เรื่องง่ายๆ กับการปลูกพริกกินเองในบ้าน

วิถีการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ล้วนแล้วแต่เร่งรีบ มีเวลาว่างก็เพียงนิด แต่มีกิจกรรมที่กำหนดไว้มากมาย การปลูกผักไว้รับประทานเองภายในบ้าน ก็เป็นอีกวิถีที่คนเมืองนิยมทำกัน แต่ในที่นี้ คงขอเอ่ยเฉพาะ “พริก”

เมล็ดพริก เตรียมเพาะ

พื้นที่ในคอนโดมิเนียม หรือ อพาร์ทเม้นท์ หากต้องการปลูกพริก คงมีพื้นที่บริเวณระเบียงเท่านั้นที่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง

สำหรับบ้านขนาดเล็กที่พอจะมีส่วนที่เป็นดินไว้สำหรับจัดสวน ปลูกต้นไม้ ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะสามารถจัดพื้นที่ปลูกสำหรับไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และอื่นๆ เป็นสัดส่วนได้ แต่ถ้าบริเวณบ้านไม่เหลือส่วนที่เป็นดินไว้บ้าง ก็คงต้องอาศัยกระถางหากต้องการปลูกต้นไม้

พริก เป็นส่วนประกอบของครัว ขาดไม่ได้

อย่างที่ขึ้นต้นเนื้อเรื่องไว้ว่าขอหยิบยกมาเฉพาะตัวเอกของเล่ม คือ พริก ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในพืชผักสวนครัว ในแต่ละครัวเรือนถ้าต้องทำกับข้าว ส่วนประกอบของอาหารในบางมื้อก็น่าจะมีพริกอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น การปลูกพริกในบ้าน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ใกล้ตัว หากทำได้ก็ไม่ต้องควักกระเป๋า ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีก

สิ่งที่ควรมีอันดับแรก คือ เมล็ดพันธุ์พริกสำหรับปลูก ถ้าไม่คิดอะไรมาก เมล็ดพันธุ์พริกที่วางขายทั่วไปตามร้านขายต้นไม้ หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ก็มีจำหน่ายในราคาซองละ 15-20 บาท แต่ถ้าไม่สะดวกซื้อ ต้องการเพาะต้นกล้าพริกเองก็สามารถทำได้ เริ่มจากการนำเม็ดพริกที่มีอยู่แล้วในครัว สดหรือแห้งก็ไม่สำคัญ แต่ขอให้พริกเม็ดนั้นแก่จัด เพราะจะเป็นเมล็ดพริกที่พร้อมขยายพันธุ์

ถาดเพาะ

การเพาะให้ต้นกล้าพริกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดพริก โดยหาวัสดุใส่ดินสำหรับเพาะ ใช้กระถางก็ได้ ส่วนดินซื้อได้ตามร้านต้นไม้ ถุงละ 20-35 บาท ขึ้นกับความสมบูรณ์ของดิน นำดินที่ได้มาทำให้ขยี้ให้ละเอียด จากนั้นโรยเมล็ดพริกลงดินที่เตรียมไว้ ไม่ควรโรยให้แน่นหรือใกล้กันจนเกินไป เพราะจะเกิดการแย่งอาหารกัน หรือ รากพันกัน ทำให้แยกต้นไปปลูกลำบาก

หากมีกะบะเพาะ ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นขณะหยอดเมล็ดพริก 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 10 เซนติเมตร

นำเศษฟางหรือหญ้าแห้งมาปิดคลุมหน้าดินไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

กล้าพริก อายุประมาณ 15 วัน

นำกระถางไปตั้งตากแดดไว้ เพื่อให้อุณหภูมิที่แสงแดดส่องลงมาทำให้ดินร้อน จะช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพริกงอกได้เร็วขึ้นกว่าการตั้งกระถางไว้ในร่ม ให้รดน้ำเช้าและเย็น เพิ่มความชื้นให้กับเมล็ดพริก ภายใน 3-7 วัน จะเริ่มเห็นต้นพริกงอกออกหรือแตกยอดออกมา ขณะที่เห็นเมล็ดพริกงอก มีใบจริง 2-3 ใบ ควรเลือกถอนต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เหลือไว้เฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ไว้

ควรดูแลกล้าพริกที่เพาะไว้ในกระถางเพาะประมาณ 1 เดือน หรือมีใบจริงราว 5-6 ใบ จากนั้นจึงค่อยแยกต้นพริก นำไปปลูกยังกระถางที่มีดินมากพอต่อความต้องการของต้นพริก หรือมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการปลูกพริก ไม่ควรเลือกกระถางปลูกที่มีขนาดเล็กเกินไป เพราะกระถางขนาดเล็กจะบรรจุดินได้น้อย เมื่อดินปลูกน้อยจะเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ไม่นาน

ใช้ถุงดำเพาะกล้าพริก

อันที่จริง พริกเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย เพราะมีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเป็นด่างของดินระหว่าง 6.0-6.8

หรืออีกวิธีของการเพาะต้นกล้าก่อนนำไปปลูกลงกระถาง คือ การเพาะเมล็ดพริกให้งอกก่อน แล้วนำไปปลูกในกระถาง วิธีเพาะ คือ นำเมล็ดพริกแช่น้ำ แล้วนำผ้าชุบน้ำหมาดๆ ห่อทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เมล็ดจะงอก แล้วจึงนำลงปลูก

ในกระถางปลูก ควรใส่ดินเกือบเต็มกระถาง ทำดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 4-6 นิ้ว นำกล้าพริกใส่ลงในหลุมแล้วกลบ

การให้น้ำ ทำได้ดังนี้

กระถางขนาดเล็ก หากพริกเจริญเติบโต ควรเปลี่ยนกระถาง

1.ช่วง 3 วันแรก ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

2.ช่วง 4 วันต่อมา ให้น้ำวันละครั้ง

3.ช่วงสัปดาห์ที่ 2 – สัปดาห์ที่ 4 ให้น้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

4.ช่วงสัปดาห์ที่ 5 –สัปดาห์ที่ 7 ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

5.ช่วงสัปดาห์ที่ 7 ไปแล้ว ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ การให้น้ำแก่พริก ควรให้ตามสภาพอากาศและดูความชุ่มชื้นของดินประกอบด้วย

แม้ว่าพริกจะเป็นพืชที่ทนแล้งดีกว่าทนน้ำ ในระยะที่พริกเริ่มออกดอก พริกจะต้องการน้ำมากกว่าปกติ หากให้น้ำไม่เพียงพอและอากาศแห้งแล้ง จะทำให้ดอกอ่อน ดอกบาน และผลอ่อนที่เพิ่งติดร่วงได้ นอกจากนี้ ในสภาพที่อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส จะทำให้พริกเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดี มีการติดดอกต่ำและดอกร่วงในที่สุด การให้น้ำขณะนั้นควรลดลง หรืองดในช่วงที่เริ่มเก็บผลผลิต ทั้งนี้เพราะถ้าน้ำพริกมากเกินไป จะทำให้เม็ดพริกมีสีไม่สวย

ปลูกลงกระถางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว

การปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน หากต้องการให้พริกเจริญงอกงามดี ควรใส่ปุ๋ยให้กับต้นพริกบ้าง การใส่ปุ๋ยให้กับพริก ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของดินปลูก แต่โดยทั่วไปหากใส่ปุ๋ยคอกในกระถางที่ปลูกไว้รับประทานเองในครัวเรือน ใช้ปริมาณปุ๋ยคอกเพียงหยิบมือก็ได้แล้ว ควรใส่ให้กับพริกหลังลงปลูกประมาณ 1 เดือน และไม่ควรใส่ชิดโคนต้น ช่ววเวลาที่ใส่ปุ๋ย จะเป็นช่วงที่พริกเริ่มมีตาดอก (แต่ยังไม่ออกดอก) หลังใส่ปุ๋ย 1-2 สัปดาห์ ควรฉีดปุ๋ยน้ำ เช่น ไบโฟลานให้ทางใบ ซึ่งพริกจะนำไปใช้ได้เร็วขึ้น แต่หากไม่ได้ต้องการผลผลิตพริกมากนัก เพราะนำไปใช้ในครัวเรือนไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยทางใบก็ได้

การพรวนดิน เนื่องจากรากของพริกจะกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน จึงควรระวังในการพรวนดิน อย่าให้รากกระทบกระเทือน เพราะจะทำให้พริกชะงักการเจริญเติบโต ต้นพริกจะโค่นล้มง่าย การพรวนดินทำได้สม่ำเสมอ ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ตายตัว

ปลูกพริกในบ้าน มีหลายชนิด

หลังลงปลูกประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน ในระยะแรกพริกจะให้ผลผลิตไม่มากนัก แต่จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามลำดับ เมื่อต้นพริกมีอายุ 6-7 เดือน จะเริ่มโทรมและหยุดให้ผลผลิต แต่ถ้าบำรุงรักษาดี พริกจะมีอายุถึง 1 ปี

เม็ดพริกที่แก่จัด ขั้วจะยังติดอยู่กับต้นได้อีกระยะหนึ่งโดยไม่เหี่ยวหรือเสื่อมคุณภาพ แต่ถ้าเก็บเม็ดพริกจากต้นมาแล้ว การเก็บรักษาพริกให้คงสภาพสดอยู่ได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการเก็บรักษา

อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้น 95-89 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บพริกให้คงความสดได้นานถึง 40 วัน โดยมีผลเหี่ยวเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และถ้าอุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส ความชื้น 85-90 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บพริกให้คงความสดได้นาน 8-10 วัน

การตากพริก เพื่อทำพริกแห้งเก็บไว้รับประทาน

หากพริกให้ผลผลิตมาก ต้องการเก็บเป็นพริกแห้งไว้รับประทาน ก็ทำได้โดยการเลือกเก็บเฉพาะเม็ดพริกที่แก้จัด มีสีแดง ถ้าเก็บมาแล้วมีบางเม็ดที่ยังไม่แก่ควรนำมาเก็บไว้ก่อนประมาณ 2 คืน เพื่อบ่มให้เม็ดพริกสุกแดง แล้วจึงนำออกตากแดดให้แห้งสนิท ควรเลือกเม็ดพริกที่เน่าทิ้งอยู่เสมอ ควรระวังอย่าให้พริกแห้งถูกฝน เพราะจะทำให้เกิดโรครา

ยังมีวิธีการทำพริกแห้งตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำไปย่างไฟ ทำโดยการย่างพริกไว้บนแผงหรือตะแกรงแล้วสุมไฟข้างล่าง กลับพริกให้แห้งทั่วกัน จะทำให้พริกแห้งเร็วขึ้น เก็บไว้ได้นาน ไม่เสียง่าย

การปลูกและการดูแลรักษา สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพริกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน ทำได้ไม่ยาก แต่หากไม่เริ่ม คงต้องควักกระเป๋าซื้อพริกมารับประทานกันต่อไป

 

เมื่อวันพฤหัสที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2562