ปลูกฝรั่งในโรงเรือน ที่ลำปาง

ฝรั่ง ผลไม้พื้นบ้านที่รู้จักกันมาช้านาน ฝรั่งเป็นไม้ผลเมืองร้อนขนาดกลาง เจริญเติบโตได้ทุกพื้นที่ พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีการทำสวนฝรั่งกันมาก แต่การปลูกฝรั่งในโรงเรือนเป็นเรื่องฉีกแนวจากการทำการเกษตรกรรมทั่วไปและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะทำกัน เพราะฝรั่งไม่ใช่พืชที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเหมือนกับพืชบางชนิดที่นิยมปลูกกันในโรงเรือน ในไต้หวันแหล่งผลิตฝรั่งพันธุ์ดีก็ไม่ได้ปลูกฝรั่งในโรงเรือน ไม้ผลที่มีปลูกในโรงเรือนตามที่เราเคยทราบกันคือ การปลูกมะม่วงในโรงเรือนของญี่ปุ่น เนื่องจากต้องการควบคุมอุณหภูมิ ส่วนฝรั่งไม่มีความจำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน มีเหตุผลอะไรจึงต้องมาปลูกฝรั่งในโรงเรือนที่ประเทศไทยด้วย เป็นการคิดสวนทาง ทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ทำกัน ชาวสวนฝรั่งได้ยินคงหัวร่อกันท้องคัดท้องแข็งกับเรื่องตลกแบบนี้ บอกว่าเป็นบ้ากันไปแล้วก็ได้

คุณปิยะ วงศ์จันทร์

การปลูกฝรั่งในโรงเรือน ชาวสวนฝรั่งในบ้านเราเขาไม่ทำกัน และจะต้องใช้เงินทุนสูง เสียเงินไปเปล่าๆ ไม่คุ้มกันแน่นอน ฝรั่งไม่ใช่พืชที่ทำเงินให้มากมายจนต้องสร้างโรงเรือนไว้ปลูก

เรื่องการปลูกฝรั่งในโรงเรือนนี้มีความเป็นมาอย่างไร ต้องสอบถาม คุณปิยะ วงศ์จันทร์ แห่งเซฟตี้ ฟาร์ม (Safety Farm) จังหวัดลำปาง คิดอย่างไร จึงหันมาสนใจการปลูกฝรั่งในโรงเรือน คุณปิยะให้เหตุผลว่า ต้องการผลิตฝรั่งดีมีคุณภาพที่ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงเลย ซึ่งจะต่างจากการปลูกฝรั่งปลอดสารพิษ ที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะเว้นช่วงการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลผลิตที่ได้ยังมีสารเคมีตกค้าง แต่ไม่เกินในปริมาณที่กำหนด ส่วนการปลูกฝรั่งในโรงเรือนนั้น ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลง แต่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและฮอร์โมน

ดูแลง่าย

การเลือกปลูกฝรั่งในโรงเรือน ก็เพราะฝรั่งเป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตได้ตลอดปี ฝรั่งยังเป็นผลไม้ที่ไม่บอบช้ำง่ายระหว่างการขนส่ง ฝรั่งเป็นผลไม้ที่รับประทานได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อง่าย และมีรสชาติถูกปาก ไม่ว่าคนระดับไหน ฐานะไหน ก็สามารถหาซื้อมารับประทานได้ ราคาไม่แพงเหมือนกับผลไม้บางชนิดที่คนระดับล่างไม่สามารถหาซื้อมารับประทานได้ แต่ฝรั่งเป็นผลไม้ที่คนจนสามารถจับต้องได้ หาซื้อมารับประทานได้ง่าย

ฝรั่ง ที่ปลูกในโรงเรือน ใช้พันธุ์ฝรั่งจากไต้หวัน เป็นฝรั่งที่อร่อย มีรสชาติดีถูกปากในขณะนี้ รสชาติดีกว่าฝรั่งที่มีอยู่ในประเทศ พันธุ์ฝรั่งที่ใช้ปลูกในโรงเรือนมี หงเป่าซือ เฟิ่นหงมี่ และเจินจู โดยเป็นต้นพันธุ์แท้จากไต้หวันทั้งหมด ซึ่งผลฝรั่งดังกล่าวยังไม่ปรากฏมีจำหน่ายในตลาดผลไม้ทั่วไป อีกเหตุผลหนึ่งของการปลูกฝรั่งในโรงเรือนก็เพื่อต้องการทำให้เป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้ จะสมเหตุสมผลกันหรือไม่ กับการที่จะต้องปลูกฝรั่งในโรงเรือน

ความดก

คุณปิยะ เสริมว่าการปลูกฝรั่งในโรงเรือนของเขา ทำเพื่อต้องการรองรับตลาดลูกค้าระดับสูงขึ้นมาหน่อย คนที่พอมีเงินจึงเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งลูกค้าบางคนอาจจะไม่สะดวกนักกับการเดินเข้าไปในสวนเหยียบดินเหยียบโคลน เหม็นทั้งกลิ่นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก สารเคมีต่างๆ ไม่ชอบแมลงและสัตว์อื่นๆ ที่มีในสวนนั้น การเดินเข้าสวนอาจทำให้เสื้อผ้าเปื้อนได้ หรืออยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมกับการเดินลุยสวน ดังนั้น การเดินในโรงเรือนจึงตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ เพราะในโรงเรือนสะอาด ไม่มีหญ้าหรือดินให้เหยียบ ไม่มีกลิ่นเหม็นของสารเคมี เพียงแต่อุณหภูมิจะสูงกว่าด้านนอกโรงเรือน ลูกค้าจะเข้ามาตัดผลฝรั่งเลือกได้เองตามชอบใจ แต่ราคาผลฝรั่งจะสูงกว่า

ถังน้ำใหญ่ ถังปุ๋ยใบเล็ก

การปลูกฝรั่งในโรงเรือนใช้โรงเรือนขนาด กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 4 เมตร หลังคาโค้ง 2 หลังคา ต่อกันมุงด้วยพลาสติกใสสำหรับมุงหลังคาโรงเรือนโดยเฉพาะ ด้านข้างติดมุ้งลวดทั้ง 4 ด้าน มีประตู เข้า-ออก 1 ประตู กับประตูพักด้านนอกก่อนเข้าด้านในอีก 1 ประตู วางวงบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ได้ 250 วงบ่อ วางติดกันหรือได้ 250 ต้น ระยะห่างระหว่างต้น 80 เซนติเมตร ใส่ดินในวงบ่อละ10 ถุง และคอยเติมดินเป็นระยะๆ พื้นปูด้วยแผ่นคลุมหญ้า ป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นแต่น้ำซึมลงได้สะดวก

ปลูกมาได้ไม่ถึงปี แต่การเจริญเติบโตเร็วมาก ดังนั้น จึงต้องมีการตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้แต่ละต้นสูงเกิน จะรักษาความสูงไว้เท่าระดับความสูงของคน เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา การตัดแต่งกิ่งไม่ใช่เป็นการตัดกิ่งก้านทิ้งไปเหมือนการตัดแต่งกิ่งทั่วไป แต่จะใช้วิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่งกับกิ่งที่ต้องการตัดออก ทำให้ได้ทรงพุ่มที่ต้องการและได้กิ่งพันธุ์ตามมา การตัดแต่งกิ่งช่วยให้ทรงพุ่มโปร่ง ใบสามารถรับแสงได้ทั่วถึง ส่วนกิ่งที่ยังเล็กจะไว้ให้ติดผลเพียง 1 ผล การปลูกฝรั่งในโรงเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำฝนที่ตกในฤดูฝน ที่จะทำให้ธาตุอาหารเจือจางหายไป และเกิดน้ำท่วมขังเหมือนการปลูกกลางแจ้ง ทำให้สามารถควบคุมให้มีผลผลิตได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูฝน การปลูกฝรั่งหลายพันธุ์ในโรงเรือนเดียวกันจะมีการผสมข้ามพันธุ์กันหรือไม่ ภายในโรงเรือน แมลง ผึ้ง เข้ามาไม่ได้ จึงไม่มีตัวนำละอองเกสรไป และไม่มีลมพัดแรงมาพาละอองเกสรไปเช่นกัน ดังนั้น โอกาสผสมข้ามต้นจึงมีน้อยมาก

แถวต้นฝรั่ง

ระบบการให้น้ำและปุ๋ย เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ใช้ถังเก็บน้ำ ขนาด 45,000 ลิตร สามารถใช้ได้ 45 วัน ถังปุ๋ยน้ำขนาด 200 ลิตร ใสปุ๋ยเกล็ด สูตร 13-13-21 จำนวน 1 ถุง 25 กิโลกรัม ผสมกับน้ำในถังปุ๋ย ผลใกล้แก่จะเพิ่มปุ๋ยสูตร 0-0-24 สัปดาห์ละครั้ง ในวันหนึ่งจะใช้น้ำประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้น้ำพร้อมปุ๋ย วันละ 2 ครั้ง เวลา 9 โมงเช้าและบ่าย 3 โมง ใช้น้ำครั้งละ 500 ลิตร เปิด-ปิดตามโปรแกรมที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ คนจึงไม่ต้องทำอะไร ปัญหาอยู่ที่ไฟฟ้าในหมู่บ้านจะดับบ่อยแค่ไหน คิดคำนวณแล้ว เสียค่าน้ำวันละ 10 บาท

ในโรงเรือน

การปลูกฝรั่งในโรงเรือนควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องแมลงจะมาทำความเสียหาย อย่าง เช่น แมลงวันทอง เพลี้ยแป้ง และหนอนเจาะลำต้น แต่ก็พบแมลงชนิดหนึ่งเข้าอยู่ได้คือ แมลงหวี่ขาว ซึ่งอาจติดมากับดินปลูก ไม่ได้ทำความเสียหายอะไร ใช้แผ่นกาวดักจับ เมื่อปราศจากแมลงรบกวนก็ไม่จำเป็นต้องห่อผลฝรั่ง  การห่อผลฝรั่งเพื่อป้องกันแสงแดดส่องที่ผิวผลฝรั่ง ช่วยให้ผลฝรั่งมีสีเขียวอ่อนออกเหลือง ผิวสวยน่ารับประทานและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จุดประสงค์หลักของการห่อเพื่อป้องกันแมลงศัตรูตัวฉกาจที่มาเจาะผลฝรั่งคือ แมลงวันทอง การห่อจะห่อด้วยกระดาษและห่อด้วยถุงพลาสติกทับอีกชั้น เพื่อป้องกันน้ำไม่ทำให้กระดาษที่ห่อไว้เปื่อยก่อนผลแก่

ใบสมบูรณ์

ปัญหาจากการห่อผลฝรั่งปิดมิดทั้งผลที่พบคือ การห่อจะเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล แผลจะบุ๋มลงไป ผลเน่าเสียหาย ถ้าเกิดน้อยทำให้ฝรั่งมีตำหนิ คุณภาพลดลง ผลฝรั่งเน่าจึงพบง่ายจากการห่อผล โดยเฉพาะฝรั่งที่มีความหวานมากจะพบบ่อย ผลเน่าเสียจากการห่อจะเกิดกับต้นที่อายุน้อย ไม่ค่อยเกิดกับต้นที่แก่ การปล่อยให้ผลแก่เกินไปจะเกิดผลเน่าได้ การห่อผลมีข้อเสียที่ทำให้ไม่รู้ว่าผลไหนแก่สมควรจะเก็บได้ จะรู้ว่าผลแก่ได้ต่อเมื่อแกะกระดาษหรือถุงที่ห่อออก ถ้าห่อด้วยถุงพลาสติกก่อนแล้วใช้กระดาษหนังสือห่อแบบคลุมบังร่มคือ ไม่ห่อปิดหมดทั้งผล วิธีนี้จะทำให้สามารถดูผลว่าแก่หรือยังไม่แก่ได้ หรือใช้การบีบผล ผลเน่าอาจเกิดจากถุงพลาสติกที่ห่อไม่ได้เจาะหรือตัดเป็นช่องระบายน้ำไว้ การปลูกฝรั่งในโรงเรือนตัดปัญหาเรื่องการห่อออกไป จึงไม่เกิดผลเน่า ผลที่ได้ดูเป็นธรรมชาติ แต่ผิวผลอาจจะไม่สวยเหมือนกับผลที่ห่อ

ผลฝรั่ง

การลงทุนปลูกฝรั่งในโรงเรือน เจ้าของที่ดินที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องจ่ายเงินค่าสร้างโรงเรือนและระบบการให้น้ำและปุ๋ย ประมาณ 260,000 บาท แบ่งจ่ายชำระเป็น 3 งวด งวดแรก 50 เปอร์เซ็นต์ งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ชำระงวดละ 25 เปอร์เซ็นต์ จุดคืนทุนภายใน 3 ปี ทุกอย่างเจ้าของที่ดินไม่ต้องทำอะไร ทีมงานจะไปสร้างโรงเรือนเอง ทั้งต้นพันธุ์และอุปกรณ์อื่นๆ จะนำมาไว้ให้พร้อม

ปัจจุบัน มีเจ้าของที่ดินที่เข้าร่วมโครงการ 5 โรงเรือน ใน 5 พื้นที่ จังหวัดลำปางมี 3 โรง และที่กรุงเทพฯ อีก 2 โรง และฝรั่งที่ไม่ได้ปลูกในโรงเรือนอีกประมาณ 30 ไร่ เป็นฝรั่งพันธุ์ไต้หวันทั้งหมด คุณปิยะจะส่งทีมไปดูทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาและให้คำแนะนำ แก้ไขสิ่งที่บกพร่อง ซ่อมแซมหรือเพิ่มสิ่งที่ต้องเพิ่มเติม เช่น ปุ๋ย ฮอร์โมน โครงการนี้เพิ่งดำเนินการครบ 1 ปี เมื่อเดือนเมษายนนี้ หลังจากปลูกแล้ว ตอนอายุประมาณ 6 เดือน ทรงพุ่มเริ่มใหญ่ ทางคุณปิยะจะส่งทีมไปตัดแต่งด้วยการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง เมื่อครบเวลาการตอนกิ่งหรือทาบกิ่งจะตัดกิ่งออกเพื่อรักษาทรงพุ่มไม่ให้สูงเกิน พันธุ์เฟิ่นหงมี่เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก ฝรั่งที่ปลูกในโรงเรือนให้ผลผลิตดีไม่ต่างจากฝรั่งที่ปลูกกลางแจ้ง แต่ผลจะดกกว่าผลใหญ่และให้ผลตลอดปี เนื่องจากควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยได้ โดยรับซื้อกิ่งที่ตอนหรือทาบคืน กิ่งละ 80 บาท ส่วนผลฝรั่งจะรับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท จากเจ้าของที่ดิน ผลที่รับซื้อคืนจะส่งไปขายที่บรูไนและดูไบ ส่วนกิ่งพันธุ์จะจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจภายในประเทศ ซึ่งปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพียง 8 เดือนแรกเจ้าของพื้นที่ได้ทุนคืน ประมาณ 80,000 บาท จากการขายคืนกิ่งพันธุ์

แผงควบคุม

การปลูกฝรั่งในโรงเรือนอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ในประเทศไทย แต่ถ้าท่านใดชอบสิ่งที่ไม่เหมือนใคร สนใจการปลูกฝรั่งในโรงเรือน ปรึกษาได้ที่ เบอร์โทร. 085-687-8778 หรือเข้าไปที่ Face book:  Piya Safety Farm

 

แผ่นกาวดักแมลงหวี่
แผ่นคลุมหญ้า
ภายนอกโรงเรือน
ให้น้ำให้ปุ๋ย

………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2562