เกษตรกรหญิงเมืองกาญจน์ แบ่งพื้นที่นาปลูกอินทผลัม ผลผลิตดี มีคุณภาพ ขายได้ราคางาม

อินทผลัม เป็นพืชตระกูลปาล์ม มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร มีใบติดอยู่บนต้น 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ลักษณะใบของอินทผลัมเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ เมื่อติดผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีรสหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลสดและสุก ซึ่งผลมีสีเหลืองถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด โดยผลสุกจะนิยมนำไปตากแห้ง จึงเป็นหนึ่งพืชที่น่าจับตามองในเรื่องของการทำตลาด

คุณธัญญา กาญจนประดิษฐ์

ปัจจุบัน ในบ้านเรามีเกษตรกรหลายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าคุณภาพตามฤดูกาล สร้างรายได้ดีไม่น้อยทีเดียว คุณธัญญา กาญจนประดิษฐ์ เป็นเกษตรกรชาวกาญจนบุรี ที่ได้มองเห็นถึงอนาคตการทำตลาดของอินทผลัมว่าเป็นสินค้าที่มีราคา เธอจึงแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาปลูกอินทผลัมเพื่อเป็นการกระจายรายได้ เมื่อราคาข้าวตกต่ำก็ยังมีผลผลิตของอินทผลัมอยู่ แม้พื้นที่ปลูกจะเป็นดินที่ผ่านการทำนามาก่อน แต่ก็สามารถปลูกจนประสบผลสำเร็จ

พื้นที่ปลูก

คุณธัญญา เล่าว่า เป็นคนที่ชอบรับประทานอินทผลัมมานานมากแล้ว แต่ด้วยพืชชนิดนี้ในเมืองไทยยังค่อนข้างหาซื้อได้ยาก จึงเป็นการจุดประกายให้คุณธัญญาคิดที่อยากจะปลูกเอง เพราะไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ข้าวมีราคาถูก และทำได้ปีละ 1 ครั้ง จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะปรับปลี่ยนจากพื้นที่นาบางส่วนมาแบ่งปลูกอินทผลัมเพื่อชดเชยรายได้

“แบ่งปลูกเป็น 2 ช่วงอายุ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกรุ่นแรก 8 ไร่ กับ รุ่นที่ 2 บนเนื้อที่ 7 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกอิทผลัมทั้งหมดก็ประมาณ 15 ไร่ ซึ่งนาก็ไม่ได้เลิกทำ ยังทำอยู่ เพียงแต่แทนที่เราจะปลูกข้าวอย่างเดียว เราก็มาทำเกษตรอย่างอื่นด้วย เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ครบทุกด้าน อย่าทำพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว” คุณธัญญา เล่าถึงที่มา

ผลผลิตดกเต็มต้น

โดยวิธีการปลูกและการเลือกซื้อสายพันธุ์นั้น คุณธัญญา บอกว่า ได้ศึกษาหาข้อมูลเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งเดินทางไปศึกษาจากเพื่อนๆ ที่ปลูกจนประสบผลสำเร็จ จากนั้นเธอจึงได้ข้อสรุปเลือกอินทผลัมที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูกสร้างรายได้

ในเรื่องของวิธีการปลูกอินทผลัมนั้น มีการเตรียมพื้นที่ปลูกก่อนในช่วงแรก โดยใช้บริเวณรอบๆ สวน มีร่องน้ำสำหรับระบายน้ำ ไม่ให้ท่วมขังภายในพื้นที่ปลูก เพราะอินทผลัมเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังอยู่บริเวณโคนต้น ดังนั้น ในเรื่องของการระบายน้ำออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ช่วงติดผล ต้องมีการห่อและดูแลอย่างใกล้ชิด

การเตรียมต้นกล้า ระยะแรกจะนำมาอนุบาลเพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จากนั้นเมื่อเห็นว่าต้นอินทผลัมมีความสมบูรณ์ดีแล้ว จะนำมาลงปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ทันที

“ใช้ต้นกล้าที่ผ่านการอนุบาลมาประมาณ 8 เดือน มาลงปลูก พื้นที่ปลูกก็จะเน้นให้มีระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวอยู่ที่ 7×7 เมตร โดยการปลูกจะไม่ฝังต้นลงไปใต้ดินจนลึก ขนาดหลุมปลูก กว้าง 1 เมตร ความลึกอยู่ที่ 40 เซนติเมตร พอปลูกเสร็จแล้วก็จะมีไม้ค้ำยันไว้ เพื่อไม่ให้ต้นโยกไปมา ให้ต้นตั้งตรงอยู่นิ่งๆ จะช่วยให้รากเดินได้ค่อนข้างดี หลังจากนั้น ก็ดูแลให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ทุกวัน ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ก็จะเปลี่ยนให้น้ำ 2-3 วันครั้ง ก็เพียงพอ” คุณธัญญา บอก

ผลสวยน่ารับประทาน

หลังจากที่ปลูกได้ครบ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ด้วยสูตร 20-10-10 ดูแลไปจนได้อายุเข้า 2 ปีครึ่ง อินทผลัมก็จะเริ่มเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตได้ ซึ่งแต่ก่อนที่จะติดผลต้องเตรียมต้นให้พร้อมเสียก่อน

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมเปลี่ยนใส่ปุ๋ย เป็นสูตร 8-24-24 หลังจากนั้น ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมอินทผลัมก็จะเริ่มมีจั่นออกมาให้เห็น ในช่วงนี้เมื่อเห็นว่าจั่นมีความสมบูรณ์ จึงช่วยผสมเกสรเพื่อให้ติดผลผลิตได้ดีขึ้น

ซึ่งอินทผลัมเป็นพืชที่แยกเพศอย่างชัดเจน คือต้นตัวผู้และต้นตัวเมียจะอยู่คนละต้นกัน ดังนั้น ในการปลูกภายในสวนจะให้มีอัตราส่วน ต้นตัวผู้ 1 ต้น ต่อต้นตัวเมีย 15-20 ต้น โดยจะปลูกในพื้นที่กี่ไร่ก็ตาม จะเน้นอัตราส่วนของต้นตัวผู้และตัวเมียในอัตราส่วนนี้เสมอ

เน้นเป็นอินทผลัมรับประทานผลสด

“พอเราผสมเกสรติดดีแล้ว ช่วงที่ดูแลผล ก็จะมีการปรับเปลี่ยนปุ๋ย เป็นสูตร 15-5-20 กับสูตร 11-6-25 สลับกันไปมาในช่วงที่ติดผล ซึ่งผลของอินทผลัมกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ นับจากวันที่ผสมเกสรไปใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 140 วัน ช่วงนี้ผลก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ นำกระดาษมาหุ้มพร้อมทั้งใช้ตาข่ายห่ออีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันหนูและแมลงที่มาทำลายผล พอครบกำหนดผลก็จะเริ่มสุกพร้อมๆ กัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้” คุณธัญญา บอก

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคและแมลงนั้น คุณธัญญา บอกว่า สิ่งที่ต้องป้องกันมากที่สุดคือ ด้วงมะพร้าว โดยหมั่นเดินสำรวจอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มี ถ้าหากมีการเข้าทำลายของศัตรูพืชชนิดนี้ ยอดของอินทผลัมจะได้รับความเสียหาย ดังนั้น จึงต้องหมั่นป้องกันและดูแลตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก

สำหรับตลาดเพื่อส่งขายอินทผลัม คุณธัญญา บอกว่า ได้มีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อถึงสวนไว้แล้ว และส่วนที่เป็นอีกเกรดก็จะขายตามตลาดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งทางสวนของคุณธัญญาเองก็ปลูกแบบได้มาตรฐาน จีเอพี (GAP) ลูกค้าที่รับซื้อจึงมั่นใจได้ในผลผลิตที่ผ่านการดูแลเป็นอย่างดีในทุกขั้นตอน

“ราคาของอินทผลัมผลสด ที่สวนเราขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งที่สวนมีอยู่ประมาณ 200 ต้น ผลผลิตที่เฉลี่ยคาดว่าจะได้แต่ละปี 4-5 ตัน ด้วยราคาประมาณนี้ คิดว่าก็น่าจะทำเงินได้ แต่ถ้าอนาคตต่อให้ราคาลงไปบ้าง เราก็มองว่าน่าจะทำเงินได้อยู่ เพราะอินทผลัมเมื่อเทียบกับพืชบางชนิด เรื่องใช้ปุ๋ยและยาน้อยมาก จึงทำให้ต้นทุนในเรื่องนี้ไม่ค่อยมากในการลงทุนแต่ละปี ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพืชที่น่าสนใจ” คุณธัญญา บอกเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกอินทผลัม คุณธัญญา แนะนำว่า หากมีพื้นที่บางส่วนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่ ก็ให้แบ่งมาปลูกพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเลือกพืชที่เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ อย่างที่คุณธัญญาเลือกปลูกอินทผลัม เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเมื่อเทียบกับการทำนา ดังนั้น อินทผลัม จึงเป็นอีกหนึ่งพืชที่คุณธัญญามองว่าน่าจะทำรายได้เสริมควบคู่ไปกับการทำนาของเธอ

ในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ โดยนำผู้สนใจเข้าชมสวนและเรียนรู้การปลูกอินทผลัมในสถานที่จริง เพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสร้างอาชีพต่อไป