สวนยายเนียงเกษตรอินทรีย์

ธ.ก.ส. มีโครงการออกเงินกู้หมื่นกว่าล้าน ให้เกษตรกรซื้อโดรนไว้สำหรับพ่นยา ถือว่าเป็นวัสดุการเกษตรชนิดหนึ่งในราคาเครื่องละ 500,000 บาท เมื่อวานยังเชิดชูเกษตรพอเพียงอยู่หยกๆ วันนี้กลับสนับสนุนให้ซื้อโดรนเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ ในประเทศไทยเกษตรกรมีพื้นที่เฉลี่ยครอบครัวละไม่กี่ไร่

คุณวีรยุทธิ์และภรรยา

จึงไม่แปลกที่มีเสียงสรรเสริญเยินยอ ธ.ก.ส. เสียจมหู ส่วนใหญ่จะบอกว่าเพิ่มหนี้โดยใช่เหตุ สนับสนุนให้ซื้อเครื่องจักรการเกษตรแบบอื่นดีกว่า ตอนเรื่องนี้พิมพ์ในหนังสือยังไม่รู้ว่าคิดได้หรือยัง ภายใต้การบริหารราชการที่ย้อนแย้ง เดี๋ยวสนับสนุนให้ทำเกษตรแบบพอเพียง เดี๋ยวสนับสนุนให้ทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรกรปัจจุบันก็ไม่โง่พอที่เชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา ผมมักคอมเม้นต์ในเฟซอยู่เสมอถ้าพืชตัวไหนที่รัฐส่งเสริมให้ปลูกอย่าได้แตะต้องเด็ดขาด

วิมานบ้านทุ่ง

การเกษตรที่ถูกต้อง เกษตรกรต้องหาตลาดก่อน ถามตัวเองให้ได้ว่าปลูกแล้วขายใคร ขายอย่างไร คุณ  วีรยุทธ์ คำนิล และ คุณน้ำริน คำนิล ผู้ผันตัวจากพนักงานออฟฟิศที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ มาเป็นเกษตรกรเต็มตัวในวัย 50 ปี คุณวีรยุทธ์ เล่าว่า “ผมกับภรรยาคู่ชีวิตทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี รับผิดชอบเกี่ยวกับงานโลจิสติกส์มา 28 ปีตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว จึงได้ลาออกพร้อมกันเมื่อปี 2560 หันมาทำการเกษตรเต็มตัว ก่อนหน้านี้ได้ไปอบรมการทำเกษตรตามส่วนราชการต่างๆ ที่ให้ความรู้เรื่องนี้ เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่กระทรวงเกษตรฯ กับ ธ.ก.ส.เปิดอบรมให้ จนเกิดแรงบันดาลใจให้ทำการเกษตร ซึ่งเคยช่วยปู่ย่าตายายทำเมื่อสมัยเด็ก เพราะทางบ้านที่ดินพอที่จะปลูกพืชสวนครัวเพื่อบริโภคในครอบครัวได้โดยไม่ต้องซื้อหา และสมัยเด็กๆ ที่บ้านเคยปลูกชะอมและละมุดขาย จึงได้มีโอกาสซึมซับเรื่องเกษตรมาโดยไม่รู้ตัว อีกอย่างหนึ่งคือได้เห็นแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงยิ่งทำให้เพิ่มแรงบันดาลใจขึ้นอีก”

โต๊ะผัก

คุณวีรยุทธ์ และภรรยา จึงได้ตัดสินใจออกจากงานเมื่อ 2 ปีก่อน โดยทิ้งเงินเดือนเดือนละแสน มาทำเกษตรพอเพียงเมื่อถึงจุดอิ่มตัวในงานที่ทำ ขอทำความเข้าใจกับผู้ที่มีอาชีพกินเงินเดือนก่อนนะครับว่า ไม่ใช่คิดอยากจะทำก็ลาออกมาเผชิญชีวิตเกษตรกรโดยตัวเองยังไม่พร้อม ในกรณีของคุณวีรยุทธ์มีความพร้อมหลายอย่าง ทั้งที่ดินและเงินทุน อีกทั้งไม่มีภาระหนี้สินที่ต้องแบกไว้ จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำแบบนี้ ถ้าไม่พร้อมที่จะทำกรุณาอย่าคิดทำเด็ดขาด เพราะแค่คิดก็ผิดแล้ว

สวนผักข้างบ้าน

คุ้มไหม กับการทิ้งเงินแสนมาทำเกษตร

ผมยิงคำถามนี้ด้วยความสงสัย ได้รับคำตอบว่า “เนื่องจากไม่มีภาระค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่ารายได้จะได้น้อยกว่าทำงานบริษัท ไม่ต้องถูกจำกัดเวลาแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น จึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ อีกประการหนึ่งเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรับผิดชอบงานในฐานะผู้บริหารคนหนึ่งจึงมีความเครียดและความกดดัน เมื่อมาทำงานเกษตรเป็นของตัวเองค่อยรู้สึกผ่อนคลายลง ประการสุดท้ายคือมีความสุขในชีวิตเป็นตัวของตัวเอง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยเงินไม่มาก รายจ่ายน้อยลงมาเป็นสิบเท่า บางวันใช้จ่ายไม่ถึง 30 บาท”

สวนสะอาดมาก

บนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ของสวนยายเนียงเกษตรอินทรีย์ นอกจากปลูกบ้านอยู่อาศัยแล้วยังขุดบ่อ และแบ่งพื้นที่ประมาณร้อยกว่าตารางวาทำเป็นสวนผัก ส่วนที่เหลือจะปลูกต้นมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ กับมะพร้าวน้ำหอม ใช้แรงงานแค่สองสามีภรรยา แต่ก็ยังมีเวลาเหลืออีก พร้อมที่จะขยายการปลูกไปอีก เนื่องจากจำนวนผักยังไม่เพียงพอสำหรับตลาด

ใช้ถุงขาว

การปลูกผักสลัดในถุง

ดินที่ใช้ปลูกผักสลัดของสวนยายเนียงจะมีสูตรเฉพาะของที่นี่คือ หน้าดินดี ขุยมะพร้าว แกลบใหม่ และมูลสัตว์ในที่นี่คือมูลวัวนม วัสดุปลูกทั้ง 4 นี้ใช้อย่างละเท่าๆ กัน และราดด้วยน้ำชีวภาพ จุลินทรีย์หน่อกล้วยผสมให้เข้ากันเก็บไว้ในโรงปุ๋ยที่มีหลังคาและเอาผ้าใบปิด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ไม่ต้องกลับกอง สามารถนำมาใช้ได้เลย สำหรับภาชนะที่ปลูกของสวนยายเนียง เลือกใช้ถุงพลาสติกสีขาวเป็นภาชนะในการปลูก เนื่องจากถุงสีขาวระบายน้ำได้ดี เพราะทั่วทั้งถุงมีรูพรุนขนาดเล็กที่น้ำสามารถออกได้ทุกส่วน ในขณะที่ถุงดำน้ำสามารถออกได้เฉพาะรูที่เจาะไว้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องโคนเน่าซึ่งพบในภาชนะทึบดำ และการปลูกลงแปลงในช่วงฤดูฝน อีกส่วนหนึ่งจะปลูกบนกระเบื้องลอนคู่ที่ใส่ดินพร้อมปลูกไว้ ถุงขาวที่ใช้ปลูกจะมีขนาด 5 คูณ 11 นิ้ว ราคาจะค่อนข้างแพง กิโลกรัมละ 220 บาท ได้ ประมาณ 61 ถุง สามารถใช้ได้นาน 5-8 ปี เนื่องจากรากของผักสลัดค่อนข้างตื้นจึงต้องพับปากถุงลงมาครึ่งหนึ่ง โรงเรือนที่ใช้ปลูกผักสลัดทางสวนจะใช้ตาข่ายพลาสติกสีเขียวตาถี่ มุงแทนซาแรน เนื่องจากเห็นว่าตาข่ายเขียวรูละเอียดจะทำให้น้ำแตกกระจายเป็นฝอย เมื่อถูกใบจะไม่ทำให้ใบช้ำในช่วงฤดูที่ฝนตกหนัก

ผักหลายชนิด

การเพาะกล้าผักสลัดของสวนจะใช้วิธีหว่านในตะกร้าเล็กๆ ก่อน 7-10 วัน ก็จะย้ายกล้าลงถาดหลุมโดยใช้ไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มลงในเครื่องปลูกงัดต้นมา ซึ่งต้องทำอย่างพิถีพิถันเนื่องจากต้นจะช้ำได้ง่าย เมื่อครบ 25 วัน ต้นจะแข็งแรงเพียงพอที่จะนำมาใส่ถุงปลูก ขนาด 5 นิ้ว ที่เตรียมไว้ ในระยะนี้จะไม่มีการใส่ปุ๋ยทุกชนิด แต่จะใช้น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ในช่วงเย็นตั้งแต่เวลาสี่โมงครึ่งไปแล้ว ส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะฉีดตอนกลางวันที่มีแดดได้

ผักครอสกับกรีนโอ๊ค

ใช้ปุ๋ยยูเรียน้ำทำเอง

นอกจากจุลินทรีย์ที่กล่าวแล้ว ทางสวนยายเนียงจะใช้ปุ๋ยยูเรียน้ำที่ทำขึ้นเองใช้ฉีดผักอีกด้วย การทำปุ๋ยยูเรียน้ำทางสวนยายเนียงแนะนำว่า ใช้สับปะรด 2 กิโลกรัม สับทั้งเปลือก ถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม แช่น้ำไว้ 6 ชั่วโมง แล้วมาปั่นให้ละเอียด น้ำซาวข้าว 10 ลิตร กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง 1 ลิตร เอาทั้งหมดผสมกันหมักทิ้งไว้ในที่ร่มอย่าให้โดนแดด ราว 21 วัน ภาชนะที่ใช้อย่าปิดให้มิดมาก พอให้มีอากาศเข้าไปบ้าง เมื่อผ่านการหมักจะต้องใช้กรองกากออก ใส่ขวดปิดให้มิดชิด อยู่ในที่ร่มเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน อัตราการใช้ คือ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถฉีดพ่นรวมกับจุลินทรีย์ตัวอื่นได้ ใช้เวลาอีกประมาณ 25-30 วัน ผักสลัดที่ปลูกไว้ก็สามารถเก็บขายได้

บัตเตอร์เฮด

การตลาด

การใช้ชื่อ สวนยายเนียง เนื่องจากยายเนียงเป็นแม่ของภรรยาที่เป็นเจ้าของที่ และปัจจุบันยังมีสุขภาพแข็งแรงอยู่ เนื่องจากท่านเป็นคนที่นี่ตั้งแต่เกิด การใช้ชื่อสวนยายเนียง คนในตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง ส่วนใหญ่จะรู้จักกันดี ร้านค้าที่มารับผักสลัดไปขายจะเป็นร้านที่ขายกาแฟ เอาไปทำน้ำผักปั่น และจัดใส่จานสำหรับอาหารเบาๆ ในร้านกาแฟ และแม่ค้าที่เอาไปทำสลัดโรลขาย ส่วนลูกค้าที่นำไปบริโภคเองก็จะเป็นพนักงานออฟฟิศและส่วนราชการต่างๆ ในบริเวณอำเภอบ้านโป่ง ผลผลิตผัก ปัจจุบันสัปดาห์ละประมาณ 30-40 กิโลกรัม ผักสลัดจะตัดในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ แต่ในปัจจุบันวันเสาร์ผักก็ถูกตัดหมดแล้ว ทำให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมสวนในวันอาทิตย์ไม่ค่อยมีผักติดมือกลับไป ทางสวนจึงคิดที่จะขยายแปลงผลิตเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ราคาของผักที่จำหน่ายหน้าสวน อยู่ที่ 80-100 บาท แล้วแต่ฤดู ในฤดูร้อนผักสลัดจะโตช้าจึงมีราคาเนื่องจากต้องเลื่อนวันตัดออกไป ในช่วงหน้าหนาวผักโตเร็ว สวยงาม และในช่วงหน้าฝนการปลูกผักในถุงจะไม่ค่อยมีปัญหาเสียหายเรื่องโคนเน่า เพราะถุงขาวสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าการปลูกในถุงดำและการปลูกลงดิน

พิ่งนำมากล้ามาลงถุง

สวนยายเนียง มีเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ สวนยายเนียงเกษตรอินทรีย์ สามารถสื่อสารกับคนได้ทั่วประเทศ จึงปรากฏมีลูกค้าจากเหนือจรดใต้ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก พังงา หาดใหญ่ กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ แวะเวียนมาหาความรู้กันเป็นประจำ ซึ่งทางสวนได้แนะนำความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักอินทรีย์เพื่อสนับสนุนให้ทุกครอบครัวมีผักที่ปลอดสารพิษกินกันเอง ถ้าสนใจสามารถติดต่อ คุณวีรยุทธ์ คำนิล ได้ที่เบอร์ 086-899-8465

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 13 สิงหาคม 2563