ชัยยศ ตั้งนิยม หนุ่มเมืองชากังราว พากเพียร สร้างสรรค์ จนได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่

คุณชัยยศ ตั้งนิยม อยู่บ้านเลขที่ 137 หมู่ที่ 1 ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบัน อายุ 47 ปี จบการศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

สถานภาพ สมรส มีบุตรธิดา 1 คน

ด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นกับไร่อ้อยมานานกว่า 30 ปี ทำให้เขาได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ ปี 2562

ผลงานดีเด่น   

“การเริ่มต้นที่ดีถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว” เริ่มด้วยการเตรียมดินให้ดีตั้งแต่เริ่มปลูก โดยใช้กากหม้อกรอง (Filter cake) เป็นปัจจัยที่ทำให้ได้ผลผลิตตอบแทนที่ดี

“มีอ้อยไม่มีหญ้า มีหญ้าไม่มีอ้อย” ป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างถูกต้องและถูกวิธีตั้งแต่ตอนต้น ช่วยลดการแพร่พันธุ์ของวัชพืช

 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

  1. ประยุกต์เครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ ผาลปรับพื้นที่ให้เรียบ เครื่องปลูกอ้อยแบบหลังแบน กระเช้าบรรทุกอ้อยลดการเกิดดินดาน ดังนี้

1.1 การปรับพื้นที่ให้เรียบ ดัดแปลงใช้ใบมีดเกรดดินติดท้ายรถไถปรับพื้นที่ให้เรียบลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อควบคุมการให้น้ำแบบผิวดินและร่องคู ช่วยระบายน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมขัง ง่ายต่อการควบคุมวัชพืช พื้นที่แปลงที่เรียบจะสะดวกต่อการเข้าเก็บเกี่ยวโดยการใช้รถตัดอ้อย

1.2 ประยุกต์เครื่องปลูกอ้อย โดยปลูกแบบสันร่องแบนด้วยผาลหัวหมู ชักร่องทำให้ตออ้อยอยู่ลึก ไว้ตอได้นาน ตออ้อยไม่หลุดเมื่อตัดด้วยรถตัด ให้น้ำง่ายขึ้น แล้วตามด้วยริปเปอร์ติดปีก ชักร่องวางท่อนพันธุ์อ้อยด้วยเครื่องปลูกมีร่องลึก ทำให้รากหาอาหารได้ลึก ก้นร่องอยู่ต่ำกว่าสันร่องให้น้ำสะดวก ตออ้อยไม่ถูกถอนด้วยรถตัด

1.3 ประยุกต์ทำกระเช้าบรรทุกอ้อยที่มีน้ำหนักเบากว่ารถบรรทุกอ้อย ทำให้อ้อยตอไม่เสียหายจากน้ำหนักกดทับของรถบรรทุก

  1. คัดเลือกพันธุ์อ้อย และใช้พันธุ์อ้อยเหมาะสมกับชนิดดิน และเลือกปลูกพันธุ์อ้อยที่มีอายุเก็บเกี่ยวต่างกัน ได้แก่ พันธุ์เบา (สะสมน้ำตาลเร็ว) อ้อยพันธุ์กลาง และอ้อยพันธุ์หนัก (เก็บเกี่ยวหลัง)
  2. ปรับปรุงบำรุงดินด้วยกากหม้อกรอง (Filter cake) ผลพลอยได้จากโรงงาน เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและลดต้นทุน
  3. ตัดอ้อยต่ำชิดดิน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และได้ความหวานเพิ่ม เนื่องจากโคนอ้อยมีเปอร์เซ็นต์ความหวานมากกว่าส่วนอื่น ตัดอ้อยชิดดิน ทำให้หน่อของตออ้อยที่เกิดใหม่เกิดมาจากรากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน แข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีกว่าหน่อที่เกิดจากตออ้อยบนดิน
  4. บริหารจัดการเครื่องจักรด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ มีอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย

 การนำเทคโนโลยีมาใช้

  1. ไถระเบิดดินดานทุกรอบการผลิตใหม่ เพื่อปรับโครงสร้างของดิน โดยใช้เครื่องมือในการระเบิดดินดานให้เหมาะสมกับขนาดรถไถ เพื่อลดความแน่นของดิน โดยใช้ริปเปอร์ 2/3/5 ขา ในอ้อยปลูกใหม่ 2 ครั้ง สลับเป็นแบบตาราง
  2. ใช้ผาลสับใบอ้อยระหว่างแถวอ้อยตอ ทำให้ได้ใช้ใบอ้อยในการบำรุงดิน
  3. ใช้รถตัดอ้อย ตัดได้ 100-300 ตัน ต่อวัน ช่วยทดแทนแรงงานคน และวางแผนการตัดอ้อยได้ตามกำหนด

 

การแก้ไขปัญหา

  1. แก้ไขปัญหาการให้น้ำในการปลูกอ้อย โดยปรับพื้นที่ในการปลูกอ้อยให้มีระดับเสมอ เพื่อลดปัญหาในการให้น้ำ
  2. ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ด้วยการใช้กากหม้อกรอง (Filter cake) ในการบำรุงดินแทน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
  3. ใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทำงานเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องการขาดแรงงาน

 ขยายผลต่อยอด

– ช่วยแนะนำเกษตรกรในการผลิตอ้อยให้ได้คุณภาพ มีเกษตรกรนำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการผลิตอ้อย

– เป็นศูนย์เครือข่ายการบริหารจัดการไร่อ้อย ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

 ผลงานและความสำเร็จของผลงาน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ

 รายได้/ต้นทุน/กำไร (ย้อนหลัง 3 ปี)                                           

  1. ปี 2558/2559 (พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 1,100 ไร่)

รายได้ทั้งหมด    16,650,000 บาท

ราคาขาย                      900  บาท/ตัน

ค่าใช้จ่าย            9,210,000  บาท

รายได้สุทธิ          7,440,000  บาท (6,763.64 บาท/ไร่)

  1. ปี 2559/2560 (พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 1,100 ไร่)

รายได้ทั้งหมด     19,950,000 บาท

ราคาขาย                     1,050 บาท/ตัน

ค่าใช้จ่าย              9,410,000 บาท

รายได้สุทธิ          10,540,000 บาท (9,581.82 บาท/ไร่)

  1. ปี 2560/2561 (พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 1,349 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา)

รายได้ทั้งหมด    21,060,450 บาท

ราคาขาย                       850 บาท/ตัน

ค่าใช้จ่าย           11,745,000 บาท

รายได้สุทธิ           9,315,450 บาท (6,900.33 บาท/ไร่)

ผลผลิต

– ปี 2558/2559 รวม 18,500 ตัน เฉลี่ย 16.36  ตัน/ไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ =  9.15 ตัน/ไร่)

– ปี 2559/2560 รวม 19,000 ตัน เฉลี่ย 17.27  ตัน/ไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ =  9.43 ตัน/ไร่)

– ปี 2560/2561 รวม 24,777 ตัน เฉลี่ย 18.35  ตัน/ไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ = 11.68 ตัน/ไร่)

(ผลผลิตสูงสุด 27 ตัน/ไร่)

คุณภาพผลผลิต

ค่าความหวานเฉลี่ย 12 ccs. (สูงสุด 14 ccs.)

สรุปเปรียบเทียบข้อมูล ปี 2560/61 (ต่อหน่วยการผลิต)

– ผลผลิต        18.35 ตัน/ไร่

– ราคาขาย     850    บาท/ตัน

– ต้นทุน       8,700    บาท/ไร่  474 บาท/ตัน

– รายได้       5,600    บาท/ไร่

– กำไร      6,900.33   บาท/ไร่  376 บาท/ตัน

วิธีการบริหารจัดการไร่อ้อย

  1. ใช้แนวทาง GAP ในการบริหารจัดการ ได้แก่
  2. แหล่งน้ำสะอาด จากแม่น้ำปิง และน้ำบาดาล
  3. ทำแปลงพันธุ์เอง ใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรคและแมลง
  4. การเตรียมดิน ใช้เครื่องมือตัดใบอ้อยไถกลบลงดิน
  5. ใช้กากหม้อกรอง (Filter cake) ในการบำรุงดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี
  6. ใช้ใบอ้อยคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นและควบคุมวัชพืช
  7. จัดการโรคอย่างถูกวิธี ขุดต้นที่เป็นโรคมาเผาทำลาย
  8. การเก็บเกี่ยว ใช้รถตัดอ้อย ลดการเผาใบอ้อย
  9. การผลิตและการตลาด
  10. พันธุ์อ้อย : เลือกพันธุ์เหมาะสมกับชุดดินและสภาพพื้นที่ ปลูกหลายพันธุ์ ลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และแมลง หมุนเวียนเปลี่ยนสลับพันธุ์ ไม่ปลูกซ้ำแปลงเดิม
  11. เลือกปลูกอ้อยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวต่างกัน บริหารจัดการช่วงเวลาตัดอ้อยให้ทันฤดูกาลเปิดหีบของโรงงานปลูกอ้อย สัดส่วน 1 : 2 : 1 ของพื้นที่ปลูก ดังนี้

– ปลูกอ้อยข้ามแล้ง (ปลายฝน) 1 ส่วน (ต้นทุนต่ำสุด ให้ผลผลิตสูงสุด)

– ปลูกอ้อยน้ำสูบ 2 ส่วน (ต้นm6oสูงกว่าปลูกอ้อยข้ามแล้ง ให้ผลผลิตสูง)

– ปลูกอ้อยต้นฝนและแปลงพันธุ์อ้อย 1 ส่วน (ต้นทุนและผลผลิตต่ำ เสี่ยงต่อสภาพฝน)

  1. ประสานการตัดอ้อย และการขนส่งอ้อยกับโรงงาน
  2. ปรับปรุงบำรุงดินและเตรียมดินในอ้อยปลูกใหม่ให้ดี
  3. การบำรุงรักษาอ้อย
  4. การให้น้ำ ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการให้น้ำแบบผิวดินและร่องคู พื้นที่นอกเขตชลประทานใช้น้ำบ่อบาดาล
  5. ป้องกันกำจัดวัชพืชแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี ใช้ใบอ้อยคลุมดินควบคุมวัชพืช กำจัดวัชพืชก่อนออกดอก
  6. การให้ปุ๋ย ลดการใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 20-10-10, 15-15-15 และ 46-0-0 จากเดิมใช้ปุ๋ยปริมาณรวม 70,000 กิโลกรัม (พื้นที่ 1,349 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา) ปัจจุบันใช้ปุ๋ยเคมีลดลง โดยใช้ปุ๋ยเคมีเพียง 1,500-2,000 กิโลกรัม โดยใช้กากหม้อกรอง (Filter cake) มาใส่ในพื้นที่ อัตรา 30-50 ตัน/ไร่ แทน
  7. การจัดการโรคและแมลง เลือกใช้พันธุ์อ้อยที่มีความทนทานหรือต้านทานต่อโรค

 ความยั่งยืนในอาชีพ

– ทำอาชีพไร่อ้อยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 33 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2529-ปัจจุบัน (2562)

– มีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตอ้อย ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร

– มีรายได้จากการทำไร่อ้อย 100%

– เริ่มอาชีพทำไร่อ้อยต่อจากบิดามารดาจนถึงปัจจุบันปลูกอ้อยบนที่ดินของตนเองและที่เช่า รวม 1,349 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา

– เป็นหัวหน้าโควต้าอ้อย

– สามารถสร้างฐานะ มีทรัพย์สิน/อุปกรณ์ทางการเกษตรจากการทำไร่อ้อย

ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

  1. สมาชิกสภาจังหวัดกำแพงเพชร เขต 2 (2555-ปัจจุบัน)
  2. ประธานสภาเทศบาลตำบลวังยาง (2551-2554)
  3. กรรมการบริหารสมาคมไร่อ้อย เขต 6 (2548-2551)
  4. กรรมการสมาคมไร่อ้อย เขต 6 (2545-2548)
  5. เป็นตัวแทนเกษตรกร คัดค้านไม่ให้โรงงานน้ำตาลขาย กากหม้อกรอง (Filter cake) แต่ให้แจกจ่ายให้กับเกษตรกร
  6. ช่วยขุดระบายน้ำในพื้นที่การเกษตรที่ตื้นเขินด้วยรถแบ๊คโฮส่วนตัว ในพื้นที่ตำบลวังยาง
  7. บริการตักกากหม้อกรอง (Filter cake) ของโรงงานน้ำตาลนครเพชรด้วยรถแบ๊คโฮของตนเองให้กับเกษตรกร ที่ไม่มีโควต้าอ้อยกับโรงงานโดยใช้โควต้าอ้อยของตนเอง คิดราคาบริการตักกากหม้อกรอง 150 บาท/คันรถ ในขณะที่โรงงานคิดค่าบริการตัก 750 บาท/คันรถ มีเกษตรกรใช้บริการกว่า 100 ราย รวมพื้นที่อ้อย ไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่
  8. ผลักดันและร่วมกับชุมชนในการขุดลอกแหล่งน้ำและลำคลองในพื้นที่ตำบลวังบัว ท่ามะเขือ วังยาง และวังแขม หลายสาย รวมระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตร
  9. เป็นวิทยากรให้ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยกับเกษตรกรไร่อ้อยจังหวัดกำแพงเพชร

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– ที่ดินที่ปลูกอ้อยทุกแปลงไม่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ หรือเขตหวงห้ามของทางราชการ

– ใช้วัสดุเหลือใช้ในการเกษตร ได้แก่ กากหม้อกรอง (Filter cake) ในการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มผลผลิต

– ใช้ใบอ้อยคลุมดิน หลังเก็บเกี่ยว เพื่อรักษาความชื้นในดิน และป้องกันวัชพืชงอก เป็นการลดการใช้สารเคมี         กำจัดวัชพืช หลังจากนั้น 3-4 เดือน ใช้เครื่องจักรสับใบอ้อยลงดิน เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและปรับโครงสร้างดิน

– ใช้หลักการกำจัดวัชพืชโดยวิธีผสมผสานและใช้สารเคมีตามหลักวิธีการอย่างถูกต้องและเหมาะสม

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 061-821-7677

ขอบคุณ…ข้อมูล จากกรมส่งเสริมการเกษตร