สวพส. พัฒนากาแฟโครงการหลวง ส่งเสริมปลูกบนดอยสูง ก่อเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

สวพส. นำองค์ความรู้มูลนิธิโครงการหลวง ศึกษาวิจัยกาแฟอะราบิก้า นำไปส่งเสริมแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง 26 แห่ง ในพื้นที่ความสูงที่แตกต่างกัน นำเสนอผลผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียง รสชาติที่แตกต่าง 5 พื้นที่ ส่งผลให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลดพื้นที่การเผาป่า ลดพื้นที่การเกิดหมอกควันในระดับหนึ่ง

กาแฟดอยช้าง

คุณวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้รายละเอียดว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือชื่อย่อว่า สวพส. จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนงานของโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวง ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทย ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยและส่งเสริมกาแฟ เป็นพืชหนึ่งที่มีความเหมาะสมในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกบนพื้นที่สูง ได้ดำเนินงานทั้งหมด 26 แห่ง เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 17 แห่ง และพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน 9 แห่ง

กาแฟดอยแม่สลอง

พื้นที่ดำเนินงาน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก มีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 2,423 ราย พื้นที่ส่งเสริมปลูกกาแฟ 7,976 ไร่ ได้ผลผลิตกาแฟกะลาประมาณ 260 ตัน ต่อปี เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตกาแฟผ่านมูลนิธิโครงการหลวงและตลาดอื่นๆ ในปี 2559/60 ประมาณ 30 ล้านบาท

กาแฟดอยลาง

กาแฟอะราบิก้า ได้นำมาศึกษาวิจัยและพัฒนาให้มีผลผลิตและคุณภาพดีเยี่ยม มีงานวิจัย เช่น สายพันธุ์ที่เหมาะสม การตัดแต่งเพื่อเพิ่มผลผลิตกาแฟ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาไม้ การประเมินและเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูกาแฟบนที่สูง รวมถึงการศึกษาสายพันธุ์กาแฟอะราบิก้าที่มีคุณภาพของโครงการหลวง หลังจากการศึกษาวิจัยแล้ว ในด้านการพัฒนาและส่งเสริม ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิก้าจากโครงการหลวงไปขยายผลและถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง มีการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การพัฒนาแปลงสาธิต แปลงตัวอย่างกาแฟอะราบิก้า การทำสื่อการเรียนรู้ การเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างกลุ่มเกษตรกร การพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟอะราบิก้า

กาแฟปางมะโอ

ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในอดีตนั้นเกษตรกรมีการแผ้วถางป่าและเผาเศษวัชพืชเพื่อทำการเกษตร ทำให้เกิดหมอกควันที่เป็นมลพิษ มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้มีรายได้น้อย เนื่องจากการขาดความรู้ในการปลูกพืชบนที่สูง หลายหน่วยงานได้เข้าไปส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะกาแฟอะราบิก้า เป็นพืชหนึ่งที่เหมาะสมในการปลูกบนพื้นที่สูง เพราะกาแฟจะเจริญเติบโตได้ดีและมีคุณภาพจะต้องปลูกบนพื้นที่สูงตั้งแต่ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป อีกทั้งเจริญเติบโตภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ ปัจจุบันนี้เกษตรกรบนพื้นที่สูง ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ผลิตกาแฟ มีจิตสำนึกต่อการรักษาป่าไม้ ทำแนวป้องกันไฟป่า ฯลฯ ด้วยเหตุผลเพราะว่าภายใต้พื้นป่านั้น อุดมไปด้วยต้นกาแฟอะราบิก้า ซึ่งเป็นพืชที่ทำรายได้ของเขาเอง จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่า เขาจะช่วยกันอนุรักษ์และรักษาป่าที่เป็นที่ทำมาหากินของตนเอง

กาแฟห้วยโทน

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้จัดกิจกรรม “ตามรอยศาสตร์พระราชา ชิมกาแฟ แลดูสวน” เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและผลการดำเนินงานของสถาบันให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จของเกษตรกรบนพื้นที่สูง การบูรณาการระหว่างสถาบันและหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมมือกันทำงานบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะกาแฟอะราบิก้า เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้อย่างยั่งยืน เป็นการลดความเสี่ยงจากมลพิษหมอกควัน ขณะเดียวกัน ได้เปิดบริการร้านกาแฟภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เพื่อบริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมภายในสวน พร้อมนี้ได้นำเสนอ ผลผลิตกาแฟที่สถาบันได้ทำการส่งเสริมในพื้นที่ จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี (กาแฟดอยช้าง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ (กาแฟห้วยโทน) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยลาง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยแม่สลอง) โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ (กาแฟดอยปางมะโอ)

คุณวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการ สวพส.

ในการนำเสนอผลงานการปลูกและแปรรูปผลผลิตกาแฟครั้งนี้ มีผลผลิตกาแฟอะราบิก้านำเสนอ ได้แก่

กาแฟดอยช้าง มีฐานการผลิตและพื้นที่เพาะปลูกที่หมู่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย กาแฟดอยช้าง เกิดจากแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูง หันมาปลูกพืชเมืองหนาว และแจกจ่ายพันธุ์อะราบิก้าให้ชาวเขาทดลองปลูก เมื่อปี 2526 โดยมี คุณพิกอ แซ่ดู หรือ คุณพิกอ พิสัยเลิศ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น เป็นผู้ปลูกกาแฟเพียงรายเดียวมาโดยตลอด บางครั้งเกิดความท้อใจว่า กาแฟเป็นพืชไม่ทำให้เกิดรายได้ จึงได้ปรึกษาเพื่อสนิทชื่อว่า คุณวิชา หรหมยงค์ ในการนำเมล็ดกาแฟมาคั่วบดเพื่อขายปลีก

ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย สวพส.

จากนั้นในปี 2533 นายวิชาได้เริ่มก่อตั้งเป็นบริษัท จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “กาแฟดอยช้าง” คุณวิชาเป็นเหมือนกับพี่เลี้ยงชุมชนดอยช้าง และเป็นผู้ผลักดันให้กาแฟดอยช้างเป็นที่รู้จักทั่วโลก เมื่อคุณวิชาเสียชีวิตในปี 2557 คุณปณชัย พิสัยเลิศ ลูกชาย คุณพิกอ และ คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท รับช่วงการบริหารงานต่อมา พร้อมเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้า การบรรจุภัณฑ์กาแฟคั่วบดให้มีความทันสมัย ผนวกกับการประชาสัมพันธ์ ต่อมากาแฟดอยช้างเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรปและประเทศไทย

ทีมงานอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เปิดตัว กาแฟโครงการหลวง

กาแฟบ่อเกลือ (ห้วยโทน) บ้านห้วยโทน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า สะโทน หมายถึงหมู่บ้านที่อยู่แบบโดดๆ ตั้งอยู่บนไหล่เขา ติดแนวชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคาและผาแดง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ มีผลผลิตกาแฟกะลาปีละ 6 ตัน กาแฟบ้านห้วยโทน ได้เคยถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินติดตามงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561

ร้านกาแฟ ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์

กาแฟดอยลาง ดอยลางเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อยู่ทางเหนือของดอยผ้าห่มปก สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนตามแนวชายแดนไทย-พม่า  มีแม่น้ำลางที่ไหลมาจากพม่า ช่วยความชุ่มชื้น ความสมบูรณ์ให้กับภูมิประเทศของดอยลาง ในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 200 ไร่ โดยปลูกร่วมกับต้นชาและไม้ผลอื่นๆ ได้รับผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ผลกาแฟเชอร์รี่จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ผ่านการแปรรูปแบบเปียก โดยจะปอกเปลือกภายใน 12 ชั่วโมง แล้วนำไปตากให้แห้งสนิท เพื่อให้ได้กาแฟกะลาที่มีคุณภาพสูง

กาแฟดอยแม่สลอง เริ่มต้นจากการปลูกกาแฟบ้านพนาสวรรค์ เกษตรกรได้รับพันธุ์กาแฟอะราบิก้าจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรได้ปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจในหมู่บ้านพนาสวรรค์ พื้นที่ปลูกกาแฟสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตรขึ้นไป ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ผลผลิตสูง รสชาติหอม กลมกล่อม ที่สำคัญคือมีความต้านทานโรคสนิม ทรงพุ่มใหญ่ ต้นเตี้ย ใบใหญ่สีเขียวเข้ม ข้อถี่ทำให้ได้ผลผลิตมาก ดอกมีกลิ่นหอม เป็นพืชหนึ่งที่โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนฝิ่น

กาแฟดอยปางมะโอ ปางมะโอ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวท่ามกลางธรรมชาติ ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาและป่าไม้ที่สมบูรณ์ ชุมชนบ้านปางมะโอ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เกษตรกรจะปลูกต้นชาควบคู่กับกาแฟ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีการปลูกพืชเมืองหนาวหลายชนิด เช่น พืช อะโวกาโด สตรอเบอรี่ องุ่น และพืชสมุนไพร ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้เมืองเชียงใหม่

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เลขที่ 65 หมู่ที่ 1 ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ (053) 328-496-8