสมทิ้งไป ให้เหลือใบติดที่แขนงนั้นเพียง 2 ใบ เท่านั้นแล้ว เพื่อเป็นการทำสัญลักษณ์ว่าเราได้ผสมเกสรไปแล้ว ไม่เสียเวลาที่มาผสมซ้ำอีก อีกอย่างการตัดปลายยอดแขนงก็ทำให้ต้นส่งอาหารไปเลี้ยงที่ผลได้ดี เนื่องจากการผสมเกสรจะต้องทำทุกๆ วัน เดินผสมทุกๆ ต้น ในแต่ละวัน ต้องเดินผสมต้นที่หนึ่งจนถึงต้นสุดท้ายทุกๆ วัน ไล่ผสมขึ้นไป จะใช้เวลาผสมเกสรทั้งโรงเรือน ประมาณ 3-5 วัน เมื่อผสมเสร็จ 1-2 วัน ดอกตัวเมียที่ได้รับการผสมที่ดีก็จะกลายเป็นผลอ่อนขนาดเล็ก ใน 1 ต้น อาจจะมี 3-5 ผลอ่อน ที่เรามองแล้วว่ามีการติดผลแน่นอน เราก็จะเริ่มแต่งแขนงที่ไม่ต้องการออกในรอบแรก

เมื่อผลเมล่อนมีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นมือ ก็สามารถนำมาเขียนข้อความหรือรูปภาพได้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีไว้บริการลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้

เมื่อต้นเมล่อนติดผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ ให้ตัดสินใจเลือกไว้แค่ผลเดียว ที่ทรงผลสวยสุด ลักษณะผลรียาว ผิวสวย จากนั้นต้องเร่งแต่งแขนงผลที่ไม่ต้องการทิ้ง หรือนำผลอ่อนไปขายให้หมด เพื่อให้อาหารส่งมายังผลที่เราเลือกเอาไว้ ราวๆ 35 วัน หลังปลูกก็จะเป็นการแขวนผล การแขวนผลจะใช้เชือกฟาง เพราะมีความอ่อนนุ่ม ไม่บาดขั้วผล มีราคาถูก ส่วนการแขวนผลนั้นจะช่วยให้ต้นไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เพราะเถาเมล่อนอยู่ได้แค่เชือกเส้นเดียว หลังแขวนผลแล้ว เมื่อใบเมล่อนมีประมาณ 25-30 ใบ (นับจากใบล่างสุดขึ้นไป) หรือราวๆ 40 วัน ก็จะต้องตัดปลายยอดทิ้ง เพื่อให้อาหารถูกส่งมาเลี้ยงที่ผลเพียงอย่างเดียว เหลือเวลาอีก 20-25 วัน โดยประมาณ ก็จะเป็นการเฝ้าดูแลเรื่องน้ำ ปุ๋ย ฮอร์โมน อาหารเสริม รวมถึงสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความเหมาะสม ที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องของโรคเชื้อรา ที่มักจะสร้างความเสียหายอย่างรวดเร็วกับผู้ปลูกเมล่อน

 

การใช้ปุ๋ยทางใบ

จะเริ่มใช้แบบเป็นระยะในช่วงของการติดผลอ่อนเป็นต้นไป จะใช้ปุ๋ยเกล็ดดังที่อธิบายไปบางส่วนในตอนต้น อย่างปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 ซึ่งเป็นปุ๋ยเกล็ดที่สามารถฉีดพ่นทางใบได้ และนำมาละลายน้ำปล่อยเข้าระบบน้ำ ปุ๋ยสูตรนี้นอกจากจะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตทางลำต้น ยอด และใบ (ซึ่งจะปล่อยปุ๋ยสูตรนี้มาทางระบบน้ำและฉีดพ่นให้เป็นระยะ) ปุ๋ยสูตรนี้ยังช่วยในเรื่องของการขยายขนาดผล เราจะฉีดให้ทุกๆ 4 วันครั้ง แล้วเมล่อนอายุได้ราว 50 วัน ไปแล้ว ก็จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-20-30 สูตรที่มีตัวท้ายหรือโพแทสเซียม (K) สูง เพื่อช่วยเรื่องของความหวาน

ตัดใบล่างออกบ้าง เพื่อให้อากาศได้ถ่ายเท ช่วยลดความชื้น

เรื่องของความหวาน ที่สวนจะเน้นก่อนการเก็บเกี่ยวช่วงสัปดาห์สุดท้าย โดยใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ปล่อยให้ไปกับระบบน้ำ ให้ปุ๋ยแบบวันเว้นวัน สัก 3 ครั้ง

ส่วนการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นสวนอื่นที่ปลูกในถุงที่อาจจะมีความชื้นสะสมในถุงมากพอ อีกทางหนึ่งที่เป็นการช่วยเพิ่มความหวานให้กับผลเมล่อน คือ การงดน้ำ 5-7 วัน ก่อนการตัดผลจำหน่าย คุณประเสริฐ เน้นย้ำว่า เนื่องจากที่สวนตนเองปลูกเมล่อนบนดิน การงดไม่ให้น้ำเลยนั้นไม่สามารถทำได้ ถ้างดเลยก็ทำให้ดินแห้งอย่างรวดเร็ว แล้วส่งผลให้ต้นเมล่อนขาดน้ำตายเสียก่อน ดังนั้น วิธีที่ใช้อยู่และได้ผลดีสำหรับสวนตนเองนั้นคือ ค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำ ได้กินน้ำน้อยลงแต่ต้องไม่งดน้ำ ความหวานเมล่อนที่สวนตอนนี้ก็ถือว่าน่าพอใจ ราวๆ 15-18 องศาบริกซ์