“สวนผักพื้นบ้านและสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” มทร. อีสาน วิทยาเขตสกลนคร

มีว่านเป็นร้อยชนิด

การแพทย์แผนไทย ถือเป็นศาสตร์แบบองค์รวม อันเกิดจากความรู้ ภูมิปัญญาของคนโบราณที่ถูกเรียกว่า “หมอบ้าน” สามารถรักษาและบำบัดครอบคลุมได้ทุกโรคอย่างครบถ้วน โดยวิธีการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วยการใช้สมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกแบบดั้งเดิม การใช้พุทธศาสนา หรือพิธีกรรม เพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต ธรรมชาติบำบัด ซึ่งได้จากการสั่งสม ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเป็นระบบ

“สกลนคร” เป็นจังหวัดทางภาคอีสาน ที่นับว่ามีแหล่งสมุนไพรสำคัญจำนวนมากแห่งหนึ่งของประเทศ แล้วยังเป็นแหล่งชุมนุมของหมอพื้นบ้านเก่าแก่ชื่อดังอีกด้วย ฉะนั้น หลายหน่วยงานของจังหวัดจึงผนึกกำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างกรอบความชัดเจนของสมุนไพรแต่ละชนิด ตลอดจนรวบรวมหมอพื้นบ้าน ตำรับตำรายาโบราณ เข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อเป็นฐานข้อมูลการศึกษาสำหรับอนุชนรุ่นต่อไป

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เป็นอีกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสมุนไพร และผักพื้นบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูศาสตร์เก่าแก่นี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จึงมีการจัดสร้าง “สวนผักพื้นบ้านและสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” ขึ้น ภายในพื้นที่ จำนวน 50 ไร่ บริเวณคณะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ค้นคว้า ศึกษา ความเป็นไปของสายพันธุ์ผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่สำคัญ

อาจารย์ราตรี พระนคร

อาจารย์ราตรี พระนคร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโครงการ สนองพระราชดำริ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร. อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกล่าวถึงความเป็นมาว่า เริ่มจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ รวมถึงภูมิปัญญาด้วย

ดังนั้น การปฏิบัติงานจึงต้องออกไปสำรวจพันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ ในท้องถิ่น หรือแม้แต่การสำรวจทรัพยากรทางภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกันให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงค่อยลงลึกในแต่ละส่วนของการนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

“ตัวอย่างที่เห็นชัดในปี 2537-2538 เมื่อทางคณะได้ริเริ่มนำหมากเม่า ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนประสบความสำเร็จ แล้วต่อยอดให้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มอาชีพสร้างธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่ จากผลสำเร็จของหมากเม่าจึงเป็นแรงผลักดันให้คณาจารย์ขยายผลศึกษา วิจัย พร้อมวางแผนอนุรักษ์พืชสมุนไพรชนิดอื่นในลักษณะเดียวกันต่อไปอีก”

อาจารย์ราตรี ชี้ว่าความจริงแล้วสมุนไพรมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีสรรพคุณและคุณสมบัติเฉพาะ การมองสมุนไพรของคนสมัยใหม่เล็งเห็นถึงขั้นตอนความยุ่งยากในการปฏิบัติ หรืออาจไปติดกับภาพเดิมๆ ในแบบโบราณ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาและอุปสรรคทำให้การเข้าถึงสมุนไพรเป็นไปได้ยาก

“เพราะฉะนั้นการดึงคุณสมบัติเฉพาะของสมุนไพรบางอย่างมาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ของคนรุ่นใหม่จึงมีความจำเป็น เนื่องจากหากทำให้สมุนไพรเป็นเรื่องง่าย ต่อไปผู้คนจะเริ่มหันมาสนใจสมุนไพรเพิ่มขึ้นเองโดยอัตโนมัติ”

จากงานขยายพันธุ์พืชสมุนไพรด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อย่าง “หมาน้อย” ซึ่งในคราวนั้นจุดประสงค์เพียงต้องการศึกษาว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิดจะสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีใด กลับพบว่า น้ำที่ถูกคั้นจากใบเมื่อวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติจะจับตัวแข็งลักษณะคล้ายกับเจลหรือวุ้น

“เมื่อคุณสมบัติเป็นเช่นนี้จึงได้เกิดความคิดต่อยอดด้วยการนำมาดัดแปลงร่วมกับขนม ด้วยการทดลองทำเป็นเจลลี่หมากเม่าผสมกับหมาน้อยเพื่อขยายผลหวังเจาะกลุ่มเด็ก และผู้ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้เป็นเพียงการทดลองผลิตออกมาเพื่อศึกษา แล้วเกิดกระบวนการวิเคราะห์ จึงยังไม่มีเอกสารเผยแพร่อย่างเป็นทางการ”

นอกเหนือจากนั้นแล้ว “ว่าน” ถือเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดที่อาจารย์ราตรีให้ความสำคัญ เนื่องจากพบว่า คุณสมบัติและสรรพคุณของว่านแต่ละชนิดเกิดประโยชน์มากมาย แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีคนเพียงบางกลุ่มที่รู้จักว่านหรือไม่ค่อยมีข่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผลมาจากการรวบรวมสายพันธุ์ว่านต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ดีพอ อาจเป็นเพราะว่านมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันการนำว่านมาวิเคราะห์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาสารสำคัญจะต้องใช้เวลานานกว่าการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรชนิดอื่น

ว่านจักรพรรดิ

อีกทั้งแต่ละชนิดหมอพื้นบ้านยังเรียกต่างกัน เพราะหมอแต่ละท่านจะตั้งชื่อตามอาการที่รักษาโรคชนิดนั้น อย่างว่านริดสีดวง ว่านแก้นิ่ว ว่านแก้ตัวเหลือง ว่านหมากัด ฉะนั้น จึงต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนเสียก่อนแล้วค่อยมาเริ่มต้นงานวิจัย

ภายหลังที่ตื่นตัวเรื่องสมุนไพรขึ้น จึงรวบรวมข้อมูลจากชมรมหมอพื้นบ้านในจังหวัดสกลนครที่นำสมุนไพรมาใช้เป็นประจำ เพราะเป็นโครงการติดตามการใช้ประโยชน์ของว่านจากหมอพื้นบ้าน ขณะนี้ที่รวบรวมได้ถ้าเป็นตัวอย่างได้จำนวนกว่า 200 ตัวอย่าง แล้วถ้าจำแนกออกเป็นกลุ่มได้จำนวนกว่า 70 กลุ่ม

ว่านม้าเหลือง

“ขณะเดียวกันได้มีการนำแนวทางการรักษาของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน กลับมาศึกษา พร้อมวางแนวทางหลักเกณฑ์อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อถอดองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งภูมิปัญญาการรักษา การเลือกใช้สมุนไพรแต่ละชนิดมารักษาโรคแต่ละชนิด แล้วนำมารวบรวมเป็นตำรา เอกสาร ไว้สำหรับอ้างอิงทางวิชาการ แล้วนำไปสอนหรือเผยแพร่ให้แก่นักศึกษาที่เรียนหลักสูตรแพทย์แผนไทย หรือผู้สนใจทั่วไป”

อาจารย์ราตรี แสดงความเห็นส่วนตัวถึงเหตุผลที่คนทั่วไปให้ความสนใจการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ยังน้อยเพราะว่าวิทยาศาสตร์ตามไม่ทัน อาจสืบเนื่องมาจากแหล่งที่มา ชื่อ และสรรพคุณการรักษาสมุนไพรแต่ละชนิด ล้วนเกิดจากการบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงสรรพคุณและประโยชน์ โดยที่ยังไม่ได้นำหลักวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ“ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของว่านแต่ละชนิดยังมีน้อย อีกทั้งความหลากหลายของว่านที่มีอยู่จำนวนหลายร้อยชนิด จึงทำให้ผู้ที่ต้องศึกษาวิจัยคงไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นความละเอียดทั้งในแง่การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย”

ยานางแดง
เบญจรงค์ 5 สี
กระดูกไก่ดำ
เจลลี่หมากเม่า-หมาน้อย

ท้ายนี้ อาจารย์ราตรี กล่าวว่า การศึกษาเรื่องพืชสมุนไพรเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างครบถ้วนแล้วเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงคงต้องอาศัยหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จะให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานแห่งหนึ่งแห่งใดไม่ได้

“ให้ดูตัวอย่างประเทศจีนที่มีการให้การยอมรับสมุนไพรมาใช้ในการรักษาอย่างกว้างขวาง แล้วมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยคงต้องใช้เวลากันอีกยาวนาน แต่ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ คิดว่าคงไม่ใช้เวลานานเกินรอ เพราะขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การแพทย์แผนไทยถูกยกระดับการรักษาทำให้เกิดการตื่นตัวกันบ้างแล้ว”

สอบถามรายละเอียดเรื่องสมุนไพรได้ที่ อาจารย์ราตรี พระนคร โทรศัพท์ (083) 339-7442