ถั่วเขียวหลังนา ยังทำเงิน ที่ชัยนาท

ต้นถั่วเขียว

ยามวิกฤตทางเศรษฐกิจ เกษตรกรทำนาอย่างเดียวแทบกระอักเลือด แต่มีเกษตรกรบางส่วนที่ปลูกถั่วเขียวหลังนา เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะแห้งแล้ง ได้รับผลดีอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้รับเงินจากการจำหน่ายถั่วเขียวหลังนาเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพ รอรับเงินจากการจำนำข้าว

ในการนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียวเป็นพืชไร่ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกจำนวน 6,496 ไร่ เกษตรกรจำนวน 285 ครัวเรือน

พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองมะโมง จำนวน 4,195 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.58 รองลงมาคือ อำเภอวัดสิงห์ พื้นที่ 2,280 ไร่ คือเป็นร้อยละ 35.10 และพื้นที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่อำเภอหันคา คือร้อยละ 0.32 

จากคุณสมบัติเด่นของถั่วเขียวคือ เพาะปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวเร็ว ประมาณ 65-70 วัน มีลักษณะเป็นพืชรองจากพืชหลัก การปฏิบัติดูแลรักษาง่าย ทำให้เกษตรกรมีความต้องการสนใจปลูกถั่วเขียวเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

คุณสวอง สระเสริม เกษตรกร บรรยายการปลูกถั่วเขียวให้สื่อทีวี เพื่อเผยแพร่ผลงานของกลุ่ม
คุณสวอง สระเสริม เกษตรกร บรรยายการปลูกถั่วเขียวให้สื่อทีวี เพื่อเผยแพร่ผลงานของกลุ่ม

คุณสวอง สระเสริม เกษตรกรคนเก่งของอำเภอหนองมะโมง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสะพานหิน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โทร. (090) 424-8562 กล่าวว่า อำเภอหนองมะโมงไม่มีระบบน้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โดยสำนักงานเกษตรอำเภอหนองมะโมง ซึ่งมี คุณเทวี ดีอ่วม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชไร่อายุสั้นหลังทำนา เช่น ส่งเสริมให้ปลูกถั่วเขียวผิวมัน เกษตรกรได้นำความรู้มาใช้ปลูกถั่วเขียว ประมาณ 4,000 ไร่ เพราะเคยทำนาปรังแต่ได้ผลผลิตต่ำ 

ดังนั้น หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว เกษตรกรก็จะไถเตรียมดินด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน แล้วพรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ คราดเก็บเศษซาก รากเหง้า หัว ไหล ของวัชพืชออกจากแปลง แล้วหว่านถั่วเขียวในเดือนพฤศจิกายน ไร่ละ 5-7 กิโลกรัม คลุกกับเชื้อไรโซเบียม 200 กรัม

จากนั้นพรวนดินกลบทันที อาศัยเพียงความชื้นที่เหลืออยู่ในดิน ก็เพียงพอให้ถั่วเขียวเจริญเติบโตได้ 

การใส่ปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยแบบหว่านพร้อมกับการเตรียมดิน 

การป้องกันกำจัดวัชพืชมีความสำคัญเช่นกัน จะฉีดพ่นสารเคมีคุมวัชพืชหลังปลูกทันที และกำจัดวัชพืชครั้งต่อไปเมื่อถั่วเขียวมีอายุ 14 และ 28 วัน

ลงแขกเก็บถั่วเขียว
ลงแขกเก็บถั่วเขียว

การเก็บเกี่ยว สมาชิกจะร่วมลงแขกเก็บฝักถั่ว โดยใช้มือปลิดฝักแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำ ถั่วเขียวผิวมันเป็นพืชที่มีการสุกแก่ของฝักไม่พร้อมกัน

โดยเก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อถั่วเขียวมีฝักสุกแก่ 80 เปอร์เซ็นต์ และครั้งที่ 2 หลังจากเก็บเกี่ยวครั้งแรก 14 วัน

หลังจากนั้น จะนำฝักถั่วเขียวไปผึ่งแดด เพื่อให้ความชื้นฝักและเมล็ดลดลง เหลือ 11-13 เปอร์เซ็นต์ ก่อนนำฝักถั่วเขียวเข้าเครื่องกะเทาะฝัก ที่มีความเร็วรอบ 550 รอบ/นาที บรรจุกระสอบจำหน่ายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อในหมู่บ้าน 

รวมกองถั่วเขียวหลังจากลดความชื้นดีแล้วเพื่อนวด
รวมกองถั่วเขียวหลังจากลดความชื้นดีแล้วเพื่อนวด

แต่ถ้าจะเก็บไว้ทำพันธุ์ จะนำเมล็ดที่นวดได้ทำความสะอาดด้วยวิธีร่อนและฝัด แล้วนำไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ แล้วบรรจุเมล็ดในกระสอบป่านที่สะอาด นำไปเก็บรักษาในโรงเก็บที่สะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ เข้ารบกวน หาวัสดุรองกระสอบป่าน เช่น ไม้ไผ่ หรือแคร่ 

ในปีการเพาะปลูก ปี 2556/2557 ถั่วเขียวจะให้ผลผลิตกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม ไร่ละ 120 กิโลกรัม ลงทุนไร่ละ 1,500 บาท แต่ได้กำไรถึงไร่ละ 2,000 บาท

สำหรับโรคและแมลงนั้นไม่ค่อยพบ เพราะจะใช้การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ และสารสมุนไพร แต่ถ้าพบระบาดรุนแรงจึงจะใช้สารเคมี เช่น หนอนแมลงวันเจาะลำต้น พ่นไตรอะโซฟอส หลังจากงอก 7-10 วัน และพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และเพลี้ยไฟ พ่นคาร์โบซัลแฟนเมื่อพบเพลี้ยไฟทำลายใบ ดอก ฝักอ่อน ควรพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน 

คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมว่า ถั่วเขียวเป็นพืชตระกูลที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชบำรุงดินและขายเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร แต่ปัญหาที่พบไม่ใช่การผลิต แต่พบปัญหาขาดเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวคุณภาพดี เป็นปัญหาที่เกษตรกรพบเป็นประจำ

เนื่องจากขาดแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ดี เกษตรกรจึงหาเมล็ดพันธุ์จากแหล่งอื่นๆ ที่ขาดความน่าเชื่อถือ เช่น จากการรวบรวมของพ่อค้าในแต่ละท้องถิ่นเอง เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากแหล่งของเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ต่ำ โรคและแมลงที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ ราคาสูง

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เกษตรกรควรจัดทำแปลงพันธุ์และเก็บรักษาพันธุ์เอง โดยเก็บเกี่ยวทันที เมื่อเมล็ดแก่เต็มที่อย่าล่าช้า ทำความสะอาด และคัดเลือกเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ เมล็ดแตกหัก หรือมีโรคแมลงทำลายออก โดยการคัดด้วยมือ ฝัด ร่อน หรือการใช้เครื่องจักรกล ตากแดดเพื่อลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์พืชให้แห้ง หรือมีความชื้นน้อยที่สุด  

นอกจากนี้ ควรทดสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ก่อนนำเข้าเก็บรักษาทุกครั้ง หากเมล็ดมีความงอกต่ำ หรือต้นกล้าไม่แข็งแรง ไม่ควรเก็บรักษา

ซึ่งการทดสอบความงอกทำได้ง่ายๆ โดยนำเมล็ดพันธุ์บางส่วนไปเพาะในดินหรือทรายที่บรรจุในกระบะ ถาด กะละมัง กระป๋อง กระถาง หรือในแปลงเพาะเล็กๆ ตามความสะดวก เมื่อเพาะได้ 5-10 วัน ก็นับดูว่าเมล็ดพันธุ์งอกดีหรือไม่

ถ้าเมล็ดมีความงอกสูง งอกเร็ว และต้นกล้ามีความสมบูรณ์ดี ก็แสดงว่าเมล็ดพันธุ์ส่วนที่เหลือใช้ทำพันธุ์ได้ 

1406543385

ทั้งนี้ ควรบรรจุเมล็ดพันธุ์ไว้ในกระสอบผ้า กระสอบป่าน หรือถุงพลาสติกสาน แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุในภาชนะเหล่านี้ไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนชื้นหรืออบอ้าว และหมั่นนำออกตากแดดบ่อยๆ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห้งอยู่เสมอ และควรนำออกผึ่งแดดเป็นครั้งคราว เพื่อความปลอดภัยควรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่มีอากาศเย็นหรือมีการระบายอากาศดี

“ที่สำคัญอย่าวางเมล็ดบนพื้นดิน หรือพื้นซีเมนต์ ควรวางเมล็ดพันธุ์บนแคร่ หรือยกพื้นห่างจากดิน หรือซีเมนต์อย่างน้อย 15 เซนติเมตร ไม่ควรวางเมล็ดพันธุ์ไว้ใกล้กับปุ๋ยหรือยาเคมี และอย่าเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่ชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ” เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวในที่สุด